มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ

อังคาร ๐๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ ๑๕:๔๙
ด้วยสภาวะการลงทุนของไทยในภาพรวมมีการขยายตัวเฉลี่ยลดลง โดยเฉพาะการลงทุนในภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 จึงได้มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. หลักการให้หักรายจ่ายเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายเพื่อการลงทุนโดยจัดทำเป็นแผนงานหรือโครงการการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจหลักของกิจการ ได้แก่ 1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ 2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3) ยานพาหนะ 4) อาคารถาวร (ไม่รวมที่ดิน และไม่รวมถึงอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย) และต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และทรัพย์สินนั้นจะต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้การได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้การใช้สิทธิดังกล่าวต้องปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

ทั้งนี้ การหักค่าใช้จ่ายจะต้องหักรายจ่ายลงทุนในจำนวนที่เท่ากันตามรอบระยะเวลาบัญชีที่กฎหมายกำหนดให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา และให้เริ่มใช้สิทธินับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

2. สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สามารถใช้สิทธิมาตรการภาษีดังกล่าวได้ ดังนี้

1) กรณีโครงการที่ได้มีการลงทุนไปแล้ว หากผู้ประกอบการประสงค์จะขอใช้สิทธิหักรายจ่าย 2 เท่า ผู้ประกอบการรายนั้นจะต้องมีการลงทุนในโครงการใหม่แยกต่างหากจากโครงการเดิมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว

2) กรณีโครงการที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว แต่ยังไม่มีการลงทุน และสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของ สกท. ผู้ประกอบการสามารถเลือกการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) หรือเลือกใช้สิทธิหักรายจ่ายเพื่อการลงทุน 2 เท่า เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหากเลือกใช้สิทธิหักรายจ่ายเพื่อการลงทุน 2 เท่า ผู้ประกอบการจะต้องจดแจ้งขอใช้สิทธิกับกรมสรรพากร และ สกท. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ทั้งนี้ สิทธิหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนเท่าแรกเป็นการหักตามปกตินับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา และอีก 1 เท่า ให้หัก นับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนสิ้นสุดลงโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม โดยจะทำให้ภาคเอกชนตัดสินใจเร่งรัดการลงทุนเร็วและมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน และการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในระยะยาว ซึ่งจะสามารถชดเชยรายได้ภาษีที่สูญเสียไปได้ในอนาคต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๓๘ Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง