สสว. จัดสัมมนา เสริมศักยภาพเครือข่าย SME ภาคเหนือ ผนึกพันธมิตรต่อยอดธุรกิจเครือข่ายเอสเอ็มอีอย่างเข้มแข็ง

อังคาร ๒๒ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๒:๒๐
สสว.ต่อยอดธุรกิจเครือข่ายเอสเอ็มอีอย่างเข้มแข็ง ด้วยการจัดงานสัมมนา "ด้วยเครือข่าย... SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน"ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด มุ่งเสริมความรู้เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ พร้อมชี้ช่องทางต่อยอดธุรกิจร่วมกันระหว่างเครือข่าย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ล่าสุดลงพื้นที่ภาคเหนือช่วยส่งเสริมเครือข่ายการพัฒนาชาไทยคุณภาพสู่ตลาดของผู้บริโภค สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกชา สร้างโครงการต่อยอดการพัฒนาคลัสเตอร์ชาอินทรีย์ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.เปิดเผยว่า

การจัดงานสัมมนา"ด้วยเครือข่าย...SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน" ในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงรายครั้งนี้ นับเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรกจัดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จการพัฒนาคลัสเตอร์ยางพาราครบวงจร และครั้งที่ 2 จัดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น เพื่อเผยแพร่การพัฒนาคลัสเตอร์ผ้าไหมครบวงจร ซึ่งการจัดสัมมนาฯดังกล่าว เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การสร้างแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในรูปแบบการสร้างเครือข่าย และยกระดับความสามารถด้านการผลิต นวัตกรรม การเชื่อมโยงและพัฒนา รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดและแนวทางในการต่อยอดธุรกิจร่วมกันของผู้ประกอบการและเครือข่ายให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยในพื้นที่ภาคเหนือได้คัดเลือกการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เครือข่ายการพัฒนาชาไทยคุณภาพสู่ตลาดของผู้บริโภค ซึ่งนับเป็นกลุ่มเครือข่ายตัวอย่างที่ได้รับความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจ

"การดำเนินงานภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจ ตลอดจนเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ในลักษณะเครือข่าย เพื่อสร้างโอกาสในการทำความรู้จัก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนากิจกรรมระหว่าง SME ในอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกพื้นที่ สามารถต่อยอดเป็นสังคมหรือเครือข่ายที่มีพลังอำนาจในการต่อรอง และผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยการคัดเลือกกลุ่มเครือข่าย SME ทั่วประเทศรวม 54 เครือข่าย ทั้งในภาคเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรม การค้า และบริการ ให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนา โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการอีก 9 หน่วยงาน ที่ช่วยทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงสนับสนุนเครือข่ายสู่การพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายคือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไม่น้อยกว่า 10,000 ราย สร้างโอกาสทางการตลาดรวมถึงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1,000 ราย และสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท"

นางยุพรัตน์ ศตวิริยะ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า

สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยภายใต้ภารกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน รวม 10 ปี มีคลัสเตอร์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว 77 คลัสเตอร์ และได้คัดเลือกคลัสเตอร์ที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง จำนวน 17 คลัสเตอร์ เพื่อมาพัฒนาต่อยอด ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEใน 18 กลุ่มจังหวัด ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสว. โดยภารกิจหลักที่ใช้ทำการขับเคลื่อนการสร้างเครือข่ายSME ให้เติบโตอย่างยั่งยืนที่ทางหน่วยงานดำเนินการอยู่ ได้แก่

1. จัดกิจกรรมพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย โดยจะมีการสร้าง คลัสเตอร์ Roadmap ให้กับทั้ง 17 คลัสเตอร์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืนสู่สากลได้

2. จัดกิจกรรมพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายให้มากยิ่งขึ้น โดยการสร้างระบบการบริหารงานเครือข่ายและการบริหารสมาชิก การพัฒนาผู้นำเครือข่าย และผู้ประสานงานเครือข่าย (Network / Cluster Development Agent) การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ ปัญหา อุปสรรค โอกาส และปัจจัยความสำเร็จในการรวมกลุ่มเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เป็น Lesson learned และการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายในลักษณะ Supply Chain และ

3. จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจของเครือข่าย อาทิ กิจกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ พัฒนากระบวนการผลิต ประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ และอื่นๆ ที่ครอบคลุมการต่อยอดธุรกิจ เพื่อก่อให้เกิดผลิตภาพ รวมไปถึงกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดเชิงรุกหรือการสร้างนวัตกรรมทางการตลาด

สำหรับอุตสาหกรรมชา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย นั้นหากย้อนไปในปี 2553 ถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย จึงมีการมอบให้ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประเมินศักยภาพกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยง 8 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมชาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับการประเมินดังกล่าว ว่ามีศักยภาพในการรวมกลุ่มได้ จึงเกิดเป็น "กลุ่มเครือข่ายชาอินทรีย์ดอยแม่สลอง" ที่มีเป้าหมายร่วมกัน มุ่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสู่ระดับสากล เพื่อเป็นแนวทางที่จะทำให้กลุ่มสามารถแข่งขันและขยายตลาดได้ ปัจจุบันกลุ่มเครือข่ายได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลของ U.S.A. (มาตรฐาน USDA) และมาตรฐานสหภาพยุโรป (มาตรฐาน EU) รวมทั้งมาตรฐานโรงงานผลิตของ GMP ต้องขอขอบคุณ สสว. ซึ่งได้ให้งบประมาณดำเนินการโครงการนี้ ทำให้สามารถพัฒนาเครือข่ายนี้ได้ต่อเนื่อง และนำแนวทางนี้ขยายผลสู่เครือข่ายอื่น

ด้านการบูรณาการความช่วยเหลือของกลุ่มที่เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่การผลิต คือ การทำให้กลุ่มย่อยภายใต้ห่วงโซ่ที่สัมพันธ์กันอาศัยอยู่ร่วมกัน ทำหน้าที่ประสานกันอย่างกลมกลืนเป็นองค์รวม เกิดการเชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกันขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ ให้มีความเข้มแข็งและเติบโตทางธุรกิจ ทำให้รูปแบบความช่วยเหลือเกิดใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1. ความช่วยเหลือให้กับสมาชิกตลอดห่วงโซ่ในแนวตั้งคือ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยพัฒนาต้นน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งไปยังกลางน้ำให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสมและเกิดการเชื่อมโยงไปถึงปลายน้ำ เน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ เป็นพลังในการขับเคลื่อนกลุ่ม และประสานความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาเป็นแนวทางเดียวกัน และ 2. ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแนวนอนที่ได้จากการจัดทำแผนภาพคลัสเตอร์ (Cluster map) เป็นการเชื่อมโยงหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ Business Development Service: BDS หรือสถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน สถาบันวิจัยพัฒนา เป็นต้น ให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเชิงบูรณาการตามหน้าที่งานและความถนัด เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมชา จังหวัดเชียงราย มีการบูรณาการความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันชา และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการพัฒนาการผลิตชาของสมาชิกในกลุ่มให้เป็นชาอินทรีย์

ด้านรศ.ดนุวัติ เพ็งอ้น ผู้อำนวยการสถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า สถาบันฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการขับเคลื่อนกลุ่มเครือข่ายการพัฒนาชาคุณภาพไทยสู่ตลาดของผู้บริโภคจังหวัดเชียงราย โดยมีกิจกรรมหลักแบ่งเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่

1. ประสานกับหน่วยงานร่วมดำเนินการภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชา

2. ดำเนินงานพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย จัดทำแผนพัฒนาเครือข่ายและการจัดกิจกรรมพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและจัดอบรมพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในเครือข่ายพร้อมทั้งจัดแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์องค์ความรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายในลักษณะ Supply chain และ

3. ดำเนินการพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจของเครือข่าย โดยจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมชา และการสอนการทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูง การนำงานวิจัยมาพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยจัดทำผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการชา จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ การพัฒนาตราสินค้า (Branding) และออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ 3 ผลิตภัณฑ์ การจัดฝึกอบรมด้านการตลาด อีกทั้งยังได้ทำการยกระดับมาตรฐานทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยดำเนินการให้กลุ่มอุตสาหกรรมชาจนได้รับมาตรฐานสากล จำนวน 30 ราย และมีการพัฒนาจัดการการผลิตโดยการลดพลังงานให้แก่สถานประกอบการ จำนวน 3 กิจการ ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเชิงรุกให้แก่ผู้ประกอบการชา อย่างน้อย 10 ราย อาทิเช่น การออกงานแสดงสินค้าทั้งในไทยและตลาดสากล

"ทั้งนี้ การบูรณาการกิจกรรมการพัฒนาชาคุณภาพไทยสู่ตลาดของผู้บริโภคในกระบวนการต้นน้ำ สถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งปลูกชาอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล โดยการต่ออายุใบรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล NOP-USDA และ EU ให้แก่ผู้ผลิตชาอินทรีย์ จำนวน 30 ราย ผ่านกระบวนการกลางน้ำ โดยทางสถาบันฯ ได้ทำการพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปชาอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล เพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ชาอินทรีย์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เช่นเดียวกันกับการรับรองแปลงชาอินทรีย์ในกระบวนการต้นน้ำ นอกจากนี้ ยังได้ทำการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ชาอินทรีย์รวมทั้งกระบวนการพัฒนาตราสินค้า ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมลดพลังงานในสถานประกอบการให้แก่ผู้ประกอบการ ส่วนในกระบวนปลายน้ำ สถาบันฯ ได้ทำการจัดฝึกอบรมด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแนวคิดและช่องทางในการนำผู้ประกอบการไปร่วมออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำการจับคู่ทางธุรกิจ (Business matching) เป็นการเพิ่มและขยายโอกาสทางการค้า ตลอดจนเพิ่มรายได้ให้แก่สถานประกอบการและชุมชนอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันคลัสเตอร์ชาอินทรีย์แม่สลอง มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายจำนวนทั้งสิ้น 25 ราย โดยแต่ละรายได้มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในกระบวนการผลิตชาอินทรีย์ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้การพัฒนาและขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจชาอินทรีย์ของกลุ่มมีความเข้มแข็งและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันจนเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน"

รูปแบบของการผลิตภัณฑ์ชาโดยส่วนใหญ่ยังมีความคล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นรูปแบบที่มีความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภคมาเป็นเวลาช้านาน แต่ปัจจุบันสมาชิกเครือข่ายบางรายได้มีโอกาส ได้ไปออกงานแสดงสินค้าในตลาดสากล จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตนมากยิ่งขึ้น สถาบันฯ จึงได้นำกิจกรรมบางส่วนของโครงการฯ มาพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้มีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น โดยได้คัดเลือกผู้ประกอบการบางราย จากความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์จนประสบความสำเร็จ ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าสูงขึ้นถึง 30% และสามารถเพิ่มอัตราการแข่งขันในตลาดได้ ทั้งในช่วงของการดำเนินโครงการและหลังจากการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสร้างตราสินค้าของตนเองต่อไป และสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาธุรกิจและเครือข่ายชาอินทรีย์แม่สลองสืบไปอย่างยั่งยืน

ด้านนางสาวพรรณทิพา กิจวิถี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คลัสเตอร์ชาอินทรีย์ดอยแม่สลอง กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการที่ได้เข้ามารวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกใบชา ทำให้การรวมกลุ่มเกิดความเข้มแข็ง สมาชิกกลุ่มที่มีไร่ปลูกชาเป็นของตนเองก็พร้อมที่จะพัฒนา รวมถึงขยายพื้นที่ปลูกเป็นอินทรีย์ และที่สำคัญทำให้รู้จักสามัคคีกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้คำแนะนำและปรึกษาในกลุ่มด้วยกันได้ให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน และก่อเกิดประโยชน์ให้กับสมาชิกเกษตรกรชาอินทรีย์ทุกคนที่อยู่ในกลุ่ม โดยการรวมกลุ่มคลัสเตอร์อินทรีย์ดอยแม่สลอง ทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเรื่องของระบบการเพาะปลูกและการสร้างผลผลิต จากเดิมที่ทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์คือการทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ บนพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีสารพิษ และหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทั้งทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ชาอินทรีย์ดอยแม่สลองทำให้รูปแบบการทำการเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลงปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี ทำให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกมากยิ่งขึ้น เกษตรกรผู้ปลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น

การจัดสัมมนา "ด้วยเครือข่าย...SME เติบโตได้อย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด กำหนดจะจัดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยครั้งต่อไปจะจัดที่ภาคกลาง (กรุงเทพมหานคร) และดูงานเครือข่ายพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุพรรณบุรี สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 08-3823-9116

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา