บอร์ดภาพยนตร์ ไฟเขียวโอนภารกิจพิจารณายกเว้นการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่ไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณา เป็นภารกิจของ วธ. พร้อมเดินหน้าปรับปรุง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รวมทั้งอนุญาตให้จัดเทศกาลภาพยนตร์สวีเดน-เทศกาลภาพยนตร์นิวซีแลนด์

จันทร์ ๐๕ กันยายน ๒๐๑๖ ๑๖:๒๑
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ฐานะประธานประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 5/2559 ว่า ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยในรูปแบบของการคืนเงิน (Cash Rebate) หลังจากเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2559 คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขสำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเรียบร้อยแล้วตามที่กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ล่าสุดกรมการท่องเที่ยวจัดประชุมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์วิธีการฯ เพื่อจัดทำ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขสำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยและรายละเอียดแบบฟอร์มการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวและวันที่ 6 ก.ย.นี้จะดำเนินการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องราคากลางของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาอนุญาตให้การจัดเทศกาลภาพยนตร์สวีเดน ประจำปี 2559 ตามที่สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย แจ้งขอนำภาพยนตร์ 7 เรื่องมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์สวีเดน วันที่ 7-11 ก.ย. ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร และอนุญาตให้จัดเทศกาลภาพยนตร์นิวซีแลนด์ ตามที่สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย แจ้งขอนำภาพยนตร์ 3 เรื่องมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์นิวซีแลนด์ วันที่ 6-9 ต.ค. ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาภารกิจและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2559 มติเห็นว่าภารกิจการพิจารณายกเว้นการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่ไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาเป็นภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และมีมติให้จัดทำ (ร่าง) คำสั่งฯ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภาพยนตร์ระหว่างประเทศ โดยมีรองปลัด วธ. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งนี้ จากการประชุมหารือได้ข้อสรุป ดังนี้ 1. ภารกิจการตรวจพิจารณาและอนุญาตเผยแพร่ภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ เป็นภารกิจของวธ. รวมถึงภารกิจการพิจารณายกเว้นการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่ไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา 27(4) ภาพยนตร์ที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศตามเทศกาลกำหนด ดังนั้นการพิจารณาการเผยแพร่ภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศของอนุกรรมการเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศ ถือเป็นภารกิจของ วธ. จากเดิมเป็นหน้าที่กรมการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จากประชุมของอนุกรรมการฯ ได้มีมติให้ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศ โดยมีประเด็นการพิจารณาสำคัญ ได้แก่ 1.กำหนดคำนิยามของเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 2.ปรับปรุงรายชื่อเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศฯ ให้ดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ปรับปรุงรายชื่อให้ทันสมัยโดยอ้างอิงจากรายการรายชื่อเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รวบรวม โดยกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นว่า เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่จะต้องจัดต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากสาธารณชน และเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องการขอยื่นเข้าเป็นเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศ ให้มีการกำหนดกฎระเบียบให้ชัดเจนและเปิดให้ผู้จัดงานยื่นขอรับสมัครเข้าเป็นเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศตามท้ายประกาศโดยจะต้องยื่นขอเป็นเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศ อย่างน้อย 3 เดือน ก่อนการจัดงาน และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการภาพยนตร์และ วีดิทัศน์แห่งชาติ จึงสามารถยื่นขอยกเว้นตรวจพิจารณาตามมาตรา 27 (4) ได้

พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมรายงานความคืบหน้าเพื่อทราบในการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีสาระสำคัญที่จะแก้ไข อาทิ 1. เพิ่มคำว่าและวีดิทัศน์ในมาตราที่เกี่ยวกับการจัดตั้ง "กองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์" 2. เปลี่ยนผู้แทนคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยจากผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ 3. กฤษฎีกาขอให้พิจารณาการกำหนดบทบัญญัติเรื่องกองทุนฯ ให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และ 4. ที่ประชุมเห็นควรย้ายหมวดที่เกี่ยวข้องกับกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จากเดิมหมวด 6/1 ที่อยู่ในหมวดการอุทธรณ์เป็นหมวด 4/1 ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมฯ ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา