“ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเชื่อมความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกว่า 180 ปี

ศุกร์ ๒๒ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๗:๐๔
หากใครเคยมีโอกาสล่องเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาชมความสวยงามของ 2 ฝั่งน้ำ ต้องเคยสังเกตเห็นพื้นที่อันเก่าแก่ของตระกูล "หวั่งหลี" ที่ยังหลับใหลอยู่เป็นเวลานาน แต่ใครจะรู้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในนาม ท่าเรือ "ฮวย จุ่ง ล้ง"สถานที่อันเป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์อันรุ่งเรือง ในช่วงยุคทองของการค้าระหว่างไทย-จีน นับแต่นั้นมา เมื่อกาลเวลาผ่านไป การค้าทางเรือถูกเข้ามาแทนที่ด้วยการคมนาคมอื่นๆ ที่ทันสมัยขึ้น ท่าเรือแห่งนี้จึงถูกลดบทบาทลง กระทั่งวันเวลาเดินทางมาถึงวันนี้ "ตระกูลหวั่งหลี" ในฐานะเจ้าของต้องการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน ปลุกชีวิตให้มรดกของบรรพบุรุษที่หลับใหลให้ตื่นคืนชีวิตชีวาอีกครั้ง ในนาม "ล้ง 1919" (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้ก่อตั้งโครงการ รับหน้าที่ในการสร้างสรรค์

หัวเรือใหญ่ คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้ก่อตั้งโครงการ "ล้ง 1919" (LHONG 1919) กล่าวว่า "ด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ และหัวใจอนุรักษ์ ของลูกหลานตระกูล หวั่งหลี นำมาสู่โครงการ"ล้ง 1919" ที่เป็นมากกว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกของครอบครัว อีกทั้ง คือการดำรงรักษามรดกเชิงศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์อันเป็นมรดกของชาติ และมรดกของโลกสืบไป ครั้งนี้ทุกคนในบ้านหวั่งหลีต่างเห็นพ้องกันว่า เป็นหน้าที่ในการปลุก "ฮวย จุ่ง ล้ง" ที่หลับใหลมาเป็นเวลายาวนาน ให้ตื่นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง และในขณะเดียวกัน ก็ยังคงรักษารูปร่างหน้าตาแบบดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งสร้างครั้งแรก เมื่อได้บูรณะขึ้นมาแล้ว เราจึงอยากเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนภายนอก นักเรียน นักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งโครงการนี้เป็นการบูรณะเชิงอนุรักษ์ ที่ยึดหลักการรักษาโบราณสถานให้คงสภาพงดงามตามสภาพให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้วิธีการบูรณะและวัสดุแบบโบราณ เช่น ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังบริเวณรอบวงกบประตูและหน้าต่าง บูรณะด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิมค่อยๆ บรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่เข้าไประบายทับหรือวาดเพิ่มเติม หรืออย่างเช่น การบูรณะผนังอิฐ ส่วนที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนจากธรรมชาติแบบโบราณมาบูรณะช่วงรอยต่อที่แตก เพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเก่า ส่วนโครงสร้างไม้สักนั้น ส่วนไหนที่ชำรุดก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม โดยไม่ทิ้งไม้เก่า เราตั้งใจและทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อให้ "ล้ง 1919" (LHONG 1919) กลายเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยจีน ที่นอกจากจะเป็นความภูมิใจของลูกหลานตระกูลหวั่งหลีเองแล้ว ยังรวมถึงลูกหลานชาวไทยจีนทุกคนด้วย"

คุณรุจิราภรณ์ ฉายภาพย้อนให้ฟังเพิ่มเติมว่า "หากกล่าวย้อนกลับไปถึงยุคทองของการค้าไทย-จีน ต้องมองย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะหลังจากมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดฉากการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยามประเทศ ตั้งแต่นั้นมา พ่อค้าต่างประเทศก็เข้ามาติดต่อค้าขายในประเทศไทยอย่างอิสระ เมื่อมีการเปิดเมืองท่า พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ริเริ่มลงทุนสร้างเรือกลไฟ ซึ่งคือเรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเป็นเชื้อเพลิงมีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในท้องทะเลหรือมหาสมุทร และได้สร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้น เป็นท่าเรือชื่อ "ฮวย จุ่ง ล้ง" เป็นภาษาจีน เขียนว่า ? ? ? หมายถึง "ท่าเรือกลไฟ" สำหรับให้ชาวจีนที่เดินทางทางเรือมาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทยมาเทียบเรือ พร้อมลงทะเบียนชาวต่างชาติที่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะที่ท่าแห่งนี้ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้า ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ โดยจอดเรือที่ท่าเรือด้านหน้า และนำสินค้ามาโชว์ในร้านในอาคาร เหมือนเป็นโชว์รูม ซึ่งนับเป็นท่าเรือกลไฟที่ใหญ่ที่สุดของไทยในสมัยนั้น จนในปี พ.ศ. 2462(ค.ศ.1919) ตระกูล "หวั่งหลี" โดย นายตัน ลิบ บ๊วย ได้เข้ามาเป็นเจ้าของ อาคารท่าเรือ "ฮวย จุ่ง ล้ง" คนใหม่ต่อจาก พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) และได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และโกดังเก็บสินค้า สำหรับกิจการการค้าของตระกูลหวั่งหลี ต่อมาได้ปรับโกดังสำหรับเก็บสินค้าการเกษตรที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานในพื้นที่เรื่อยมา

นอกจากนั้น คุณค่าสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจีนที่นี่ ที่เป็นศูนย์รวมใจ ได้แก่"ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว" (คลองสาน) (MAZU) ที่ประดิษฐานอยู่คู่ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบัน โดยเป็นเจ้าแม่หม่าโจ้วโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำจากไม้ มี 3 ปาง ปางแรกคือปางเด็กสาว ให้พรด้านการขอบุตร ปางที่สองคือปางผู้ใหญ่ ให้พรในด้านการค้าขายเงินทองและ ปางที่สามคือปางผู้สูงอายุ ซึ่งเชื่อว่าท่านประทับอยู่บนสวรรค์ และมีเมตตาจิตสูง ซึ่งทั้ง 3ปางนี้เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐานที่ศาลแห่งนี้ อายุเก่าแก่กว่า 180 ปี เวลาคนจีนเดินทางโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทย ก็จะมากราบสักการะท่าน เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยทำให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีน ก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน เจ้าแม่หม่าโจ้วจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของ คนจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งคนจีนที่ทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากที่นี่

นอกจากคุณค่าในฐานะสถานที่ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยจีนแล้ว ยังเปี่ยมด้วยคุณค่าเชิงสุนทรียะด้านสถาปัตยกรรม "ฮวย จุ่ง ล้ง" ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นและเครื่องหลังคาสร้างจากไม้ เสาสร้างลักษณะป่องกลางที่คนจีนนิยม ลักษณะเป็นหมู่อาคารแบบ "ซาน เหอ หยวน" (? ? ?) ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์ อาคารประธานด้านในเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าหม่าโจ้ว (คลองสาน) ส่วนอาคารอีก 2หลังด้านข้างใช้สำหรับเป็นอาคารสำนักงานและโกดังสินค้า

อีกเสน่ห์ที่พลาดไม่ได้คือ การค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สีที่ฉาบทับไว้ซ้ำไปมาหลายต่อหลายชั้นมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการเขียนสีด้วยพู่กันลงบนผนังปูน จึงทำให้ภาพจิตรกรรมเหล่านั้นยังคงผนึกไว้และไม่ถูกลบหายไป กอปรกับลักษณะการออกแบบและขนาดของแต่ละห้องที่แตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นแหล่งศูนย์ช่างฝีมือของชาวจีนในอดีต

เหตุผลเหล่านี้ทำให้ "ฮวย จุ่ง ล้ง" มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ เพราะนอกจากเป็นการรักษาไว้ซึ่งสมบัติของบรรพบุรุษ และสืบต่อให้ลูกหลานสืบไปแล้ว ยังเป็นสมบัติทางประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เป็นสมบัติของคนไทยด้วย ตระกูลหวั่งหลี ผู้เป็นเจ้าของถือครองตระหนักถึงคุณค่านี้ จึงมีเจตนารมณ์ที่จะรักษามรดกของบรรพบุรุษชิ้นนี้ไว้ให้คงอยู่ตราบนาน โครงการบูรณะ ท่าเรือ"ฮวย จุ่ง ล้ง" ขึ้น จึงได้ริเริ่มขึ้น สำหรับโครงการบูรณะเชิงอนุรักษ์พร้อมพัฒนาและปรับโฉมสู่บทบาทใหม่ ในฐานะ "ล้ง 1919" (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการจัดกิจกรรม นิทรรศการ งานเลี้ยงสังสรรค์ ร้านอาหาร - คาเฟ่ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและงานฝีมือของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่สถานที่พักผ่อน และพิพิธภัณฑ์ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจีนในอดีตบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับโครงการ "ล้ง 1919" ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ LHONG 1919 หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ 091-1871919

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา