ผู้สืบต่อจิตวิญญาณ “สะเนงสะเองกวย”

ศุกร์ ๐๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๗ ๑๒:๔๙

ด้วยความเชื่อของชาวกวยที่ว่า "พิธีสะเนงสะเองเป็นการรักษาโรคผ่านเสียงดนตรี" ยามใดที่คนในชุมชนเกิดการเจ็บป่วยรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันอย่างไรก็ไม่หาย คนหมู่บ้านจะหันมาพึ่งพาการแพทย์ทางเลือก อันเป็นความเชื่อของชาติพันธุ์กวย ด้วยการค้นหาสาเหตุของการเจ็บป่วยผ่านล่ามหรือคนทรงเพื่อคลี่คลายปัญหา หลังได้รับคำแนะนำจากการเข้าทรง ผู้ป่วยและครอบครัวก็จะบนบานต่อบรรพบุรุษ หลายครั้งหลายคราที่ผู้ป่วยหายจากอาการที่เจ็บป่วยเป็นปลิดทิ้งหลังการบนบาน นับเป็นผลจากแรงศรัทธาที่สร้างขวัญและกำลังใจให้หายป่วย หลังจากนั้นผู้ป่วยและครอบครัวจะจัดพิธีกรรมสะเนงสะเองเพื่อแก้บน

จากความเชื่อที่ฝังรากลึกในกลุ่มชนชาวกวยในพื้นที่หมู่บ้านโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ถูกสืบทอดสืบสานผ่านกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน แม้คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังคงมีความศรัทธาในเรื่องดังกล่าว แต่วิถีชีวิตของคนยุคนี้ต้องทำมาหากินไกลถิ่น ทำให้ความเชื่อเริ่มถูกสั่นคลอน การสืบทอดเริ่มเลือนหาย จนกระทั่งผู้รู้ด้านพิธีกรรมสะเนงสะเองในชุมชนเหลือเพียง 3 คนสุดท้าย ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุที่นับวันเรี่ยวแรงเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งแสดงว่า หากขาดคนสานต่อที่จะเรียนรู้การบรรเลงดนตรี พิธีกรรมอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนก็อาจจะเลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลา

ทัด-ธนากร แก้วลอย โด่ง-ธิติวุฒิ เรืองดี เบียร์-ชนิกานต์ วันนุบล เก๋-ชนิดา โพธิสาร เหมย-โชติมา งอนสวรรค์ หนิง-ศิริรัตน์ โพธิสาร เว็น-สมัต เรืองคำ แม็ค-ฐิติวัฒน์ โพธิสาร ฟลุ๊ค-สิษฐ์พล โพธิ์กระสังข์ และ เฟรม-ณัฐภูมิ วรรณทอง เยาวชนจากโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ใช้เวลาว่างศึกษาโครงการสืบสานสะเนง สะเองกวย ซึ่งเป็นพิธีกรรมของชุมชนที่เคยพบเห็นมาแต่เด็กหลังจาก ครูแอ๊ด-สิบเอกวินัย โพธิสาร ที่ปรึกษาโครงการในฐานะครูประจำชั้น ม.3 โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ ได้ชักชวนเข้า ร่วมโครงการ ด้วยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป

เบียร์เล่าถึงการทำงานของทีมงานสะเนงสะเองว่า เริ่มจากการประชุมภายในทีมเพื่อทำความเข้าใจโครงการร่วมกัน จากนั้นจึงจัดประชุมชี้แจงโครงการแก่ชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจถึงที่มาและเป้าหมายของโครงการ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากคนในชุมชน โดยตนและเพื่อนๆ ค้นหาข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเหลือเพียงไม่กี่คน เช่น ตาพรมมา โพธิ์กระสังข์ ที่มีความรู้เรื่องปี่และแคน ยายกัณหา จันทะสนแม่ครูสะเองและแม่ครูรำ ตาทิพย์ ทองละมุล ผู้รู้ด้านเครื่องดนตรีและการบรรเลงดนตรีประเภทตี และอดิเรก โพธิสาร ผู้รู้ด้านการประกอบพิธีกรรมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้รู้มาได้ไม่นานนัก

ทั้งนี้ สะเนงสะเองมี 2 ประเภท คือ สะเองเลียง และสะเองโรง สะเองเลียงคือ การจัดสะเองครั้งแรกและครั้งที่ 2 ส่วนสะเองโรงคือ การจัดสะเองครั้งที่สามหรือการเลี้ยงสะเอง ซึ่งการจัดพิธีกรรมสะเองไม่นิยมจัดในช่วงเข้าพรรษา หรือวันพระ การสืบทอดความรู้ในการประกอบพิธีกรรมเป็นการสืบทอดทางสายเลือด ผู้ที่มีเชื้อสายสะเองเท่านั้นจึงจะเป็นแม่ครูได้ เครื่องดนตรีในพิธีกรรมสะเนงสะเองประกอบด้วย โทน 2 ใบ ฆ้อง 1 ใบ ปี่ 1 เลา โดยการรำตอนจัดพิธีกรรมจะไม่มีการเปลี่ยนทั้งคนรำ คนเล่นดนตรี แต่จะมีการพักกินข้าวตอนเที่ยงคืน หรือหากเหนื่อยจะหยุดให้พักนอนสักครู่ แล้วร่ายรำต่อจนเช้า

ปัจจุบันเครื่องดนตรีโทนทำได้ไม่ยากนัก เพราะยังสามารถซื้อหาได้จากอำเภอขุขันธ์ที่ยังมีคนผลิตขาย ส่วนปี่นั้นต้องขอให้ผู้รู้ทำให้ เพราะปี่ที่ใช้ในพิธีกรรมเรียกว่า ปี่แม่มด มีเฉพาะที่นี่เท่านั้น ซึ่งในส่วนของปี่บ้านโพธิ์กระสังมี ตาพรมมาเป็นผู้รู้คนสุดท้ายที่เป่าปี่ได้และทำปี่เป็น ภาระในการทำปี่ให้เยาวชนทั้งหมดจึงเป็นของคุณตาพรมมาที่เต็มอกเต็มใจอย่างยิ่งในการถ่ายทอดวิชาความรู้และทำปี่แม่มดให้กับลูกหลานได้ฝึกเรียน

ทัดเล่าว่า เทคนิคการตีกลองโทนที่ได้เรียนรู้จากตาพรมมา ต้องจับจังหวะให้ดี เพราะเสียงกลองที่ตีออกมาจะได้เสียงไม่เหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับน้ำหนักและการตวัดมือของผู้เล่นนั่นเอง

"การตีกลองโทนที่ผู้รู้สอนแรกๆยากพอสมควร เราเก็บข้อมูลเรื่องจังหวะการตี มันจะมีจังหวะ พรึ๊บ ๆ โจ๊ะ จังหวะโจ๊ะ มันจะยากตรงที่ต้องใช้สันมือตี ถ้าใช้มือตีทั้งหมดจะเป็นเสียงธรรมดา ไม่เป็นเสียงโจ๊ะ รวมทั้งผู้เล่นต้องมีสมาธิและมีการทำงานของทีมเวิร์คที่ต้องประสานการเล่นด้วยชั้นเชิงที่ดีเยี่ยม"

ส่วนการรำสะเอง ซึ่งจะเป็นท่ารำเฉพาะตัว ที่ปู่ย่าตายายรำอย่างไรลูกหลานก็รำอย่างนั้น เปรียบเสมือนเป็นมูลมรดกที่สืบทอดให้ลูกหลานต่อไป เช่นเดียวกับผ้านุ่งในการรำที่จะถูกส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ทัดเล่าว่า

"พิธีกรรมสะเนงสะเอง เริ่มตั้งแต่การไปสืบค้นสาเหตุ ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่คนป่วยไปหาหมอแผนปัจจุบันแล้วไม่หาย ก็จะมีการกลับมาถามคนทรง แล้วถ้าคนทรงบอกว่า ผีแถนทำ ให้เราบนด้วยการผูกสายสิญจน์ที่คอขวดแก้ว บอกว่า ถ้าหายถึงจะเล่น ถ้าไม่หาย ไม่เล่น ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเจ็บป่วยเพราะผีแถนทำจริง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคจากกรณีนี้จะเป็นไข้ร้อน ๆ จะเดินไม่ได้ ต้องนอนอยู่บนเสื่อ ถ้าผีแถนทำจริง ๆ ภายใน 3-4 วัน ก็จะขยับตัวได้ เดินได้ เขาก็จะทำพิธีแก้บน โดยใช้วันที่เหมาะสมแก่การประกอบพิธี เมื่อได้วันแล้วต้องไปเชิญแม่ครู หมอโทน หมอปี่ แล้วจึงเตรียมประรำพิธีในบริเวณบ้านผู้ป่วย เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ"

ความเชื่อเกี่ยวกับการเตรียมประรำพิธียังมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆมากมายที่เยาวชนเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ความเชื่อเรื่องพิธีกรรมสะเนงสะเองนั้น ชาวกวยเชื่อถือศรัทธาอย่างหมดจิตหมดใจ เพราะพลังความความเชื่อส่งผลให้กายหายป่วย ทีมงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ก็เชื่อด้วยเช่นกัน เพราะเคยประสบพบเห็นกับตาของตนเองมาแล้ว

"มันมีประโยชน์คือ เป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิต" เว็นบอกถึงประโยชน์ที่ได้รับ การประกอบพิธีสะเนงสะเอง ยังสามารถเป็นอาชีพเสริมได้เหมือนการแพทย์ทางเลือกทั่วไป แม้ว่า โดยส่วนมากแล้วแม่ครู นางรำ และหมอปี่ หมอโทนจะไม่ได้คิดเรื่องการหารายได้จากการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่ทุกครั้งที่ร่วมพิธี ทางเจ้าภาพก็มักมีการสมนาคุณเป็นสินน้ำใจอยู่เสมอ

"การทำพิธีแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท เฉพาะค่าคนเล่นดนตรีเป็นคนบ้านเราก็ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท แต่ถ้าเป็นคนบ้านอื่นมาเล่นจะสูงถึง 7,000 บาทขึ้นไป ไม่เกี่ยวกับสินน้ำใจที่จะมอบให้แม่สะเอง ไม่รวมอุปกรณ์ การเลี้ยงข้าว เหมือนทำบุญ บางครั้งเจ้าภาพที่มีฐานะดีจัดแต่ละทีเป็นแสน" ทัดเล่า พร้อมทั้งยืนยันว่า การได้ศึกษาพิธีสะเนงสะเอง ซึ่งเป็นทุนชุมชนที่เป็นภูมิปัญญาแล้ว ยังสามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และได้ความรู้จากการทำงานกับผู้ใหญ่ในชุมชนด้วย

ด้าน พระครูพิพัฒน์โพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์กระสังข์ ในฐานะพี่เลี้ยงชุมชน เล่าว่า การทำโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เป็นประโยชน์ต่อทั้งชุมชนและเยาวชน ชุมชนได้ผู้สืบทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรม ส่วนเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดปัญหาการแว้นหรือมั่วสุมยาเสพติด การรวมกลุ่มทำงานของเยาวชนยังทำให้เกิดความสามัคคี ซึ่งไม่เฉพาะในกลุ่มเยาวชนเท่านั้น แต่คนในชุมชนที่ช่วยสนับสนุนงานของกลุ่มเยาวชนเองก็ได้เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย

"แม้สะเองจะไม่ใช่ความเชื่อทางศาสนา แต่ก็เป็นความเชื่อที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนชาวกวย ทำให้มีขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิต และประคับประคองชีวิตในอยู่ในเส้นทางแห่งความกตัญญู"

เช่นเดียวกับ นพดล โพธิ์กระสังข์ ผู้ใหญ่บ้านแต้พัฒนา ผู้ที่ได้สัมผัสการทำงานของทีมงานสะท้อนความรู้สึกว่า เป็นเรื่องดีที่เด็กเยาวชนคิดที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนไว้ แม้ว่าการเป็นสะเนงสะเองใช่ว่าใครก็เป็นได้ แต่สิ่งที่เยาวชนช่วยรักษาไว้ได้คือ เรื่องของดนตรีที่บรรเลงในการประกอบพิธีกรรม

"ถ้าสะเองหายไปจากหมู่บ้าน มันก็คงสูญเสียวัฒนธรรมประจำชนเผ่าที่พ่อแม่ตาทวดทำมาตั้งแต่โบราณ เพราะผมเกิดมาก็เห็นเลย แล้วผู้รู้ก็แทบไม่เหลือแล้ว โชคดีที่เด็ก ๆ กลุ่มนี้มีความคิดที่จะอนุรักษ์ประเพณีดังกล่าว"

สายตายามเฝ้ามองการร่ายรำในพิธีกรรมอย่างสนใจ สองมือที่ช่วยตีโทนให้จังหวะแม้จะบวมแดงเหมือนจะเจ็บปวด แต่ไม่ได้ทำให้เยาวชนเลิกราต่อการฝึกฝน การเรียนรู้ลงลึกในสิ่งที่คุ้นเคย นำมาสู่ความรักอย่างลึกซึ้งต่อวัฒนธรรมของชนเผ่าที่บรรพบุรุษถ่ายทอดสืบมา และเกิดสำนึกรักถิ่นกำเนิด ความเชื่อแต่ครั้งเก่าก่อนยังคงยึดโยงให้เสียงดนตรีสะเนงสะเองดังก้องสร้างแรงใจให้ผู้คนในบ้านโพธิ์กระสังข์สืบไป.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ