บ่มเพาะนักกฎหมายเพื่อประชาชน มูลนิธิสยามกัมมาจล

พฤหัส ๐๕ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๐:๕๔
นักศึกษากฎหมาย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชน และใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยแก้ปัญหาของชุมชน ถือเป็นคำตอบของกระบวนการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ที่ต้องการปลูกฝังให้นิสิต นักศึกษา นำความรู้ในตำราตอบแทนสู่สังคม และตอบโจทย์การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมได้อย่างแท้จริง

ภาพ "นักศึกษากฎหมาย" ในความคิดของใครหลายคน อาจเป็นการคร่ำเคร่งกับตำราเรียนเพื่อท่องจำประมวลมาตรากฎหมายมากมาย แต่เพราะความสนใจต่อความเป็นไปในบ้านเมืองและความห่วงใยทรัพยากรชายหาดของบ้านเกิดทำให้ ฝน-อลิสา บินดุส๊ะ ที่มีพื้นฐานจากการทำงานกับ Beach for Life กลุ่มเยาวชนที่ลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลา จนเกิดธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน เลือกเรียนต่อคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พร้อมชักชวนเพื่อนๆ ร่วมคณะมาทำโครงการ Law Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน ในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยสงขลาฟอรั่ม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อต่อยอดการแก้ปัญหาการพังทลายของชายหาดในมิติด้านกฎหมาย โดยได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว

จากการทำงานปีแรกที่ทีมว่าที่นักกฎหมายรวมกลุ่มตั้งวงพูดคุย วิเคราะห์มาตรากฎหมาย เพื่อทำความเข้าใจมาตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขดูแลหาดทราย เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน (EIA) กระทั่งพบว่า กฎหมายคุ้มครองหาดทรายยังขาดรายละเอียดที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคเวลานำไปใช้จริง

เมื่อเข้าสู่การทำงานในปีที่ 2 ทีมงานจึงเลือกศึกษาและทำความเข้าใจ "นิยามของชุมชนชายฝั่งและสิทธิชุมชน" เพื่อเติมเต็มช่องโหว่ที่ พบในปีแรก ซึ่งจะทำให้ชุมชนชายฝั่งมีสิทธิอย่างชัดเจนในการดูแล ครอบครอง หรือเรียกร้องความถูกต้องในกรณีที่ถูกรุกล้ำพื้นที่บริเวณชายหาด ส่วนรูปแบบการทำงานของทีมงานก็ปรับเปลี่ยนจากการอุดอู้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เป็นการ "เดินลงไปชุมชนจริง" เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านให้ได้ข้อมูลของความเป็นชุมชน แล้วหาข้อสรุปของนิยามที่ต้องการ

สำหรับชุมชนที่ทีมงานเลือกศึกษามี 2 รูปแบบ ได้แก่ ชุมชนสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณชายหาด มีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับทะเล และกลุ่ม Beach for Life ชุมชนที่เป็นการรวมตัวของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา

ผลของการลงพื้นที่ทำให้ทีมงานได้ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน หลังจากนั้นจึงเชื้อเชิญเพื่อนๆ คณะนิติศาตร์จำนวน 40 กว่าคน มาร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยน ระดมสมอง และสรุปแนวคิดเกี่ยวกับชุมชนชายฝั่ง กระทั่งได้ออกมาว่า

"ความเป็นชุมชนชายฝั่งต้องอยู่ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลหรือเกาะที่อิงกับการแบ่งเขตปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหาด ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มBeach for Life หรือชุมชนสวนกง ต่างก็เป็นชุมชนชายฝั่ง"

จากนั้นทีมงานพาเพื่อนๆ ที่มาร่วมระดมความคิดกลับไปลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อเก็บข้อมูลของชุมชน อาทิ ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ การจัดการภายในชุมชน พร้อมทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิของชุมชนชายฝั่งแก่ชาวบ้าน ทำให้นักศึกษาเข้าใจบริบทของชุมชนที่ว่าเวลาชาวบ้านส่วนใหญ่มีเรื่องเดือดร้อน มักรอแต่พึ่งพาผู้นำชุมชน ขณะเดียวกันชาวบ้านก็เริ่มตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการมีส่วนร่วมกับแก้ไขความเดือดร้อนของชุมชน เพราะกระบวนการเรียกร้องสิทธิ ต้องมีการร้องเรียน แสดงหลักฐาน และติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ จึงไม่สามารถรอผู้นำลงมือหรือปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งต่อสู้เพียงลำพัง

ฝน-อลิสา สรุปประเด็นสำคัญจากการเรียนรู้ในพื้นที่ว่า กฎหมายเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะเข้าใจ ขณะเดียวกันนักกฎหมายไม่ควรหยิ่งว่าตนรู้กฎหมาย เพราะถ้าทุกคนต้องพึ่งแต่นักกฎหมาย นักกฎหมายก็ตาย ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นศาสตร์ที่ทุกคนควรรู้และสามารถนำไปใช้ได้ เหมือนที่พวกเขาพยายามให้ชุมชนรู้และเข้าใจกฎหมายนั่นเอง

หลังจากลงพื้นที่ชุมชนสวนกง 2 ครั้ง ทีมงานนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็น "คู่มือชุมชนชายฝั่ง" เพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงให้กับชุมชน อีกทั้งยังใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับเผยแพร่สู่ชุมชนอื่นต่อไป โดยในคู่มือจะมีการกำหนดนิยามคำว่าชุมชนชายฝั่ง สิทธิของชุมชนชายฝั่ง วิธีการใช้สิทธิชุมชนทั้งด้านกฎหมายและกระบวนการ รวมทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนสวนกงซึ่งเป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้ด้วย

นอกจากประสบผลสำเร็จตามแผนการทำงานแล้ว ทีมว่าที่นักกฎหมายยังค้นพบ "มุมมองใหม่" ของการแก้ปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งเปลี่ยนแปลงความเข้าใจที่พวกเขาเคยมีไปอย่างสิ้นเชิง

เป้- อัษราพงศ์ ฉิมมณี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มว่าที่นักกฎหมายบอกว่า การลงพื้นที่ทำให้ได้ซึมซับวิถีชีวิตของผู้คน จนเข้าใจถึงความรักและความผูกพันที่ชาวบ้านมีต่อชุมชนและเพื่อนร่วมชุมชน กระทั่งมองเห็นเบื้องลึกของปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชุมชน

"ผมพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเอกเทศ ไม่ใช่เกิดขึ้นเดี่ยวๆ แต่มีปัญหาอื่นเกี่ยวพันกันอยู่ จึงจำเป็นต้องสนใจชุมชน สนใจปัญหาอื่นด้วย ถึงจะช่วยชาวบ้านได้จริง อย่างการลงพื้นที่สัมผัสกับชีวิตชาวบ้าน ก็ทำให้รับรู้ข้อเท็จจริงของสังคมซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าเรามองแต่ตัวปัญหาอย่างเดียว โดยไม่สนใจชุมชน แล้วจะเป็นนักกฎหมายที่ดีได้อย่างไร"

ด้าน สตางค์-มธุรดา ปันวิวัฒน์ สมาชิกกลุ่มอีกคนเสริมว่า การพูดคุยกับชาวบ้านทำให้เปลี่ยนความคิดตัวเองใหม่ว่า ต้องรับฟังชาวบ้านมากขึ้น แทนที่จะดูแค่ตัวบทหรือตัวอักษรทางกฎหมายเหมือนที่ผ่านมา

"คนมีความรู้หลายคนอาจคิดว่าชาวบ้านไม่รู้อะไร แต่จริงๆ แล้วชาวบ้านมีความรู้ที่เอื้อต่อวิถีชีวิตของตัวเอง ส่วนเราก็มีความรู้แบบของเรา ต่างสามารถเป็นครูให้กันและกันได้ สิ่งเหล่านี้ช่วยขัดเกลาความคิดของเราให้เปิดกว้างมากขึ้น...กว้างกว่าที่เคยมองแค่สิ่งที่อยู่ในชั้นเรียน"

กระบวนการทำงานในโครงการ Law Long Beach คือการเปิดโลกของนักกฎหมายที่คร่ำเคร่งอยู่ในตำราให้ได้สัมผัสกับความเป็นจริงของสังคม พบเจอปัญหาของกฎหมายในมิติอื่นที่มากกว่าตัวอักษรในมาตรา ซึ่งมีชีวิต จิตใจ มีความทุกข์ยากที่ต้องการให้กฎหมายช่วยเหลือ คุ้มครอง และปกป้องสิทธิที่พึงได้อย่างเท่า อันช่วยสร้าง "จิตสำนึก" ที่จะเลือกใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่ทีมว่าที่นักกฎหมาย

อาจารย์เอ-ธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่ปรึกษาโครงการสะท้อนว่า สิ่งนี้คือโจทย์ที่มีการพูดคุยมาโดยตลอดในแวดวงของมหาวิทยาลัย

"ในงานสัมมนาของนิติศาสตร์ทุกครั้ง เราพูดกันว่า ต้องนำนักศึกษาออกไปสู่สังคมมากขึ้น มีการเสนอวิธีการเรียนกฎหมายแบบใหม่ที่เรียกว่า การศึกษากฎหมายเชิงคลินิกกฎหมาย ซึ่งกลุ่ม Law Long Beach ก้าวนำคณะ ด้วยการออกสู่สังคมแล้ว และเป็นแรงกระตุ้นให้อาจารย์กับเพื่อนๆ ในคณะเห็นวิธีการเรียนกฎหมายที่หลุดพ้นจากการท่องตำราเพียงอย่างเดียว กระทั่งเกิดทักษะความเข้าใจสังคม อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพิจารณาใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ในอนาคต ขณะเดียวกันการเข้าไปของนักศึกษากฎหมายก็ได้สร้างความสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกว่า สถาบันการศึกษายังเป็นที่พึ่งพาได้ในยามที่เขาประสบปัญหา ซึ่งเป็นโจทย์ของคณะนิติศาสตร์ที่อาจจะเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือชุมชนต่อไป"

นี่อาจเป็นคำตอบของระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ไม่ใช่แค่การบ่มเพาะวิชา เพื่อสอบได้คะแนนดีๆ มีโอกาสเติบใหญ่ในเส้นทางอาชีพ แต่ยังต้องขัดเกลาจิตวิญญาณผู้เรียนให้รู้สึกรู้สากับเรื่องราวของชุมชน จนเกิดจิตสำนึกที่จะนำความรู้ไปรับใช้ส่วนรวม ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา