งานสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 “นวัตกรรมการคลังการเงินเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”

พฤหัส ๒๗ สิงหาคม ๒๐๑๕ ๐๙:๐๖
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 ในหัวข้อ “นวัตกรรมการคลังการเงินเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2558 ณ ห้องแอทธินี คริสตัล ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ ว่า การสัมมนาวิชาการของ สศค. ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 700 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับในนโยบายและผลงานวิชาการด้านเศรษฐกิจ การคลัง และการเงิน ให้แก่ประชาชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเป็นเวทีให้ข้าราชการ สศค. ได้นำเสนอผลงานและแนวคิดทางวิชาการในเรื่องที่สำคัญและอยู่ในความสนใจของสังคม พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และประชาชน อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาไปสู่ข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อไป โดย สศค. ได้รับเกียรติจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการคลังการเงินกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ซึ่งได้กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวดีกว่าปีก่อนหน้า แต่อาจไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าที่ต้องพึ่งพาตัวเอง ประกอบกับภัยธรรมชาติ และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ภาคเอกชนลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงาน ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้น้อยลง รัฐบาลจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น

1. เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในโครงการลงทุนขนาดเล็ก

2. เติมเงินให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านการปล่อยเงินกู้ของกองทุนหมู่บ้าน

เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลจะให้สิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีศักยภาพ และวางรากฐานทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศให้เข้มแข็ง ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายต่อจากนี้ไปจะเป็นในลักษณะรวดเร็ว ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้า

ในช่วงเช้าของการสัมมนาฯ เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการ 2 เรื่อง เรื่องแรก ได้แก่ “ย้อนมองรายได้รัฐบาล สร้างอนาคตด้วยนวัตกรรมการจัดเก็บรายได้” สรุปได้ ดังนี้

ดร. สิริกมล อุดมผล นำเสนอผลการศึกษาว่า ในช่วง 57 ปีที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลพึ่งพารายได้ภาษีเป็นแหล่งรายได้หลัก โดยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้รัฐบาลมาจากภาษี และพบว่าในช่วงดังกล่าวรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่า สัดส่วนรายได้รัฐบาลต่อ GDP ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 62 จาก 127 กลุ่มประเทศตัวอย่าง โดยสัดส่วนรายได้รัฐบาลต่อ GDP ในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 17.3 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของ 127 ประเทศที่ร้อยละ 17.9 อีกทั้งพบว่า โครงสร้างรายได้รัฐบาลของไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ เพื่อการหารายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายของภาครัฐ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศ การปรับปรุงเฉพาะประเภทภาษีและอัตราภาษีเพียงมิติเดียว จึงอาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องพัฒนาการบริหารจัดเก็บภาษีด้วย

ดร. ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย นำเสนอว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภาษีของประเทศไทย ควรมีการพิจารณาและติดตามต้นทุนที่ผู้เสียภาษีต้องจ่ายไปเพื่อให้การดำเนินการทางภาษีและชำระภาษีเป็นไปอย่างถูกต้อง (Tax Compliance Costs) ควบคู่ไปกับต้นทุนการบริหารงานภาษี (Tax Administrative Costs) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเรียนรู้และนำหลักปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารงานจัดเก็บภาษีให้มีความทันสมัย และเน้นการบริการที่ดีต่อผู้เสียภาษี นอกจากนี้ การศึกษาได้มีการนำเสนอทางเลือกในการปฏิรูประบบการบริหารจัดเก็บภาษี ที่เรียกว่า หน่วยงานจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ หรือ SARA (Semi-autonomous Revenue Agency) เพื่อให้โครงสร้างหน่วยงานบริหารจัดเก็บภาษีโครงสร้างมีความยืดหยุ่น และสามารถนำไปสู่การลดต้นทุนการบริหารงานภาษี การบริการผู้เสียภาษีที่ดีขึ้น การขยายฐานภาษีและการจัดเก็บรายได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและดูแลสวัสดิการของประชาชนไทยอย่างจริงจังและยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า ข้อเสนอการจัดตั้งหน่วยงาน SARA มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาข้อดีข้อเสียในรายละเอียดต่อไปเพื่อประกอบการกำหนดนโยบายในอนาคต รวมทั้ง ควรมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อลดความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลัง และรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุควบคู่กันไปด้วย

สำหรับการนำเสนอผลงานเรื่องที่สอง ได้แก่ “นวัตกรรมในการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน : แผนที่การเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานราก (Microfinance Inclusion Map : MIM)” ได้มีการนำเสนอ และให้ความเห็น ดังนี้

นายปณิธาน สุขสำราญ ได้นำเสนอว่า คณะผู้วิจัยได้พัฒนาแผนที่การเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานราก (Microfinance Inclusion Map : MIM) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ระบบการเงินภาคประชาชนอย่างครบถ้วน ทั้งด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน และด้านอื่น ๆ และสามารถวิเคราะห์ปัญหาเป็นรายพื้นที่ได้

นายโชติวัฒน์ อัมรินทร์ เสนอว่า คณะผู้วิจัยได้พัฒนาดัชนีการเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานราก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ MIM เพื่อวัดระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนระดับฐานรากผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าถึงบริการทางการเงินในเบื้องต้น ความสะดวกในการใช้บริการ และปริมาณการใช้บริการของแต่ละพื้นที่

นางสาวบุปผาชาต อัศวพิทักษ์คีรี นำเสนอว่า นอกจากระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานรากที่ใช้บริการผ่าน SFIs แล้ว MIM ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับข้อมูลทางการเงินฐานรากอื่น ๆ เช่น การประเมินคุณภาพองค์กรการเงินชุมชน ระดับความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์และการแก้ไขปัญหาระบบการเงินฐานรากในแต่ละพื้นที่มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่

นายปณิธาน สุขสำราญ สรุปว่า MIM ถือเป็นนวัตกรรม ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์และกำหนดนโยบายแบบ “Tailor Made” เป็นรายพื้นที่ ให้เป็นไปแบบ “ถูกที่ ถูกตัว” ได้แก่ “ถูกที่” หรือ Selective Target จะช่วยกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่มีความเร่งด่วนของปัญหา และช่วยวิเคราะห์ปัญหาหลาย ๆ มิติ ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ได้อย่างบูรณาการ จึงแก้ปัญหาได้ “ถูกตัว” และตรงตามประเด็นปัญหา

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค ให้ความเห็นว่า งานวิจัยนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยในการจัดการ และวิเคราะห์การเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานรากให้มีความครบถ้วน และได้เสนอให้ทดลองใช้แผนที่ MIM ในระดับตำบล และสนับสนุนให้ใช้ระบบ IT กับองค์กรการเงินชุมชนเพื่อให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่ดี รวมถึงการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยเน้นวินัยการใช้เงินและการออมเพื่อลดปัญหาหนี้สินครัวเรือน

นายกิตติพงศ์ บุญยิ่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้ความเห็นว่า แผนที่ MIM จะเป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกันระหว่าง SFIs และกระทรวงการคลัง ในการดำเนินนโยบายและติดตามผลของนโยบาย โดยแนะนำว่าควรส่งเสริมให้ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินระดับฐานรากให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สศค. จะนำผลงานวิจัย ข้อเสนอแนะ และข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ไปใช้ในการพัฒนางานและประกอบการออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา