สอนเด็กผลิตสื่อ อีกหนึ่งหลักสูตรจาก มจธ.

ศุกร์ ๐๓ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๑:๒๒
สาขาเทคโนโลยีมีเดีย หนึ่งในโครงการร่วมบริหารหลักสูตรฯ (มีเดีย) มจธ. นำทัพนักศึกษาปี 4 จาก 3 วิชาเอกจัดงานแสดงนิทรรศการผลงานด้านมีเดียนอกสถานที่ กลยุทธ์ฝึกทักษะการสื่อสารและนำเสนอผลงานต่อสาธารณะชน

เมื่อปลายเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดงานนิทรรศการแสดงผลงานปริญญานิพนธ์ของนักศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเทคโนโลยีมีเดีย จากโครงการร่วมบริหารหลักสูตรฯ (มีเดีย) ประจำปี 2558 ขึ้นที่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC (Thailand Creative & Design Center) ทั้งนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ยิ่งถาวรสุข ประธานหลักสูตรฯ กล่าวว่า สาขาเทคโนโลยีมีเดีย เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมีเดียในด้านต่างๆ โดยบูรณาการศาสตร์ 3 ด้าน คือ เทคโนโลยี ศิลปะและการออกแบบ และพฤติกรรมการรับรู้ของมนุษย์ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบสนองการดำเนินชีวิต และประยุกต์ใช้มีเดียกับศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้ศาสตร์นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการจัดงานครั้งนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการนำเสนอผลงานต่อสาธารณะชนและเผยแพร่ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ต่อบุคคลภายนอก

ทั้งนี้มีผลงานนักศึกษาที่น่าสนใจหลายชิ้น อาทิ "เครื่องดนตรีปฏิสัมพันธ์ประเภทสายด้วยแสงเลเซอร์" ผลงานของ นางสาวนุชเนตร ปานสี นางสาวศริญญา ชัยวงษ์ และนายปราชญ์ จันทราทิพย์ จากวิชาเอกเทคโนโลยีมีเดียดิจิทัล โดยนายปราชญ์ ตัวแทนกลุ่มได้กล่าวถึงสาเหตุที่พัฒนาผลงานนี้ขึ้นเพราะเห็นว่าปัจจุบันคนสามารถเข้าถึงดนตรีได้มากขึ้น สื่อต่างๆ ก็มีการใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางแต่คนส่วนใหญ่เล่นดนตรีไม่เป็น แต่เพราะเสียงดนตรีช่วยสร้างสุนทรียภาพและความผ่อนคลายให้กับมนุษย์ได้ดี ในปัจจุบันจึงมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับเครื่องดนตรีเพื่อสร้างความสนใจและเพิ่มแรงดึงดูดแก่ผู้ใช้งานมากขึ้น

"เราพัฒนาเครื่องดนตรีดังกล่าวขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจมาจากเครื่องดนตรี Harp มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้งานได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับเครื่องดนตรีโดยอาศัยหลักการทำงานของแสงและหลักการทำงานของเซนเซอร์อัลตร้าโซนิคเพื่อส่งข้อมูล ระยะที่จะจับเซ็นเซอร์ได้คือ 30 เซนติเมตร โดยใช้อาร์ดูโน่ เพื่อประมวลผลควบคุมการทำงานของเสียงตัวโน๊ตดนตรีให้เป็นไปตามที่กำหนด นอกจากนั้นเรายังพัฒนาให้มีฟังก์ชันในการเปลี่ยนเสียงดนตรีจากเครื่องดนตรีประเภทสายได้ถึง 8 ชนิดคือ Harp, Classical Guitar, Acoustic Guitar, Electric Guitar, Bass Guitar, Benjo, violin และ Viola ซึ่งเครื่องดนตรีที่เราพัฒนาขึ้นนี้เหมาะกับการประยุกต์ใช้ในการแสดงดนตรีเพื่อสร้างความบันเทิงในรูปแบบใหม่ได้โดยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายมนุษย์และแสงเลเซอร์"

และอีกหนึ่งผลงานที่ช่วยสร้างความบันเทิงในยุคดิจิทัลแล้วยังมีอีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจอย่าง "การเปรียบเทียบพลังงานของเสียงพูดในโดเมนสเปกตรัมเพื่อคัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้า" โดย นางสาวกมลพรรณ พ่วงวิจิตร์ กลุ่มวิชาเอกเทคโนโลยีมีเดียชีวการแพทย์ เจ้าของผลงานกล่าวว่า จากข่าวต่างๆ จะเห็นว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมากขึ้น แต่คนไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จึงพัฒนาโปรแกรมอย่างง่ายที่จะช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าเพื่อหาวิธีบำบัดรักษาได้ทันท่วงที

"ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจต้องใช้เวลาในการพูดคุยนานกว่าจะสรุปได้ว่าคนไข้มีอาการโรคซึมเศร้า หรือไม่ จึงพัฒนาโปรแกรมขึ้นเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการวินิจฉัยโรคของแพทย์เพื่อการบำบัดได้ทันท่วงที โดยผลงานดังกล่าวมีการนำเสียงพูดที่บันทึกในวามถี่ 10 KHz ระหว่างจิตแพทย์และคนไข้ในต่างประเทศ มาใช้เพื่อพัฒนาชุดโปรแกรมตรวจวัดสภาวะทางอารมณ์โดยหาปริมาณ Energy Band ของเสียงพูดโดยใช้ เทคนิค LS (Least Squaerd) จากตัวอย่าง 32 คน ในผู้ที่มีสภาวะอารมณ์ซึมเศร้า 18 คน และสภาวะอารมณ์ปกติ 14 คน พบว่า energy band สามารถบ่งบอกสภาวะทางอารมณ์ของผู้พูดได้โดยผู้ป่วยที่มีอารมณ์ ซึมเศร้า energy band จะแสดงออกมาเป็นกราฟที่มีความถี่ค่อนข้างสูงกว่าคนที่มีอารมณ์ปกติ ซึ่งโปรแกรมนี้จะแสดงผลของความน่าจะเป็นสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ อีก 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์"

นอกจากนั้นยังมีผลงานจาก "การออกแบบพัฒนาเกมและอุปกรณ์สำหรับการกายภาพบำบัดส่วนแขนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง" โดยมี นางสาวเสาวลักษณ์ ชโลธร, นางสาวทิฆัมพร กรงทอง และนางสาวอาภรณ์ ศรีเหรา จากกลุ่มวิชาเอกการพัฒนาเกม เป็นผู้พัฒนาผลงาน โดย ทิฆัมพร กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวจะสามารถสร้างจูงใจในการทำกายภาพบำบัดให้กับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพาตครึ่งซีกได้โดยใช้หลักการทำงานของ Arduino และ Unity ร่วมกับเซ็นเซอร์ โดยจะเน้นที่การบำบัดส่วนแขนด้วยการนำเกม Star Pick ที่ผู้เล่นต้องบังคับทิศทางการบินด้วยแขนมาสร้างแรงจูงใจในการทำกายภาพบำบัด

"สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพาตครึ่งซีกจำเป็นที่ต้องมีการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย แต่เครื่องมือกายภาพตามโรงพยาบาลทั่วไปนั้นจะมาในลักษณะเครื่องมือแพทย์ที่เห็นแล้วไม่เชิญชวนให้เข้าใช้มากนัก เราจึงคิดว่าถ้านำเกมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำกายภาพผู้ป่วยน่าจะมีแรงจูงใจในการทำกายภาพและผ่อนคลายมากขึ้น"

สุดท้าย ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานที่จัดแสดงแบ่งเป็นผลงานจากกลุ่มวิชาเอกเทคโนโลยีมีเดียดิจิทัล ที่เน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน กลุ่มวิชาเอกเทคโนโลยีมีเดียชีวการแพทย์ เน้นสร้างสรรค์นวัตกรรมมีเดียเพื่อสุขภาพ การแพทย์ เพื่อการเรียนรู้และเข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น และกลุ่มวิชาเอกการพัฒนาเกม เน้นการออกแบบและพัฒนาเกมทั้งส่วนซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เกมออนไลน์ เกมบนอุปกรณ์ไร้สาย และเกมบนเครื่องเล่นต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มวิชาเอกนี้ล้วนเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญในการเรียนรู้ยุคสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย.//

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา