ร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ....

ศุกร์ ๑๙ มกราคม ๒๐๑๘ ๑๗:๑๕
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงิน การคลังฯ) ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 2 และ 3 เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 โดยมีสมาชิกเข้าประชุมจำนวน 167 คน ลงมติเห็นด้วย 158 เสียง และงดออกเสียง 9 เสียง

ร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 62 ที่กำหนดให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง โดยกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีกฎหมายหลักเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลังที่ชัดเจน และเป็นการบัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อฐานะทางการเงินและการคลังของประเทศ โดยได้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาวินัยการคลังของรัฐที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เป็นต้น มาบัญญัติรวมกันไว้ในกฎหมายฉบับเดียวโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดนิยามคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ให้หมายถึง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของ

รัฐสภา ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ องค์การมหาชน ทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกประเภทที่จะต้องดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้

2. กำหนดให้มี "คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ" ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน มีปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง การกำหนดสัดส่วนเพื่อเป็นกรอบในการรักษาวินัยการเงินการคลังในด้านต่าง ๆ เช่น กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ กำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ กำหนดสัดส่วนภาระที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ เป็นต้น

3. กำหนดวินัย ในการดำเนินการทางการคลัง และการจัดทำงบประมาณ วินัยด้านรายได้รายจ่าย การบริหารทรัพย์สินของรัฐ การบริหารหนี้สาธารณะ รวมถึงเงินนอกงบประมาณและทุนหมุนเวียนที่สำคัญ เช่น

(1) การจัดสรรงบประมาณ ให้หน่วยงานของรัฐ จะต้องคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจ รวมถึงฐานะเงินนอกงบประมาณ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณรายจ่าย เช่น งบประมาณรายจ่ายลงทุนต้องไม่น้อยกว่าร้อยลยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณประจำปีนั้น เป็นต้น

(2) การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิด ภาระต่องบประมาณหรือการสูญเสียรายได้ ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และต้องคำนึงถึงภาระทางการคลังหรือการสูญเสียรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย และภาระที่รัฐต้องรับชดเชยต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

(3) ห้ามเสนอกฎหมาย ที่มีบทบัญญัติให้จัดเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ยกเว้นกรณีการจัดเก็บเพื่อเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(4) การกันเงินรายได้ (Earmarked Tax) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน เพื่อการหนึ่งการใดเป็นการเฉพาะ จะต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น และจะต้องได้รับ ความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน

(5) การก่อหนี้ผูกพันหรือจ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐต้องอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องคำนึงถึงความโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด

(6) การบริหารหนี้สาธารณะ จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของผู้กู้ ซึ่งต้องทำอย่างรอบคอบ

(7) เงินนอกงบประมาณให้มีเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่และการจัดตั้ง ทุนหมุนเวียนจะกระทำได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเท่านั้น

4. การทำบัญชี รายงาน และการตรวจสอบ กระทรวงการคลังต้องกำหนดมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ในการจัดทำบัญชีและรายงานการเงิน โดยกระทรวงการคลังจะต้องจัดทำรายงานการเงินรวมภาครัฐให้คณะรัฐมนตรีทราบ และต้องเปิดเผยรายงานดังกล่าว ต่อสาธารณชนด้วย

5. การสั่งลงโทษทางปกครองกรณีทำผิดวินัยตามกฎหมายนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐมีการรักษาวินัยการเงินการคลังและดำเนินนโยบายด้านการคลังตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ เมื่อหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการได้ตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามที่กฎหมายกำหนดได้แล้ว ย่อมจะส่งผลให้สถานะการเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพ มั่นคง และยั่งยืน

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3552

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๓๘ Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง