ปิดฉากชลประทานโลกครั้งที่ 2 ICID ชมไทยจัดงานเยี่ยม 52 ประเทศทึ่งในพระปรีชาสามารถรัชกาลที่ 9

พฤหัส ๑๐ พฤศจิกายน ๒๐๑๖ ๑๐:๕๕
ปิดฉากการจัดประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ ประธาน ICID ชื่นชมไทยจัดได้ประสบความสำเร็จ เผยผู้เข้าร่วมงาน 52 ประเทศ ยกย่องในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ของประเทศไทย

การประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ได้สิ้นสุดลงท่ามกลางความสำเร็จ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ1,200 คน จาก 52 ประเทศ เป็นผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทยร้อยละ 50 และต่างชาติร้อยละ 50 โดยเป็นระดับรัฐมนตรีจาก 8 ประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในด้านการชลประทานและการเกษตร ได้แก่ ประเทศภูฏาน เนปาล เอธิโอเปีย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และไทย อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูง ( Senior Officers ) ร่วมประชุมอีก11 ประเทศ ได้แก่ ประเทศภูฏาน กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เนปาล ซูดาน ยูเครน และไทย

ทั้งนี้การจัดประชุมชลประทานโลกดังกล่าว จะแบ่งการจัดประชุมใหญ่ออกเป็น 5 การประชุม การประชุมคู่ขนาน 12 การประชุม และการนำเสนองานวิชาการผ่านโปสเตอร์มากกว่า 50 ภาพ การประชุมย่อย 17 การประชุม ซึ่งส่วนใหญ่จัดโดยองค์กรและสถาบันระหว่างประเทศ

Dr.Saeed Nairizi ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (International Commission on Irrigation and Drainage : ICID) ได้กล่าวชื่นชมการจัดการประชุมชลประทานโลกในครั้งนี้ว่า สามารถจัดได้สมบูรณ์แบบทั้งการประชุมและการจัดนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการชลประทาน แม้จะเป็นในช่วงที่ประเทศไทย และคนไทยไว้อาลัย ที่ต้องสูญเสียพระมหากษัตริย์รัชกาลที่9 อันเป็นที่รักยิ่งก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ดูงานของระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูง คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้มีการจัดทำแบบจำลองเสมือนจริงของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวน 6 แห่งมาจัดแสดงไว้ให้ชมในสถานที่เดียว ทำให้ได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถในด้านการบริหารจัดการน้ำ การแก้ปัญหาต่างๆของการเกษตร การอนุรักษ์ดินและน้ำ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นอกจากนี้ Dr.Saeed ยังได้กล่าวขอบคุณ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ประธาน THAICID ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานและเลขาธิการ THAICID ที่ช่วยดำเนินการจัดการประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 เป็นไปอย่างเรียบร้อยและประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ มีประเทศที่เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก

สำหรับความสำเร็จในการประชุมชลประทานโลกในครั้งนี้ ทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้ให้ความสำคัญในเรื่องการชลประทาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร และสามารถขจัดความยากจนได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในการประชุมระดับรัฐมนตรีนั้น ได้ทำให้เกิดเป็นปฏิญญาเชียงใหม่ที่แต่ละประเทศจะช่วยกันในการเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องชลประทานควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในด้านอาหาร ตลอดจนการยกระดับเครือข่ายเชื่อมโยงการพัฒนาชนบท กับการพัฒนาเมือง สนับสนุนการมีส่วนร่วมการรวมกลุ่มของประชาชนและเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้เกษตรกรมากขึ้น

นอกจากนี้แต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุมยังได้เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขของแต่ละประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป รวมทั้งยังเสนอแนวทางการพัฒนาด้านการชลประทาน และการเกษตร พร้อมต้องการให้ ICID เข้ามาเกี่ยวข้องในการผลักดันการแก้ไขปัญหาน้ำและการเกษตร ตลอดจนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยในส่วนประเทศไทยนั้นได้นำ เสนองานวิจัยการทำนาแบบใช้น้ำน้อยหรือการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ในการทำนาปรังในเขตชลประทานช่วงฤดูแล้ง ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำลง 20 -35 % และยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ในขณะที่ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากประเทศที่เข้าร่วมประชุม จนได้รับรางวัล WatSave Awards 2016

นอกจากนี้ยังมีการประชุมในระดับเกษตรกร ( Smart Farmer) จำนวน 16 คน จาก 6 ประเทศ ได้แก่ ซูดาน อินเดีย อิหร่าน อิรัก สาธารณรัฐเกาหลี และไทย ทำให้เกษตรกรในแต่ละประเทศได้มีการพัฒนาต่อยอดความรู้ ความสามารถ ความเข้มแข็ง ทักษะ และประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นการเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สุดท้ายรัฐมนตรีจากประเทศลาว ยังได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านชลประทานและการระบายน้ำในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านชลประทานมากที่สุดในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศก่อน

อนึ่ง แม้การประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ แต่ยังมีการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่67 ( The 67th International Executive Council Meeting : 67th IEC Meeting ) ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2559

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง