“มิวเซียมสยาม” จับมือ “กูรู” เปิด Spa เครื่องหนังรับสงกรานต์ เปลี่ยน “เครื่องหนังเก่า-เปียกน้ำ” ให้ไฉไล ด้วย “เทคนิคงานอนุรักษ์”

อังคาร ๒๖ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๖:๐๐
เทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2558 นี้ มีหลายคนที่ไม่อยากออกไปไหน โดยผู้ที่อยู่กับบ้าน มักหยิบยกเหตุผลส่วนตัวว่า “กลัวเปียก” ซึ่งร่างกายเปียกนั้นเรื่องเล็ก แต่หากสิ่งของเครื่องใช้สุดหวงโดยเฉพาะเครื่องหนัง อย่าง กระเป๋า เข็มขัด และรองเท้า ต้องพลอยเปียกน้ำไปด้วยนั้นเป็นเรื่องใหญ่

“มิวเซียมสยาม” รับรู้และเข้าใจถึงปัญหานี้ จึงได้จัด workshop “Spa เครื่องหนังสุดรัก” ขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้วิธีการดูแลรักษาเครื่องหนัง โดยเฉพาะเครื่องหนังสุดรักที่ผ่านการเล่นน้ำมาอย่างไม่ได้ตั้งใจให้กลับมาเหมือนใหม่และคงความสวยงามอยู่เสมอ โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์กมล บุรกสิกร กูรูนักออกแบบและผลิตเครื่องหนังมานานกว่า 30 ปี ภายใต้ชื่อ VAYO LEATHER ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ NDMI ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล มิวเซียมสยาม เปิดเผยว่า กิจกรรม workshop “Spa เครื่องหนังสุดรัก” เป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปีของมิวเซียมสยาม เป็นการสร้าง Museum Culture ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยการจัดกิจกรรมหรือนิทรรศการที่มีเนื้อหาและเรื่องราวให้มีความสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของผู้ชมเป็นสำคัญ

“การ Spa เครื่องหนังเป็นการถอดองค์ความรู้จากการเก็บรักษาโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์มาเชื่อมร้อยกับเรื่องราวใกล้ตัวที่อยู่ในความสนใจอย่าง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์นั้นสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้ ในการแสวงหาความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และสามารถนำองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์หรือการเก็บรักษาของโบราณในพิพิธภัณฑ์ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ทุกยุคสมัย” ผอ.ราเมศกล่าว

อาจารย์กมล บุรกสิกร ศิลปินผู้ออกแบบและผลิตเครื่องหนัง ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการเครื่องหนังมานานกว่า 30 ปี อธิบายว่า ประเทศไทยเริ่มมีการใช้เครื่องหนังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ถูกใช้เฉพาะในวัง ผู้ที่อยู่ในสังคมชั้นสูง และเหล่าข้าราชบริพาร เพราะหายากและมีราคาแพง ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยคนทั่วไปเริ่มใช้เครื่องหนังแพร่หลายมากขึ้นหลังจากปีพ.ศ.2516 เป็นต้นมา

“การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์สะท้อนฐานะทางเศรษฐกิจและรสนิยมของผู้ใช้อย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากวัตถุดิบหายาก ขั้นตอนการผลิตยุ่งยากซับซ้อน และต้องใช้ความปราณีตผสานความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิต เครื่องหนังจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางความรู้สึกและมีความเชื่อมโยงกับตัวตนของผู้ใช้ การดูแลรักษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้เครื่องหนังต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาเครื่องหนังให้มีอายุการใช้งานยาวนานและคงความสวยงามอยู่เสมอ” อาจารย์กมลอธิบาย

กูรูเครื่องหนังอธิบายอีกว่า หนังที่นิยมทำเป็นเครื่องใช้ อาทิ กระเป๋า เข็มขัด และรองเท้า แบ่งออกเป็น 5 ประเภทตามลักษณะการฟอก ได้แก่ หนังฟอกฝาดย้อมสี, หนังชามัวร์, หนังออยล์, หนังนูบัค และหนังกลับ โดยธรรมชาติของหนังไม่ได้กลัวน้ำ แต่เมื่อเปียกน้ำแล้วต้องทำให้แห้งเร็วที่สุด

วิธีการดูแลเครื่องหนังที่เปียกน้ำ หากเป็น “กระเป๋า” ให้นำของออกจากกระเป๋าให้หมด ใช้กระดาษทิชชู่หรือผ้าสะอาดซับให้แห้ง หากมีรอยเปื้อนให้ใช้ผ้าชื้นปัดออกก่อน แล้วจึงใช้ไดร์เป่าหรือตากแดดสักครู่แล้วผึ่งในที่ร่ม เพราะการตากแดดจัดนานๆ จะทำให้หนังหดตัวอย่างรวดเร็วจนหนังแตกเสียหายและเสียรูปทรง เมื่อแห้งแล้วให้นำกระดาษหนังสือพิมพ์ใส่ถุงพลาสติก แล้วใส่ในกระเป๋าเพื่อรักษารูปทรงเดิม ส่วน “รองเท้า” ก็สามารถใช้วิธีการเดียวกันกับกระเป๋าได้ สำหรับ “เข็มขัด” ให้ปัดสิ่งสกปรกออกให้หมด นำไปขึงเป็นเส้นตรง ผึ่งในที่ร่ม เมื่อแห้งแล้วเข็มขัดจะกลับมาตรงสวยเหมือนใหม่

แต่เครื่องหนังที่สัมผัสน้ำทะเล ก่อนอื่นต้องนำไปล้างน้ำสะอาดเพื่อขจัดเกลือออกให้หมด แล้วทำให้แห้งตามขั้นตอนเหมือนเครื่องหนังอื่นๆ ส่วนเครื่องหนังที่เลอะแป้งควรล้างด้วยน้ำสะอาด ใช้มือถูเบาๆ ให้แป้งหลุดออก หากใช้วัสดุขัดอาจทำให้หนังถลอกได้

“เครื่องหนังเป็นสิ่งที่มีมูลค่าและคุณค่า การทำความสะอาดและบำรุงรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ น้ำไม่ใช่สิ่งอันตรายสำหรับเครื่องหนัง แต่ความไม่ใส่ใจต่างหากที่ทำให้เครื่องหนังเสื่อมสภาพ หากมีการใส่ใจดูแลตั้งแต่เริ่มใช้ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานกว่า 20 ปี โดยอุปกรณ์ที่คนรักหนังควรมีติดบ้านประกอบด้วย แปรงปัดทำความสะอาด ขี้ผึ้งกีวีสีขาว และฟิล์มเคลือบเงา เพียงแค่ 3 อย่างนี้ก็สามารถทำสปาให้เครื่องหนังสุดรักได้ด้วยตนเอง อีกทั้งเครื่องหนังบางชิ้น เช่น กระเป๋าเงิน เป็นมรดกตกทอดมาจากพ่อและแม่ ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราวของผู้ให้ การทำสปาจึงเป็นวิธีการอนุรักษ์เครื่องหนังให้คงสภาพเดิม เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงความทรงจำเก่าๆ เช่นเดียวกันกับงานอนุรักษ์ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยได้สืบค้นรากเหง้าของตนเองจากร่องรอยที่เหลืออยู่” อาจารย์กมลกล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๙ PROS จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2567 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวอนุมัติทุกวาระ
๐๙:๔๙ ซีพี - ซีพีเอฟ สนับสนุนโครงการ สานใจไทย สู่ใจใต้ รุ่นที่ 42 ส่งเสริมเยาวชนรุ่นใหม่ ตอบแทนคุณแผ่นดิน
๐๙:๑๓ นักวิชาการ TEI แนะมุมมองการสร้าง Urban Climate Resilience ต้องเร่งปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
๐๙:๓๙ TEI เปิดวงเสวนา บทเรียนและทางออกการจัดการกากแคดเมียม ? พร้อมเร่งแก้ปัญหา โจทย์ใหญ่กากแคดเมียม จัดการอย่างไรให้ปลอดภัยและถูกต้อง
๐๙:๒๔ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาสในโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี ณ
๐๙:๑๑ เขตปทุมวันกำชับเจ้าของพื้นที่ตั้งวางสิ่งของ-อุปกรณ์การค้าริมกำแพงส่วนบุคคลให้เรียบร้อย
๐๙:๓๔ ม.หอการค้าไทย ปฐมนิเทศสำหรับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านนวัตกรรมการบริการ รุ่นที่ 5 (Top Executive Program for Creative Amazing Thai Services :
๐๙:๐๒ เฮงลิสซิ่ง รับรางวัล หน่วยงานส่งเสริมสุขภาพการเงินพนักงาน ระดับดีเด่น โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
๐๙:๔๕ มูลนิธิเฮอริเทจ (ประเทศไทย) ส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดสมุทรสาคร
๐๙:๔๔ พาราไดซ์ พาร์ค ต้อนรับ The Little Gym เปิดสาขาที่ 3