มาตรา183 กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง
ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป Monday September 7, 2015 16:06ตามที่สภาปฏิรูป แห่งชาติ (สปช.) กำลังจะลงมติตัดสินว่าจะเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) มีข้อสังเกตและไม่เห็นด้วยต่อมาตรา 183 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ดังนี้
1. มาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญนี้คือการเปลี่ยนแปลงจากบทบัญญัติในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจา สร้างความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และเป็นกลไกสร้างระบบการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้ผลจากการทำหนังสือสัญญาเกิดประโยชน์โดยรวมมากที่สุดต่อประเทศชาติ และเสริมประสิทธิภาพการเจรจาไปด้วย เช่น คณะเจรจายังสามารถใช้ "กรอบเจรจา"ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้อีกด้วย บทบัญญัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่อารยประเทศต่างๆ ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
2. สาระสำคัญของมาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญที่ต่างไปจากมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 คือ
2.1 การขยายนิยามตามวรรคสอง หมายถึงหนังสือสัญญาเกี่ยวกับ การเปิดเขตการค้าเสรีหรือเปิดเสรีการลงทุนภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกหรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ หรือที่เกี่ยวกับการใช้หรือแบ่งสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินทางปัญญา หรือการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
2.2 ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับทำหนังสือสัญญานั้น แต่แทนที่จะเป็นการชี้แจงกรอบการเจรจาและขอรับความเห็นชอบต่อรัฐสภา ในร่างรัฐธรรมนูญกลับระบุให้เสนอและขอความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาเท่านั้น
2.3 มาตรา 183 ตามร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย แต่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าวเท่านั้น และยังกำหนดเงื่อนเวลาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบผูกพันตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน
2.4 ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรมนั้น มาตรา 183 ตามร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดคำสำคัญที่เคยมีอยู่ในมาตรา 190 เมื่อปี 2550 ไป คือ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อประชาชนดังที่ปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญ
3. ข้อสังเกตบางประการต่อมาตรา 183 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)
3.1 การขยายนิยามวรรคสอง แม้ดูเหมือนจะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นจุดที่น่าห่วงที่สุด เพราะการขยายความวรรคสองที่ไปผูกหนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจไว้กับกรอบองค์การการค้าโลก ทำให้หนังสือสัญญาระหว่างประเทศสำคัญๆหลายประเภทหลุดรอดจากการพิจารณาของรัฐสภาไป เช่น สัญญาเงินกู้จากองค์การการเงินระหว่างประเทศ อาทิ IMF, ADB, JIGA รวมทั้งสัญญาเงินกู้กับจีน ที่มักกำหนดเงื่อนไขให้ประเทศต้องปฏิบัติตาม และบางหนังสือสัญญาที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในความตกลงพหุภาคีขององค์การการค้าโลกที่มาตรานี้ใช้อ้างอิงอีกแล้ว แต่มีอยู่ในความตกลงทวิภาคี และภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลไม่ต่างหรือร้ายแรงกว่าเอฟทีเอ นี่เป็นความพยายามของหน่วยราชการที่ผลักดันผ่านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอดที่พยายามกันหนังสือสัญญาเงินกู้ออกและความตกลงด้านการลงทุนต่างๆจากการรับรู้ของสาธารณชน ทั้งนี้ ยังพบว่า นิยามวรรคสองในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ส่งมอบให้สปช.นั้น ชัดเจนว่า ล้าหลังกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมธิการยกร่างฯเผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นการเอาขอบเขตขององค์การการค้าโลก (WTO) ไปครอบเอาไว้ทั้งที่แทบจะไม่มีความตกลงใดๆเกิดขึ้นจากองค์กรนี้ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา
3.2 การลดระดับการผ่านความเห็นชอบกรอบเจรจาจากรัฐสภาทั้งคณะ เหลือเพียงแค่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาที่แม้จะระบุให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้เป็นสมาชิกรัฐสภารวมอยู่ด้วยนั้น ถือเป็นการถอยหลังในเชิงสาระสำคัญที่สุด เพราะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้น เมื่อทำแล้วจะมีผลผูกพันยาวนานมากกว่าชั่วอายุคน กรอบเจรจาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความรอบคอบในการเจรจาเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดและเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรแค่ผ่านคณะกรรมาธิการต่างประเทศของรัฐสภาเท่านั้น แต่ยังจำเป็นที่จะต้องผ่านรัฐสภาด้วย
3.3 การกำหนดให้คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย ยังไม่สามารถรับประกันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่หลากหลายได้ ซึ่งในที่สุดอาจจะมีแค่ภาคเอกชน 3 สมาคมดังที่เคยเป็นมาก็ได้
3.4 ประเด็นเงื่อนเวลาที่ระบุให้พิจารณากรอบการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าวเท่านั้นเป็นการกำหนดที่เร่งรัดอย่างมาก สุดท้ายคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภานี้ก็จะไม่ได้ต่างอะไรกับตรายาง เช่นเดียวกับที่กำหนดเงื่อนเวลาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบผูกพันตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน ทั้งที่ในหลายประเทศให้เวลาพิจารณาในขั้นตอนนี้ถึง 6 เดือน
3.5 การเยียวยาแก้ไขผลกระทบเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันว่าการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศโดยมากจะมีผู้ได้รับประโยชน์กระจุกตัว ขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีความกระจายตัวอย่างมาก และบ่อยครั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งพึงได้รับความใส่ใจจากผู้กำหนดนโยบายเป็นพิเศษ แต่มาตรา 183 ตามร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดคำสำคัญที่เคยมีอยู่ในมาตรา 190 เมื่อปี 2550 ออกไป ซึ่งในที่สุดอาจทำให้การเยียวยาแก้ไขผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ถูกละเลยในที่สุด
3.6 และน่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าจะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ไม่สามารถทำให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง ทั้งที่เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญมากและเป็นกลไกสำคัญ
นับตั้งแต่ปี 2550 มีความพยายามแก้ไขมาตรา 190 หลายครั้ง เพื่อทำลายธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม สาระตามมาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นหลักในการร่างกฎหมายประกอบนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) วิเคราะห์แล้วว่า ไม่อาจสร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งในระบอบการเมืองประชาธิปไตย แต่อาจเป็นการจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชน ผู้เดือดร้อนต้องใช้ท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง
หากสาระเช่นนี้ผ่านไปก็เท่ากับว่า สิ่งที่นัก(การเมืองด้อยคุณภาพ) กลุ่มทุนครอบชาติ และฝ่ายข้าราชการประจำล้าหลัง ที่เคยพยายามทำลายธรรมาภิบาลในการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศแต่ไม่เคยทำไม่สำเร็จ รัฐประหารได้มาช่วยทำให้สำเร็จแล้ว
Latest Press Release
บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด ผู้พัฒนาร้านสะดวกซื้อระดับพรีเมี่ยมจากญี่ปุ่น "ลอว์สัน108" ชวนมาอร่อยกับสินค้าใหม่ที่ได้รับความนิยมมากๆ "มาม่า OK รสผัดไข่เค็ม" ก่อนใคร ที่ร้านลอว์สัน108 มาม่า OK (Oriental Kitchen) ได้ออกรสชาติใหม่ "มาม่าผัดไข่เค็ม"...
วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2562) เวลา 13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา หลีกภัย คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง พร้อมด้วย ดร.วิสุทธิณี ธานีรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ...
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การผลักดันการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยคนไทย ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 - 2 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14...
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ถ่ายภาพร่วมกับทีมบริหารและพนักงานของบริษัท เอช เซม มอเตอร์ จำกัด หลังจากการแสดงปาฐกถาธรรมในหัวข้อ "ทำ กับ ธรรม" ให้กับทีมผู้บริหารและพนักงานจำนวน 318 คน ณ สำนักงานใหญ่ เอช เซม มอเตอร์ อ.บางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่...
นาวาอากาศตรี พงษ์ธร เทพกาญจนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท การบินไทยฯ เปิดเผยว่า ตามที่เกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่บางจังหวัดในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา...