รัฐชูสหกรณ์เป็นกลไกปฏิรูปภาคการเกษตร ดึงทุกภาคส่วนร่วมกันยกระดับสหกรณ์การเกษตรให้เข้มแข็งเพื่อช่วยดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกร

อังคาร ๑๔ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๐:๕๔
การปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์ นับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทย จนเป็นแรงส่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นั่นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามดำเนินนโยบายหลายอย่างผ่านรูปแบบการทำงานของสหกรณ์ โดยปักธงไปที่ "สหกรณ์ภาคการเกษตร" เป็นหลัก เพราะมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนคนไทยในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มีอยู่ค่อนประเทศ ตัวอย่างเช่น...

การจัดสรรเงินอุดหนุนจากงบกลางปี 2561 ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตการเกษตรของสหกรณ์ การสนับสนุนให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือก ผ่านมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2561/62 การส่งเสริมปลูกพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แม้กระทั่งการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการขยายช่องทางตลาดสินค้าการเกษตร

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นสนับสนุนและเสริมศักยภาพการดำเนินงานของสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้ประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์คช็อปการปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์ โดยเชิญ สหกรณ์การเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกว่าเป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็ง มีมาตรฐานในการบริหารจัดการในระดับดีเด่น และมีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรวบรวมผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ผลไม้ โคเนื้อ นม และสินค้าแปรรูป รวม 777 แห่ง เข้าร่วมรับฟังนโยบายจาก "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี พร้อมระดมสมองจากทุกภาคส่วนในการหาทางยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปภาคการเกษตร

"สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีว่า รัฐบาลต้องการให้ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมกันทำให้สหกรณ์เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพราะสหกรณ์ถือเป็นกลไกที่จะพัฒนาภาคการเกษตรได้อย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่อาจมองข้ามความสำคัญของสหกรณ์ไป ดังนั้น จึงอยากให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมมือพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ให้เป็นกำลังสำคัญของสังคม ที่จะทำให้ภาคเกษตรของไทยดีขึ้น โดยเชื่อว่า ปัจจุบันนี้สหกรณ์มีศักยภาพและความสามารถสูงพอที่จะเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรของประเทศได้

"สหกรณ์บ้านเรามีประมาณ 4,000 แห่ง ที่เชิญมาวันนี้คือสหกรณ์ที่เข้มแข็งพอสมควรแล้ว และเป็นความหวังของภาคการเกษตรของประเทศ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังอ่อนแออยู่ ถ้าทำคนเดียวขายคนเดียว ย่อมไม่มีทางที่จะแข็งแรงได้ แต่ถ้าเราร่วมกันทำ ทำให้ทันสมัย ก็จะสร้างความเข้มแข็งได้ เชื่อว่าสหกรณ์เหล่านี้จะเป็นตัวอย่างให้สหกรณ์ที่ยังไม่เข้มแข็งได้เดินรอยตามและเข้ามาร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ ซึ่งการได้มาพบกับตัวแทนสหกรณ์วันนี้ เพื่อมาทำความเข้าใจว่ารัฐบาลอยากให้สหกรณ์ทำอะไร แล้วสหกรณ์มีอะไรให้รัฐบาลช่วย รัฐบาลยินดีช่วยเต็มที่ และวันนี้ประเทศไทยนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ความมั่นใจทางเศรษฐกิจในวันนี้กำลังกลับคืนมา โลกต้อนรับเรา"

รองนายกรัฐมนตรี ฉายภาพให้เห็นว่า ประชากรของไทย 20 ล้านคนอยู่ในภาคการเกษตร แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ในภาคการเกษตรต่ำกว่า 10% อำนาจซื้อก็ไม่มี ทำให้ไทยต้องเน้นผลิตเพื่อส่งออก เมื่อผลิตเพื่อส่งออก คนที่มีรายได้จริงๆ อยู่ในคนเพียงกลุ่มเดียว ทำให้รายได้กระจุกตัวไม่สามารถกระจายสู่คนระดับฐานรากได้ ขณะเดียวกันทรัพยากรมนุษย์นับว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของประเทศ ฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เกษตรกรเป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ เพื่อทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น

"อนาคตของเกษตรกรไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรายย่อย แต่ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของสหกรณ์ ถ้าสหกรณ์เข้มแข็ง เกษตรกรรายย่อยจะไปได้ดี ฉะนั้นโฟกัสจะต้องอยู่ที่สหกรณ์ ส่วนบัตรสวัสดิการประชารัฐไม่ใช่การลดแลกแจกแถมแต่คือการประคับประคองกลุ่มที่ด้อยโอกาสทางสังคม ที่ไม่มีใครช่วย รัฐบาลจึงต้องบรรเทาและประคองให้คนจนอยู่ต่อไปได้ รัฐบาลต้องดูแล แต่ก็คงเป็นแบบชั่วคราวไม่สามารถช่วยให้ยั่งยืนตลอดไปได้ แต่ต้องพัฒนาให้คนยากจนสามารถลุกขึ้นยืนเองได้ ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร"

สำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร ล่าสุดมีข้อมูลเชิงพื้นที่ทั่วทั้งประเทศแล้วว่า แต่ละพื้นที่ควรปลูกอะไร โดยไม่จำเป็นต้องเน้นการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเริ่มต้นโดยใช้หลักการตลาดนำ การผลิต เจ้าภาพเรื่องนี้ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องช่วยกันชี้เป้าว่าแต่ละพื้นที่ปลูกอะไรได้บ้างและปลูกในปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นจึงให้สหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิต รวบรวมและแปรรูปเพิ่มมูลค่า รวมถึงหาตลาดจัดจำหน่าย ซึ่งคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561 นี้ เป็นต้นไป

แต่อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงต้องมีกลุ่มคนที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงและเริ่มสิ่งใหม่ ซึ่งก็คือสหกรณ์ทั้ง 777 แห่ง ที่จะต้องไปหาทางพัฒนาสมาชิกให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยพัฒนา หาองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก โดยต้องการให้สหกรณ์จะเป็นความหวังของเกษตรกร

พร้อมกันนี้ยังต้องการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชน เข้ามาช่วยร่วมมือกับสหกรณ์ เพื่อวางแนวทางร่วมกันเพื่อปฏิรูปการเกษตร ดึงเทคโนโลยีมาใช้และเรียนรู้ด้านการตลาดค้าขายผ่านเวปไซด์ ผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ หรือร่วมกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ในการสร้างตลาด บางสหกรณ์มีสมาชิกเป็นหมื่นคน ก็ควรสร้างเวปไซด์ขายสินค้าหรือจับมือกับไปรษณีย์จัดส่งสินค้าสหกรณ์ถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ

ขณะนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยสนับสนุนสหกรณ์สร้างเวปไซด์ขายสินค้า ระบบโลติสติกต์ต้องพัฒนาขึ้นมา โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่เข้ามาช่วย เรื่องระบบดิจิทัล เพื่อผลักดันให้สหกรณ์ 4,000 แห่ง สามารถค้าขายผ่านเวปไซด์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือหลักการปฏิรูปโครงสร้างภาคการเกษตรของประเทศ และเป็นทิศทางใหม่ในการดำเนินงานของสหกรณ์ในโลกยุคปัจจุบัน

นายสมคิด กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินงานปี 2562 ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์คิดโครงการพัฒนาสหกรณ์ ให้เข้มแข็ง โดยสหกรณ์ที่จะตั้งใหม่ อาจต้องดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาสหกรณ์ โดยมีธกส.เข้ามาช่วยสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์ให้มากขึ้น และมองว่าสหกรณ์คือความหวังใหม่ของประเทศ ถ้าตั้งใจจะพัฒนาอย่างจริงจังและทำให้ดี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้แน่นอน รัฐบาลเหลือเวลาอีก 7 เดือน และจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันสร้างสหกรณ์ให้เข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ