เปิดประวัติบุคคลสำคัญในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ศุกร์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๔๘
จากกระแสละครประวัติศาสตร์เรื่อง "บุพเพสันนิวาส" อันโด่งดัง ละครแนวพีเรียดที่มีเรื่องราวบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีตัวละครสำคัญที่มีอยู่จริง หากใครได้ชม เชื่อว่าต้องรู้สึกคุ้นหูกับชื่อตัวละครบางตัวเป็นแน่แท้ เพราะเราอาจเคยได้ยินชื่อมาตั้งแต่สมัยเรียน บุคคลเหล่านั้นมีความสำคัญอย่างไรในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

เริ่มต้นที่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 4 ของพระราชวงศ์ปราสาททอง และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 27 ของอาณาจักรอยุธยา ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญมากมาย ทั้งด้านการทูต การทหาร ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยา โดยทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมือง เช่น เมืองสิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี เป็นต้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศในพระราโชบายทางคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ รักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติ และรับผลประโยชน์ทั้งทางวิทยาการ และเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามา นอกจากนี้ยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงกวี และงานด้านวรรณคดีอันเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น

ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ณ ราชอาณาจักรศรีอยุธยา ปัญหากิจการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์เป็นไปในทางเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยในขณะนั้น มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย และอยู่ในราชอาณาจักรไทยมากกว่าที่เคยเป็นมาในกาลก่อน ที่สำคัญมากคือ ชาวยุโรปซึ่งเป็นชาติใหญ่มีกำลังทรัพย์ กำลังอาวุธ และผู้คน ตลอดจน มีความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาการต่างๆ เหนือกว่าชาวเอเชียมาก และชาวยุโรปเหล่านี้กำลังอยู่ในสมัยขยายการค้า ศาสนาคริสต์ และอำนาจทางการเมืองของพวกตนมาสู่ดินแดนตะวันออก

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองมาก มีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา ขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตนำโดย เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน

ในรัชสมัยของพระองค์นั้น ชาวฮอลันดาได้กีดกันการเดินเรือค้าขายของไทย ครั้งหนึ่งถึงกับส่งเรือรบมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขู่จะระดมยิงไทย จนไทยต้องผ่อนผันยอมทำสัญญายกประโยชน์การค้าให้ตามที่ต้องการ อันเป็นที่มาของการสร้างเมืองลพบุรีไว้เป็นเมืองหลวงสำรอง อยู่เหนือขึ้นไปจากกรุงศรีอยุธยา และเตรียมสร้างป้อมปราการไว้คอยต่อต้านข้าศึก เป็นเหตุให้บาทหลวงฝรั่งเศสที่มีความรู้ทางการช่าง และต้องการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ได้เข้ามาอาสาสมัครรับใช้ราชการจัดกิจการเหล่านี้ ข้าราชการฝรั่งที่ทำราชการมีความดีความชอบในการปรับปรุงขยายการค้าของไทยขณะนั้นคือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ซึ่งกำลังมีข้อขุ่นเคืองใจกับบริษัทการค้าของอังกฤษที่เคยคบหาสมาคมกันมาก่อน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ จึงดำเนินการเป็นคนกลาง สนับสนุนทางไมตรีระหว่างสมเด็จพระนารายณ์กับทางราชการฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

ฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์กำลังมีพระทัยระแวงเกรงฮอลันดายกมาย่ำยี และได้ทรงทราบถึงพระเดชานุภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในยุโรปมาแล้ว จึงเต็มพระทัยเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้ เพื่อให้ฮอลันดาเกรงขาม ด้วยเหตุนี้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้มีการส่งทูตไปสู่พระราชสำนักฝรั่งเศส และต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสอย่างเป็นงานใหญ่ถึงสองคราว แต่การคบหาสมาคมกับชาติมหาอำนาจคือฝรั่งเศสในยุคนั้นก็มิใช่ว่าจะปลอดภัย ด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราโชบายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์ และประชาชนชาวไทยรับนับถือคริสต์ศาสนา ซึ่งบาทหลวงฝรั่งเศสนำมาเผยแผ่ โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งพระราชสาสน์มาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์เข้ารับ นับถือคริสต์ศาสนาพร้อมทั้งเตรียมบาทหลวงมาไว้คอยถวายศีลด้วย แต่สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างทะนุถนอมไมตรี "ทรงขอบพระทัยพระเจ้าหลุยส์ที่มีพระทัยรักใคร่พระองค์ถึงแสดงพระปรารถนาจะให้ร่วมศาสนาด้วย แต่เนื่องด้วยพระองค์ยังไม่เกิดศรัทธาในพระทัย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะพระเป็นเจ้าประสงค์ที่จะให้นับถือศาสนาคนละแบบคนละวิธี เช่นเดียวกับที่ทรงสร้างมนุษย์ให้ผิดแผกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือทรงสร้างสัตว์ให้มีหลายชนิดหลายประเภทก็ได้ หากพระเป็นเจ้ามี พระประสงค์จะให้พระองค์ท่านเข้ารับนับถือศาสนาตามแบบตามลัทธิที่พระเจ้าหลุยส์ทรงนับถือแล้ว พระองค์ก็คงเกิดศรัทธาขึ้นในพระทัย และเมื่อนั้นแหละ พระองค์ท่านก็ไม่รังเกียจที่จะทำพิธีรับศีลร่วมศาสนาเดียวกัน"

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย

สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมายุ 56 พรรษา

พระเพทราชา หรือ สมเด็จพระเพทราชา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 28 ของอาณาจักรอยุธยาและปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงเป็นพระสหายกับสมเด็จพระนารายณ์มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากพระมารดาของพระองค์เป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้วก็ได้ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสออกไปจากกรุงศรีอยุธยาแต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ แต่มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายอาณาจักรอยุธยาเป็นผู้จัดเรือกับต้องส่งคืนทรัพย์สินที่เป็นของฝรั่งเศสคืนทั้งหมด สำหรับข้าราชการ และราษฎรไทยที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศสสิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหมโดยแบ่งให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหาร และพลเรือนในภูมิภาคนั้น ๆ

นอกจากนี้พระองค์ยังได้เพิ่มจำนวนกำลังทหารให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าในรัชกาลนี้ประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมเจริญสัมพันธไมตรี กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2234 นักเสด็จเถ้าพระเจ้ากรุงกัมพูชาโปรดให้พระยาเขมร 3 คนนำช้างเผือกพังช้างหนึ่งมาถวาย สมเด็จพระเพทราชาพระราชทานชื่อว่าพระบรมรัตนากาศ ชาติคเชนทร์ วเรนทรมหันต์ อนันตคุณ วิบุลธรเลิดฟ้า และพระราชทานผ้าแพรจำนวนมากให้พระยาเขมรนำไปพระราชทานนักเสด็จเถ้า

ต่อมาในปี พ.ศ. 2238 พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์นมาทูลว่าจะถวายพระราชธิดา และขอกรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพไปช่วยป้องกันกรุงศรีสัตนาคนหุตจากกองทัพหลวงพระบาง จึงโปรดให้พระยานครราชสีมานำพล 10,000 ไปกรุงเวียงจันทน์ หลวงพระบางทราบข่าวจึงยอมประนีประนอมกับเวียงจันทน์ เมื่อเรือพระที่นั่งของพระราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมาถึงหน้าวัดกระโจม กรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็มีพระบัณฑูรให้รับพระราชธิดานั้นไว้ที่วังหน้า แล้วเสด็จไปกราบทูลสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเพทราชาก็พระราชทานตามที่ขอ

สมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2246 พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่าสวรรคต ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ขณะครองราชย์ได้ 15 ปี สิริพระชนมายุได้ 71 พรรษา

หลวงสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือคำให้การชาวกรุงเก่าว่า สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2246 - พ.ศ. 2251 ผู้คนในสมัยพระองค์มักเรียกขานพระองค์ว่า พระเจ้าเสือ เพื่อเปรียบว่า พระองค์มีพระอุปนิสัยโหดร้ายดังเสือ พระองค์ทรงมีพระปรีชาด้านมวยไทย โดยทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน และได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจนถึงปัจจุบัน

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระสนม ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพญาแสนหลวง เจ้าเมืองเชียงใหม่ โดยคำให้การขุนหลวงหาวัดออกพระนามว่า พระราชชายาเทวี หรือ เจ้าจอมสมบุญ ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า นางกุสาวดีแต่ในเวลาต่อมา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พระราชทานพระสนมดังกล่าวให้แก่พระเพทราชา เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมช้าง โดยในคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า มีเนื้อหาสอดคล้องกัน กล่าวคือนางเป็นสนมลับของพระนารายณ์แต่แตกต่างกันเพียงชื่อของนาง และเหตุผลในการพระราชทานพระโอรสแก่พระเพทราชา แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ กลับให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดแตกต่างไปจากคำให้การของขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงทำศึกสงครามกับเมืองเชียงใหม่แล้วได้ราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นสนม แต่นางสนมเกิดตั้งครรภ์ พระองค์ได้ละอายพระทัยด้วยเธอเป็นนางลาว พระองค์จึงได้พระราชทานแก่พระเพทราชา ดังความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ ความว่า

"แล้วเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาจากเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์เสด็จทรงสังวาสด้วยพระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนางนั้นก็ทรงครรภ์ขึ้นมา ทรงพระกรุณาละอายพระทัย จึงพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราชา แล้วดำรัสว่านางลาวนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังก็คิดละอายแก่พระสนมทั้งปวง และท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ ณ บ้านเถิด และพระเพทราชาก็รับพระราชทานเอานางนั้นไปเลี้ยงไว้ ณ บ้าน"

โดยเหตุผลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า พระองค์ทรงเกรงว่าพระราชโอรสองค์นี้จะคิดกบฏชิงราชสมบัติอย่างเมื่อคราวพระศรีศิลป์ ส่วนคำให้การของขุนหลวงหาวัดว่า พระองค์ทรงต้องรักษาราชบัลลังก์ให้กับพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีเท่านั้น

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าเสือได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาได้ตำแหน่งเป็นหลวงสรศักดิ์ สมัยสมเด็จพระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ให้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งหวังจะได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระเพทราชา แต่สมเด็จพระเพทราชากลับทรงโปรดปรานเจ้าพระขวัญ พระราชโอรสของพระองค์ และสมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุวรรณ กรมหลวงโยธาทิพแถมมีผู้คนมากมายต่างพากันนับถือ ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ เกิดความหวาดระแวงว่าราชสมบัติจะตกไปอยู่กับเจ้าพระขวัญ จึงลวงให้เจ้าพระขวัญมาสำเร็จโทษด้วยไม้ท่อนจันทร์ เมื่อสมเด็จพระเพทราชาซึ่งทรงประชวรทรงทราบทรงพระพิโรธกรมพระราชวังบวรฯ เป็นอันมากแลตรัสว่าจะไม่ยกราชสมบัติให้แก่กรมพระราชวังบวรฯ แล้วทรงพระกรุณาตรัสเวนราชสมบัติให้เจ้าพระพิไชยสุรินทร พระราชนัดดา หลังจากนั้นสมเด็จพระเพทราชาทรงสวรรคต เจ้าพระพิไชยสุรินทรทรงเกรงกลัวกรมพระราชวังบวรฯ จึงไม่กล้ารับ และน้อมถวายราชสมบัติแด่กรมพระราชวังบวรฯ เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ได้ขึ้นครองราชสมบัติ พระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ราชาภิเษก พ.ศ. 2246 มีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเพชร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) และเจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) มีพระสมัญญานามว่า "เสือ" ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็น หลวงสรศักดิ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาแล้ว

ทรงมีความเด็ดขาดในการมีรับสั่งให้ผู้ที่ปฏิบัติงานใดต้องสำเร็จผลเป็นอย่างดี หากบกพร่องพระองค์จะมีรับสั่งให้ลงโทษ ไม่เฉพาะข้าราชบริพารเท่านั้น แม้พระราชโอรสทั้งสองก็เช่นกัน อย่างเช่น ในการเสด็จไปคล้องช้างที่เมืองนครสวรรค์ มีรับสั่งให้เจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรตัดถนนข้ามบึงหูกวาง โดยถมบึงส่วนหนึ่งให้เสร็จภายในหนึ่งคืน พระราชโอรสดำเนินงานเสร็จตามกำหนด แต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ช้างทรงตกหลุม ทรงลงพระราชอาญาเจ้าฟ้าเพชร แต่ภายหลังก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

โกษาเหล็ก หรือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) นิยมเรียกสั้นๆ ว่า "โกษาเหล็ก" เป็นหนึ่งในเสนาบดีคนสำคัญที่สุดของสมเด็จพระนารายณ์ มีความใกล้ชิดกับพระองค์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เนื่องจากมารดาของท่านคือเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์ ท่านได้ดำรงตำแหน่ง "โกษาธิบดี" จุตสดมภ์กรมพระคลัง ทำหน้าที่ดูแลการคลังและกิจการต่างประเทศของราชสำนัก รับผิดชอบหัวเมืองชายทะเลตั้งแต่เพชรบุรีไปถึงตะนาวศรี นอกจากนี้ยังเป็นขุนศึกคู่พระทัย ได้เป็นแม่ทัพใหญ่ในสงครามหลายครั้ง ทั้งสงครามตีเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๒๐๕) สงครามกับพม่า (พ.ศ. ๒๒๐๗) และสงครามกับล้านช้าง (พ.ศ. ๒๒๑๓ – ๒๒๑๖) หลักฐานร่วมสมัยของต่างประเทศหลายชิ้นระบุว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นอัครมหาเสนาบดีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในราชสำนัก มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมีความสามารถ และเนื่องจากรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ไม่ทรงตั้งตำแหน่งจักรีหรือสมุหนายก เนื่องจากทรงเห็นว่ามีอิทธิพลมากเกินไป โปรดตั้งเสนาบดีให้ว่าที่ไปเป็นครั้งคราวเท่านั้น ก็ปรากฏว่าโปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ว่าที่จักรีในบางครั้งด้วย

นิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise) มิชชันนารีฝรั่งเศสซึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาช่วง ค.ศ. ๑๖๘๑ ถึง ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๔ ถึง พ.ศ. ๒๒๒๘) ได้กล่าวถึงท่านไว้ว่า "ท่านเป็นสหายร่วมนมกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยาม จึงได้รับพระมหากรุณาทรงใช้สอยใกล้ชิดพระองค์มาก กอปรด้วยเป็นผู้มีจริยวัตรและสติปัญญาอันเลิศ ฉะนั้นเมื่อรับราชการอยู่ในราชสำนักได้ไม่นาน ก็ได้รับตำแหน่งพระคลัง ซึ่งท่านก็ได้ปฏิบัติราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณได้อย่างเหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่ทุกประการ จนในลางครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหน้าที่จักรีให้ปฏิบัติจัดทำด้วย โดยทรงพิจารณาเห็นว่าไม่มีบุคคลอื่นใดที่เหมาะสมแก่ตำแหน่งเท่าท่านผู้นี้เลย ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมท่ามกลางชื่อเสียงอันหอมหวนว่า เป็นผู้มีความสามารถปราดเปรื่องและดำเนินรัฐประศาสโนบายได้อย่างยอดเยี่ยมในรอบศตวรรษ" แต่ว่าท่านกลับถูกสมเด็จพระนารายณ์ลงพระราชอาญาอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้ถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. ๒๒๒๖

โกษาปาน หรือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (พ.ศ. 2176–2242) เป็นข้าราชการในอาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นเอกอัครราชทูตคนสำคัญที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229 ปานเป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต (บัว) ซึ่งเป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์ กับขุนนางเชื้อสายมอญ เชื้อสายของพระยาเกียรดิ์ พระยาราม เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเอกาทศรถ นอกจากนี้ เขายังเป็นปู่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปานได้บรรดาศักดิ์ ออกพระวิสุทธิสุนทร และได้รับแต่งตั้งเป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในสมัยดังกล่าวฝรั่งเศสมีอิทธิพลในราชสำนักของพระนารายณ์มาก จุดประสงค์ของฝรั่งเศส คือ เผยแพร่คริสต์ศาสนา และพยายามให้พระนารายณ์เข้ารีตเป็นคริสตชน รวมทั้งพยายามมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยาด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอกและเมืองมะริด คณะทูตไปฝรั่งเศสดังกล่าว ประกอบด้วย ปาน เป็นราชทูต, ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต, และออกขุนศรีวิศาลวาจา เป็นตรีทูต พร้อมทั้งบาทหลวงเดอ ลีออง และผู้ติดตาม รวมกว่า 40 คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 ณ พระราชวังแวร์ซาย และเดินทางกลับเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2230 ปานเป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกสิ่งที่พบเห็นในการเดินทาง ในการเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คณะทูตอยุธยาได้รับการยกย่องชื่นชมจากชาวฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายตะวันออกแต่งทูตไปยังฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงรับรองคณะทูตอย่างสมเกียรติยศ โปรดให้ทำเหรียญที่ระลึกและเขียนรูปเหตุการณ์เอาไว้

ว่ากันว่า โกษาปานเป็นต้นตระกูลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพราะเป็นบิดาของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) ซึ่งภายหลังเข้ารับราชการกับพระเจ้าเสือ และยังเป็นปู่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ออกญาโหราธิบดี เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในแวดวงวรรณกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ทั้งนี้ "พระโหราธิบดี" มิใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ พระโหราธิบดี เป็นตำแหน่งอธิบดีแห่งโหร หรือโหรหลวงประจำราชสำนัก อีกทั้งยังเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นหัวหน้าการประกอบพิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์อีกด้วย ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่เป็นผู้รู้หนังสือรวมถึงรอบรู้สรรพวิทยาต่างๆ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระโหราธิบดีท่านนี้เป็นชาวเมืองพิจิตร นับถือกันว่าทำนายแม่นยำ เคยทายจำนวนหนูที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองครอบไว้อย่างถูกต้อง และเคยทายว่าไฟจะไหม้ในพระราชวังในสามวัน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อจึงเสด็จไปอยู่นอกวังและปรากฏเป็นจริงดังทำนายเกิดฟ้าผ่าต้องหลังคาพระมหาปราสาททำให้ไฟไหม้ลามไปเป็นอันมาก พระโหราธิบดีเป็นที่รู้จักกันในฐานะของการเป็นผู้ประพันธ์ จินดามณี ในปี พ.ศ. 2215 ซึ่งเป็นหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทย มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่อง การใช้สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การแจกลูก การผันอักษร อักษรศัพท์ อักษรเลข การสะกดการันต์ ฯลฯ และจากการที่จินดามณีเป็นแบบเรียนของไทย ทำให้มีหนังสือแบบเรียนไทยในยุคต่อๆ ไป รวมถึงเป็นบิดาของศรีปราชญ์กวีเอกคนสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสันนิษฐานว่าพระโหราธิบดีคงถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2223

ขุนศรีวิสารวาจา หรือ หมื่นสุนทรเทวา ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญทางการทูต และได้ร่วมอยู่ในคณะทูตที่ไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2229 โดยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เหตุที่ออกขุนศรีวิสารวาจาได้รับแต่งตั้งเป็นตรีทูตไปฝรั่งเศส เดอ วีเซ ได้บรรยายไว้ว่า "ที่จริงท่านยังหนุ่มมากอยู่ ความสามารถยังมิได้ปรากฏขึ้นที่ไหน แต่อาศัยเหตุที่บิดาของท่านเคยเป็นราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีที่พระราชสำนักปอร์ตุคาลมาแล้ว จึงนับเหมือนว่าท่านเป็นเชื้อชาติราชทูต พระเจ้ากรุงสยามจึงทรงแต่งตั้งให้เป็นตรีทูตมาเพื่อดูแลการงานเมือง คล้ายๆ กับให้มาฝึกซ้อมมือซ้อมใจให้เป็นราชทูตตามตระกูลต่อไปข้างหน้า" จึงสันนิษฐานว่าออกขุนศรีวิสารวาจาและบิดาน่าจะรับราชการอยู่ในกรมพระคลังหรือกรมท่า ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการต่างประเทศเหมือนกัน ตามปกติของขุนนางไทยสมัยโบราณที่บิดามักถ่ายทอดความรู้ราชการในกรมที่รับผิดชอบให้บุตร เมื่อบุตรเติบใหญ่ก็มักได้รับราชการในกรมเดียวกับบิดา จึงได้ทำหน้าที่เป็นทูตไปต่างประเทศเหมือนบิดา

คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เชื้อสายกรีก และเวนิสเริ่มเข้าทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ออกเดินเรือสินค้าไปค้าขายยังแดนต่างๆ จนกระทั่งถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยความสามารถพิเศษทางด้านภาษาต่างประเทศทำให้ฟอลคอนเข้ารับราชการในตำแหน่งล่ามซึ่งถือเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่เข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา ภายหลังสมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดให้เป็นหลวงวิชาเยนทร์และมีบรรดาศักดิ์ต่อมาจนได้เป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์

พ.ศ. 2218 ฟอลคอนเดินทางมายังราชอาณาจักรอยุธยาในฐานะพ่อค้า เนื่องจากฟอลคอนมีความสามารถพิเศษในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอย่างง่ายดาย ฟอลคอนจึงเรียนรู้การใช้ภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วในเวลาไม่กี่ปีและเข้ารับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในตำแหน่งล่าม นับเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่เข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา เป็นตัวกลางการค้าระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศส ฟอลคอนได้กลายมาเป็นสมุหเสนาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาในเวลาอันรวดเร็ว

พ.ศ. 2225 ฟอลคอน แต่งงานกับ ดอญา มารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า) ซึ่งภายหลัง เป็นผู้ประดิษฐ์ขนมไทยหลายอย่าง

ภายหลังเมื่อพระเพทราชากุมอำนาจการสำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ก็จับกุมเจ้าพระยาวิชเยนทร์และผู้ติดตามรวมถึงราชนิกุลองค์ต่าง ๆ และนำไปประหารชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 ในวัยเพียง 40 ปี เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบถึงเหตุดังกล่าว พระองค์ทรงกริ้วมาก แต่ไม่มีพระวรกายแข็งแรงเพียงพอที่จะทำการใด ๆ และเสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่วันต่อมา บรรดาขุนนางได้อัญเชิญ พระเพทราชา ขึ้นครองราชย์โดยการปราบดาภิเษก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม หรือ สมเด็จพระเพทราชา และปกครองโดยมีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติ ส่งผลให้เกิดการขับไล่ชาวต่างชาติแทบทั้งหมดออกจากราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

การตีความกันไปต่าง ๆ นานาถึงเหตุจูงใจที่ทำให้สมเด็จพระเพทราชาสั่งจับกุมและประหารชีวิตเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ยังหาข้อสรุปมิได้ นักประวัติศาสตร์ที่เห็นด้วยกับการกระทำของพระองค์มองเจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่าเป็นชาวต่างชาติที่ฉวยโอกาสมาใช้อิทธิพลเข้าควบคุมราชอาณาจักรในนามของผลประโยชน์จากชาติตะวันตก แต่นักประวัติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นแพะรับบาป เป็นช่องว่างให้สมเด็จพระเพทราชาสามารถเข้ายึดอำนาจจากองค์รัชทายาทได้ โดยนำเอาความริษยาและความระแวงที่มีต่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์มาเป็นมูลเหตุสนับสนุน

ความใกล้ชิดระหว่างเจ้าพระยาวิชเยนทร์และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทำให้เกิดความริษยาขึ้นในหมู่ราชนิกุล ซึ่งส่งให้เกิดผลเสียต่อตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์เองในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคต ก็มีข่าวลือว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ต้องการใช้องค์รัชทายาทเป็นหุ่นเชิด และเข้ามาเป็นผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเสียเอง ซึ่งแม้เหตุดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็เป็นข้ออ้างให้พระเพทราชาซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่พอใจกับนโยบายด้านต่างประเทศที่ส่งผลให้มีชาวต่างชาติมาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากมาย วางแผนให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปประทับที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ในลพบุรี และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ไว้ใจมอบอำนาจการสำเร็จราชการแผ่นดินให้พระเพทราชาใน พ.ศ. 2231

ตองกีมาร์ หรือ ท้าวทองกีบม้า Dona Marie Gemard de Pina เรียกสั้น ๆ ว่า มารี กีมาร์ ซึ่งชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า ท้าวทองกีบม้า มีบิดาเป็นญี่ปุ่นผสมแขก มารดาเป็นญี่ปุ่นผสมโปรตุเกส ซึ่งล้วนตั้งถิ่นฐานอยู่ในศรีอยุธยา หลังจากที่ซามูไรเดินทางเข้ามาเป็นทหารอาสาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในช่วงที่ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ของญี่ปุ่นเรืองอำนาจ ได้มีการจับกุม บาทหลวงเผยแพร่ศาสนา ชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ มีการกำจัด และลงโทษขับไล่ออกจากญี่ปุ่น ยายของมารี กีมาร์ก็ถูกขับไล่ ถูกจับใส่กระสอบนำมาลงเรือที่นางาซากิ เนรเทศไปอยู่เวียดนาม ซึ่งมีชาวคริสต์อยู่กันมากจึงได้พบกับตาของ มารี กีมาร์ ซึ่งเป็นเจ้าชายของญี่ปุ่นซึ่งเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์เช่นกัน และได้แต่งงานกันเมื่อถึงปลายทาง มีชีวิตยากจนในระยะแรก ต่อมามีฐานะดีขึ้น มีชาวญี่ปุ่นเข้ารีตเดินทางมากรุงศรีอยุธยา ตา และยายของ มารี กีมาร์ ได้เข้ามาอยู่ศรีอยุธยาเพราะเป็นประเทศที่มีชื่อว่าร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ และไม่รังเกียจคนต่างศาสนา และใช้วิตอยู่จนสิ้นชีวิต

มารี กีมาร์ มีรูปโฉมงดงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจชายหนุ่มชาวยุโรปในกรุงศรีอยุธยา เป็นคนมีจิตใจงดงามซื่อสัตย์ ใจบุญสุนทาน มีเมตตา ดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของความดีงามมาโดยตลอด เป็นคาธอลิคที่เคร่งครัด เป็นผู้มีความอดทนเป็นเลิศ แม้จะเผชิญทุกข์ยากแสนสาหัสเพียงใด ก็ยืดหยัดสู้ไม่ยอมท้อถอย ความเป็นผู้มีจิตใจสูงส่ง และมีน้ำใจเมตตากรุณาปรานี ทำให้เป็นที่รักของคนทั่วไป ในขณะมีชีวิต มารี กีมาร์ ไม่ได้คิดแค่ความสุขส่วนตน หากแต่ห่วงใยไปถึงผู้อื่นด้วย ยังรับอุปการะเด็กกำพร้าและลูกทาสที่เป็นลูกครี่งซึ่งมีแม่เป็นชาวพื้นเมือง พ่อเป็นชาวยุโรป ถูกบิดาทอดทิ้งอยู่กับมารดา ซึ่ง มารี กีมาร์ ได้ให้ความอุปการะหลายคนมารี กีมาร์ ได้แต่งงาน กับคอนแสตนตินฟอลคอน เชื้อสายกรีกที่เข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยาได้รับการโปรดปรานจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยู่ที่เมืองลพบุรี ชีวิตสมรสของ มารี กีมาร์ ไม่ราบรื่นนัก ด้วยคอนแสตนตินฟอลคอน มีนิสัยเจ้าชู้เลี้ยงดูหญิงสาวไว้หลายคนก่อนแต่งงาน แต่ส่งไปอยู่เมืองพิษณุโลก ส่วนลูกนั้น มารี กีมาร์ นำมาเลี้ยงเองเนื่องจากเธอเป็นคนใจบุญสุนทาน และแม้ว่าเมื่อแต่งงานแล้ว ฟอลคอนก็ยังนอกใจอยู่เสมอ การเป็นภรรยาขุนนางที่มีตำแหน่งสูง ทำให้ มารี กีมาร์ ต้องต้อนรับแขกที่เดินทางมาเป็นพระราชอาคันตุกะ และแขกในหน้าที่ราชการของสามี ต้องตกแต่งบ้านเรือนให้สมฐานะแบบตะวันตก ทำให้กลายเป็นผู้มีความรู้ในการปรุงอาหารหน้าที่การงานของ คอนแสตนตินฟอลคอน เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก รวมทั้งทำการค้าควบคู่ไปด้วย และฟอลคอน ก็ให้ความเกรงอกเกรงใจ มารี กีมาร์ เป็นอย่างมากก่อนแต่งงาน ฟอลคอน นับถือศาสนาโปรแตสแต้นท์ และยอมเปลี่ยนศาสนาเป็นคาธอลิค เพื่อหาทางใกล้ชิดราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาฟอลคอน ได้รับตำแหน่งสมุหนายก อัครมหาเสนาบดี แต่ไม่กี่วันต่อมาก็ถูกจับข้อหากบฏพร้อมชาวคริสต์ และชาวฝรั่งเศส ถูกเรียกตำแหน่งคืน และริบทรัพย์ (เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสิ้นพระชนม์ และสมเด็จพระเพทราชาปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์) มารี กีมาร์ บุตรชาย 2 คน ญาติ และคนในบ้านถูกจับ และถูกโบยให้บอกที่ซ่อนสมบัติ และถูกจองจำที่คอกม้า ครอบครัวของฟอลคอน ถูกลดฐานะเป็นทาส ฟอลคอนถูกประหารชีวิต มารี กีมาร์ ถูกนำกลับกรุงศรีอยุธยา หลวงสรศักดิ์เกิดความพอใจ มารี กีมาร์ แต่ มารี กีมาร์ ไม่ยินยอม พาบุตรชายลอบหนีจากกรุงศรีอยุธยา ไปที่ป้อมบางกอกที่ตั้งของกองทหารฝรั่งเศสเพื่อขอให้ส่งตัวไปอยู่ฝรั่งเศส แต่หัวหน้ากองทหารฝรั่งเศสเห็นควรส่งตัวคืนมาที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับตัว มารี กีมาร์ กลับด้วยความเมตตา มารี กีมาร์ ถูกคุมขังอยู่ 2 ปี จึงได้รับการปลดปล่อย และให้ไปพักอาศัยอยู่ในค่ายโปรตุเกส มีหน้าที่ทำอาหารคาวหวานประเภทเครื่องกวนต่าง ๆ ส่งเข้าวังตามกำหนด มารี กีมาร์ จำต้องประดิษฐ์ คิดค้นตำรับปรุงอาหาร ชนิดใหม่ ๆ ตลอดเวลาการถูกลดเป็นทาสนั้น มารี กีมาร์ ไม่ได้รับความเดือดร้อนนัก ยังมีเกียรติ และได้รับความยุติธรรมต่าง ๆ ยังได้รับเงินค่าหุ้นของฟอลคอนจากบริษัทฝรังเศส หลังจากที่ มารี กีมาร์ ร้องทุกข์ไปยังพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ชีวิตของมารี กีมาร์ กลับฟื้นคืนดีได้อีกครั้งด้วยมีฝีมือในการปรุงอาหารคาวหวาน ได้เข้ารับราชการในพระราชวังตำแหน่งหัวหน้าห้องเครื่องต้น ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง เป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์และเก็บผลไม้ของเสวย มีพนักงานใต้บังคับบัญชา 2 พันคน มารี กีมาร์ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ชื่นชมยกย่องระหว่างรับราชการประจำห้องเครื่องต้นนี่เอง ที่ มารี กีมาร์ ได้สอนการทำขนมหวาน จำพวก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองพลุ ทองโปร่ง ขนมผิงและอื่น ๆ ให้แก่ผู้ร่วมทำงาน ซึ่ง สาว ๆ เหล่านั้นได้นำมาถ่ายทอดต่อยังครอบครัวของตัวเอง และกระจายไปในหมู่คนไทย มาจนในปัจจุบันมารี กีมาร์ ที่คนไทยรู้จักคือ ท้าวทองกีบม้า มีชีวิตอยู่ 4 แผ่นดิน คือรัชกาลสมเด็จพระนารายณย์มหาราช สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเจ้าเสือ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ โดยใช้ชีวิตที่สงบสุข สบายพอสมควร กลางวันไปทำงานในพระราชวัง เย็นกลับมาบ้านพักในค่ายโปรตุเกส อยู่กับหลาน ๆ ไปสวดมนต์ที่โบสถ์ ไปเยี่ยมญาติพี่น้องในเวลาว่างแม้ว่า มารี กีมาร์จะเป็นชาวต่างชาติ แต่ก็เกิด เติบโต แต่งงาน และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยจนสิ้นชีพ มีสิ่งที่ตกทอดมาให้คนไทยรุ่นหลัง คือขนมหวาน ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง โดยดัดแปลงตำรับเดิมของโปรตุเกส และเอาวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีในสยามเข้ามาผสมผสาน ซึ่งหลักๆได้แก่ มะพร้าว แป้งและน้ำตาล จนทำให้เกิดขนมใหม่ที่มีรสชาติอร่อย เช่น ทองม้วน สังขยา ขนมผิง กะหรี่ปั๊บ และขนมหม้อแกงที่ท้าวทองกีบม้าคิดค้นขึ้นจากไข่ขาว เดิมเรียกว่า ขนมกุมภมาศ หรือขนมหม้อทอง

ออกหลวงศรียศ มีศักดิ์เป็นหลานตาของเจ้าพระยาบวรราชนายก หรือนามเดิมคือ เฉกอะหมัด เฉกอะหมัดเป็นชาวเปอร์เซียที่เข้ามารับราชการในอยุธยา ดูแลกรมท่าขวาที่ดูแลการค้าขายกับฝ่ายเปอร์เซียและแขก เป็นปฐมจุฬาราชมนตรีคนแรกและเป็นต้นสกุลบุนนาคอีกด้วย ส่วนหลวงศรียศนั้นได้เริ่มรับราชการโดยถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนได้เป็นหลวงศรียศ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 2 ต่อจากตาด้วย โดนรั้งตำแหน่งนี้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา

เป็นขุนนางคนสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช และได้ร่วมกับขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ และหมื่นราชเสน่หา (นอกราชการ) ร่วมก่อการโค่นอำนาจขุนวรวงศาธิราชและนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ หลวงศรียศ เกิดที่บ้านลานตากฟ้า แขวงเมืองนครสวรรค์ แต่เมื่อใดและมีนามเดิมว่าอย่างไรไม่ปรากฏ ปรากฏตัวครั้งแรกในพระราชพงศาวดารเมื่อได้เข้าร่วมกับสมเด็จพระชัยราชาธิราชก่อการรัฐประหารสมเด็จระรัษฎาธิราชกุมารในปี พ.ศ. 2077 จนปี พ.ศ. 2091 เมื่อพระยอดฟ้า พระราชโอรสของพระชัยราชาซึ่งครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาเมื่อปี พ.ศ. 2089 ได้ถูกแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราชปลงพระชนม์ด้วยการวางยาพิษในพระกระยาหารเช่นเดียวกับพระราชบิดา หลวงศรียศจึงได้ร่วมมือกับขุนนางอีก 3 ท่านโค่นอำนาจของขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์พร้อมกับทูลอัญเชิญพระเฑียรราชา พระราชอนุชาต่างพระราชมารดาของสมเด็จพระชัยราชาธิราช ซึ่งผนวชอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน ขึ้นครองสิริราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หลวงศรียศจึงได้รับการปูนบำเหน็จเป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม พร้อมกับพระราชทานลูกพระสนมองค์หนึ่งให้เป็นภรรยาและเครื่องประดับยศอีกมากมาย หลวงศรียศ หรือเจ้าพระยามหาเสนาบดีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อใดไม่ปรากฏแต่หายสาบสูญไปในการกบฏของพระศรีศิลป์

ศรีปราชญ์ เป็นบุคคลซึ่งเอกสารพม่า และมอญที่เขียนจากคำบอกเล่าระบุว่า เป็นข้าราชสำนักสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) แห่งกรุงศรีอยุธยา ถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช และถูกเจ้าเมืองประหาร ก่อนตายแช่งเจ้าเมืองให้ตายด้วยดาบเดียวกัน และภายหลังก็เป็นไปตามนั้น เรื่องราวของเขาได้รับการดัดแปลงและขยายความอย่างมากในเวลาต่อมา โดยระบุว่า เป็นข้าราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ เป็นบุตรชายของพระโหราธิบดี มีความสามารถทางร้อยกรอง และไปเสียชีวิตที่นครศรีธรรมราชเหมือนในเอกสารเดิม เขายังได้รับการนำเสนอว่า เป็นกวีเอกและบุคคลสำคัญของชาติไทย

เรื่องราวของศรีปราชญ์ปรากฏในเอกสารพม่าซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้มาจากหอพระสมุดแห่งมัณฑะเลย์เมื่อ พ.ศ. 2454 ทรงเชื่อว่า เขียนขึ้นจากการสอบปากคำชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกจับไปเป็นเชลยเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จึงให้แปลออกเป็นภาษาไทยและใช้ชื่อว่า คำให้การชาวกรุงเก่า เอกสารนี้ระบุว่า ศรีปราชญ์เป็นบุคคลที่พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ทรงชุบเลี้ยงไว้ เพราะเขารอบรู้ทางศาสนาและโหราศาสตร์ ทั้งยังเก่งทางโคลงกลอน เขาแต่งร้อยกรองถวายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีเป็นที่พอพระทัยเสมอ แต่เขาแอบแต่งเพลงยาวหาสนมนางหนึ่งของพระองค์ เมื่อทรงจับได้ ก็มิได้ฆ่า เพราะเสียดายความสามารถ ทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราชแทน แต่ศรีปราชญ์เป็นคนเจ้าชู้ ไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไปแต่งเพลงยาวหาภรรยาเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงให้ฆ่า คนทั้งหลายห้ามไว้เจ้าเมืองก็ไม่ฟัง ก่อนตายศรีปราชญ์แช่งไว้ว่า "ดาบที่ฆ่าเรานี้ภายหลังจงกลับฆ่าคนที่ใช้ให้ฆ่าเราเถิด" ต่อมา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงรำลึกถึงศรีปราชญ์ ทรงให้เรียกตัวกลับกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารแล้ว ก็มีท้องตราออกไปให้ประหารเจ้าเมืองด้วยดาบเดียวกับที่ใช้ประหารศรีปราชญ์

เอกสารอีกฉบับที่ปรากฏเรื่องศรีปราชญ์ คือ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อว่า มีที่มาเดียวกับ คำให้การชาวกรุงเก่า แต่ คำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นภาษามอญ และรัชกาลที่ 4 ทรงให้แปลออกเป็นภาษาไทย เอกสารนี้ระบุว่า พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรดมหาดเล็กคนหนึ่งเพราะมีฝีมือทางร้อยกรอง จึงประทานนามให้ว่า ศรีปราชญ์ แต่ศรีปราชญ์แต่งโคลงหานางใน จึงทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไปแต่งโคลงหาอนุภรรยาของเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงให้เอาไปฆ่า ก่อนตายศรีปราชญ์แช่งไว้ว่า "เรานี้เป็นปราชญ์หลวง แล้วก็เป็นลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตริย์ยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เป็นเจ้าเมืองนคร จักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยดาบเจ้าเมืองนคร สืบไปเบื้องหน้าขอให้ดาบนี้คืนสนองเถิด" แล้วเขียนโคลงแช่งลงพื้นดินไว้ให้ประจักษ์ ต่อมา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงให้เรียกตัวเขากลับ แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารเสียแล้ว ก็มีรับสั่งให้เอาดาบที่ใช้ประหารศรีปราชญ์นั้นประหารเจ้าเมืองตามไป

อนึ่ง เดิมเชื่อว่า เขาเป็นผู้ประพันธ์ร้อยกรองเรื่อง กำสรวลศรีปราชญ์ นอกเหนือไปจากเรื่องอื่น ๆ แต่ปัจจุบันมีข้อเสนอว่า เป็นพระนิพนธ์ของพระบรมราชาที่ 3 พระโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลก

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์เห็นว่า เขาไม่มีตัวตนจริง เพราะปราศจากการบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้เขายังน่าจะเป็นเพียงตัวละครเอกในเรื่องเล่าขานของชาวบ้าน ทำนองเดียวกับศรีธนญชัย โดยทั้งศรีปราชญ์และศรีธนญชัยน่าจะรับมาจากนิทานอินโดนีเซียหรือเปอร์เซีย ศรีปราชญ์เป็นตัวแทนความซื่อตรง ศรีธนญชัยเป็นตัวแทนความคดโกง

มาร่วมย้อนกาลเวลา สู่กรุงศรีอยุธยา ในงาน "ออเจ้า ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช" น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมเรียนรู้เรื่องราว ของบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้มีบทบาทสำคัญในยุคนั้น ภายใต้บรรยากาศการจำลองสถานที่สำคัญ วิถีชีวิต และเหตุการณ์อย่างสมจริง เสมือนยืนอยู่ในครั้งอดีต พร้อมอิ่มอร่อยกับ เมนูเด็ด! ตามรอยละครบุพเพสันนิวาส และขนมไทยตำรับโบราณจาก "ท้าวทองกีบม้า" ตั้งแต่วันนี้ - 20 พฤษภาคม ศกนี้ ณ บริเวณลานน้ำพุ ชั้น 1 ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ถนนศรีนครินทร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.0-2721-8888 หรือ www.seaconsquare.com, www.facebook.com/SeaconSquareFanPage, Line:@seaconsquare, Instagram: seaconsquare

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา