เครือข่ายประชาสังคมเสนอรัฐใช้วิกฤตใบเหลืองอียูเพื่อฟื้นฟูทะเลไทยอย่างยั่งยืนโดยยกเลิกเครื่องมือประมงที่ทำลายล้างและหยุดนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน

จันทร์ ๑๘ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๐๙:๓๗
เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานปกป้องทะเลไทย (1) ตั้งข้อสังเกตและเสนอทางออกกรณีคณะกรรมธิการยุโรป (EU) ขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้าข่ายไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม(IUU Fishing) โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมระบุว่า การออกมาตรการแก้ไขของรัฐบาลนั้นเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่ตอบสนองผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลขนาดใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว และมิได้รับประกันว่าจะนำไปสู่การปลดใบเหลืองอียูได้อย่างถาวร ที่สำคัญ มาตราการเหล่านั้นได้ละเลยมิติของความยั่งยืนในการฟื้นฟูทะเลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมงเกินขนาด การใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง และการจัดการและเข้าถึงทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลอย่างเป็นธรรม

ในวันที่ 21 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป(EU) แจ้งเตือนต่อรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ (2) กรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินตามมาตรการในแผนปฏิบัติการ

กรมประมงได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และขาดการควบคุม (IUU) โดยตั้งทีมเฉพาะกิจควบคุมเรือประมงที่ออกจากท่าในพื้นที่ 22 จังหวัด และออกมาตรการ 6 ข้อในการจัดการปัญหาประมงไทยได้แก่ 1. การเร่งขึ้นทะเบียนเรือประมง และออกใบอนุญาตทำการประมง 2.การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง 3.การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) 4.การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ 5.ปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง และ 6. จัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันสินค้าไอยูยู

ดร. สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดินได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวว่า "ด้วยเจตนารมณ์ของมาตรการการต่อต้าน IUU Fishing (combat IUU Fishing) และการที่ประเทศไทยได้ใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในกรณีนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการประมงของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทั้งในเรื่องการทำประมงผิดกฏหมาย การทำลายระบบนิเวศทางทะเล และความไม่โปร่งใสของแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์น้ำ เป็นต้น ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบควรใช้โอกาสนี้ในการสะสางปัญหาประมงไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานและนับวันจะรุนแรงมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการแก้ปัญหาและให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ เพื่อนำไปสู่ความอย่างยั่งยืนของระบบนิเวศและวิถีประมงไทยที่เปิดโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่แค่การตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหาเพื่อการปลดล๊อคใบเหลืองเท่านั้น"

เครือข่ายภาคประชาสังคมยังได้แสดงข้อกังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีขึ้น เนื่องจากมาตรการแก้ไขของหน่วยงานรัฐบาลยังคงมองข้ามการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทย

“ประสบการณ์การทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งร่วมกับพี่น้องชุมชนประมงชายฝั่งมา 30 กว่าปี ผมพบว่าทะเลไทยเป็นแหล่งอาหารโปรตีนในธรรมชาติที่สำคัญสำหรับสังคมไทย ทั้งยังเป็นอาชีพและแหล่งรายได้ของผู้คนจำนวนมาก การเร่งการจดทะเบียนเรือหรือนิรโทษกรรมเรือประมงทำลายล้างเป็นการทำร้ายและทำลายทะเลไทย และเป็นการการทำลายวิถีชุมชน ทำลายอาชีพและความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมชาติอย่างเลือดเย็นที่สุด ทางออกต่อเรื่องนี้คือต้องลดจำนวนเรืออวนลากลงครึ่งหนึ่งตามที่กรมประมงทำวิจัยร่วมกับ FAO และเสนอรัฐบาลไว้เมื่อปี2547(3)” นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าว

“เราควรดูแบบอย่างจากประเทศที่รอดพ้นจากใบเหลืองกรณีการประมงผิดกฎหมาย เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ได้ปรับปรุงและพัฒนาการจัดการด้านการประมงโดยยึดหลักการทำงานร่วมกันระหว่างประชาสังคมและภาครัฐ กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภายใต้แนวคิดการจัดการอย่างมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้านเท่ากับตัวเลขการส่งออกของประมงพาณิชย์ การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องทำทั้งระบบไม่ใช่เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง” อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานปกป้องทะเลไทยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

1) ยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างรวมถึงอวนลาก อวนรุน ซึ่งทำลายแหล่งปลาและระบบนิเวศของทะเลไทย

2) ยุติการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถือนที่ล้างผลาญทะเลไทยและลดจำนวนเรืออวนลากลงครึ่งหนึ่งตามที่กรมประมงทำวิจัยร่วมกับ FAO และเสนอรัฐบาลไว้เมื่อปี 2547

3) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายประมงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ และยกระดับธรรมาภิบาลด้านการประมงเพื่อต่อกรกับการทำประมงเกินขนาดที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทะเลและมหาสมุทร

4) ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจังกับระบบการควบคุม ติดตามตรวจสอบรวมถึงมีการประสานงานเชิงนโยบายและการจัดการประมงในระดับภูมิภาคอย่างจริงจังเพื่อที่จะอุดช่องโหว่ของการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น การขนถ่ายสินค้าจากการประมงนอกน่านน้ำกลางมหาสมุทร เป็นต้น

หมายเหตุ

(1) เครือข่ายภาคประชาสังคมประกอบด้วย 1. สมาคมรักษ์ทะเลไทย 2. มูลนิธิสายใยแผ่นดิน 3. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 4. องค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย 5.กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(2) http://europa.eu/rapid/press-release_IP-15-4806_en.htm

(3) http://www.rebyc-cti.org/downloads/doc_download/183-strengthening-the-capacity-in-fisheries-information-gathering-for-management-analysis-of-employment-opportunities-and-mobility-in-supporting-fishing-capacity-reduction

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลง ร่วมปกป้องและฟื้นฟูทะเลไทยได้ที่ www.greenpeace.or.th/s/call-for-Ocean-protection

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ