สพฉ. จัดแข่งขันแรลลี่กู้ชีพครั้งที่ 6 นำโจทย์การช่วยเหลือที่พบมากทั้งอุบัติเหตุ-ระเบิด-สารเคมี มาพัฒนาทักษะของทีมกู้ชีพ

อังคาร ๐๒ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๖ ๑๒:๐๙
สพฉ. จัดแข่งขันแรลลี่กู้ชีพครั้งที่ 6 นำโจทย์การช่วยเหลือที่พบมากทั้งอุบัติเหตุ-ระเบิด-สารเคมี มาพัฒนาทักษะของทีมกู้ชีพ เพื่อประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ขณะที่ตัวแทนทีมชนะเลิศปีที่ผ่านมา ย้ำเป็นโครงการที่ดี มีประโยชน์ แนะให้นำวิวัฒนาการทางการแพทย์ฉุกเฉินมาประยุกต์ใช้ในการแข่งขันด้วย

นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ (EMS Rally) ระดับชาติ ครั้งที่ 6 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยมีตัวแทนทีมแพทย์ฉุกเฉินจาก 13 เขตทั่วประเทศ ที่ผ่านการชนะระดับเขตมาเข้าร่วมแข่งขัน

สำหรับการแข่งขัน EMS RALLY นั้น สพฉ.จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ระดับคือ 1.ทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) ที่ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ 2.ทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับต้น (BLS) ประกอบด้วยพนักงานฉุกเฉินการแพทย์และอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ และ 3.ทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับพื้นฐาน (EMR) ที่ประกอบไปด้วยอาสาสมัครฉุกเฉินทางการแพทย์ไม่เกิน 4 คน และทีมชุดรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน (EMD) โดยจะแบ่งการแข่งขันเป็นฐานเสมือนการแข่งขันแรลลี่ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องร่วมกันแก้โจทย์การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจากสถานการณ์ต่างๆ

โดยในปีนี้มีการประยุกต์โจทย์การแข่งขันให้เข้ากับสถานการณ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาทิ ฐานการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร ผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ ผู้ได้รับบากเจ็บจากการตกจากที่สูง การถูกทำร้ายร่างกาย การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งในทารก เด็กและผู้ใหญ่ จากอาการหมดสติ วัสดุเศษอาหารติดคอ การคลอดฉุกเฉิน หรือสถานการณ์ภัยพิบัติ สาธารภัย ทั้งเหตุการณ์ระเบิด สารเคมีรั่วไหล ตึกถล่ม เครื่องบินตก

"การแข่งขันนี้ ถือเป็นการฝึกพัฒนาบุคลากรไปด้วยในตัว และทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินมีความรู้และทักษะการช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน ถือเป็นการพัฒนาตัวเอง และที่สำคัญจะช่วยทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเกิดการจดจำมากถึงร้อยละ 90 นำไปสู่การช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น" นพ.อนุชากล่าว

ด้านนางจุลินทร ศรีโพนทัน หัวหน้าศูนย์สื่อสารและสั่งการ รพ.มหาสารคาม ตัวแทนทีมที่ชนะเลิศเมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่า การแข่งขัน EMS RALLY ถือว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์มาก เป็นเหมือนกุศโลบายที่ทำให้เกิดการพัฒนาตัวเอง โดยลำดับในการแข่งขัน ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญคือทำให้เราได้ฝึกตัวเอง ได้ฝึกการทำงานเป็นทีม เนื่องจากการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ดังนั้นหากทีมงานทำงานกันอย่างลงตัว ก็จะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ทำให้ทุกนาทีที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินมีค่ามากที่สุด

นอกจากนี้ยังถือเป็นการสร้างเครือข่ายในระดับประเทศด้วย อย่างไรก็ตามอยากให้ สพฉ. มีการจัดการความรู้และรวบรวมสถิติในแต่ละพื้นที่ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง มาเป็นโจทย์หลักในการแข่งขันด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้อยากให้เน้นเรื่องวิวัฒนาการทางการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้แต่ละทีมรู้จักขวนขวาย ซึ่งเรื่องนี้ผลประโยชน์โดยตรงจะตกไปอยู่ที่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่จะได้รับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา