สำนักรักษาความสะอาดเสนอโครงการธนาคารขยะ แก้ปัญหาขยะในกรุง

พุธ ๑๙ ธันวาคม ๒๐๐๑ ๑๑:๐๑
กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.44 เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร นายพิชัย ไชยพจน์พานิช ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กทม. เป็นประธาน แถลงข่าว “จันทร์ละหน คนกับข่าว” เรื่องภารกิจ และโครงการที่สำคัญของสำนักรักษาความสะอาด โดยมีนายวัฒนา ล้วนรัตน์ นายธีระชัย เธียรสรรชัย รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด ร่วมแถลงข่าว
โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย
ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวว่า กรุงเทพมหานครใช้รถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 5 ตัน สำหรับเก็บขนมูลฝอย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 1,205 คัน ใช้งานอยู่ใน 50 สำนักงานเขต ซึ่งรถฯ ดังกล่าวมีอายุการใช้งานประมาณ 7 ปี ขณะนี้มีรถที่มีอายุใช้งานเกินกว่า 7 ปี (นับถึงสิ้นสุดปีงบประมาณ 2543) จำนวน 323 คัน รถเหล่านี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเสียบ่อย และไม่มีรถสำรอง ซึ่งมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะตามกำหนดนัด ทั้งนี้อาจรวมไปถึงความไม่ครอบคลุมในการวางแผนการเส้นทางรถเก็บขนมูลฝอย
กรุงเทพมหานครจึงมีความจำเป็นต้องจัดหารถใหม่มาทดแทน แต่การจัดหารถใหม่ในคราวเดียวจำนวน 323 คัน ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และมีภาระผูกพันในการดูแลบำรุงรักษา จัดรถสำรอง ดังนั้นแนวคิดเช่ารถแทนการจัดซื้อเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครได้นำมาพิจารณา ทั้งนี้เพื่อตัดภาระในการบำรุงรักษาและหารถสำรอง โดยให้เอกชนรับภาระไปทั้งหมด โดยกำหนดว่าถ้ากรุงเทพมหานครจะใช้รถ ผู้รับจ้างต้องจัดหาให้ตรงจำนวนที่ต้องการใช้ และมีจำนวนรถที่แน่นอนในแต่ละวันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะมูลฝอยให้เป็นไปตามเป้าหมาย และเวลาที่กำหนดอย่างชัดเจน ส่งผลให้การวางแผน วางเส้นทางในการเดินรถเก็บขนมูลฝอยเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถเพิ่มเที่ยววิ่งได้ อีกทั้งเป็นการลดอัตรากำลังในการดูแลรักษารถฯ ลง เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้เวลาไปสำรวจ วางแผนเส้นทางรถเก็บขนมูลฝอย ให้เส้นทางสั้นที่สุด เพื่อที่จะสามารถเพิ่มเที่ยววิ่งได้อีกอย่างน้อยวันละ 2 เที่ยว ซึ่งมีผลทำให้จำนวนรถที่จะใช้มาเก็บขยะลดลง โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้รถเพียง 262 คัน จากเดิม 323 คัน
สำนักรักษาความสะอาดจึงได้จัดทำโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย จำนวน 262 คัน ใช้งานในพื้นที่ 18 เขต แยกเป็นฝั่ง ธนบุรี 8 เขต และฝั่งกรุงเทพ 10 เขต โดยกำหนดให้จอดรถที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยหนองแขม และสถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช คาดว่าจะประกวดราคาได้ประมาณเดือน ก.พ.45 ใช้เวลาส่งมอบรถและก่อสร้างสถานีจอดรถ ประมาณ 6 เดือน เริ่มทำงานได้ประมาณเดือน ต.ค.45
สร้างสุขาใหม่ไฮเทคบริการคนกรุง
ในส่วนเรื่องของงานบริการสุขาสาธารณะ สำนักรักษาความสะอาดได้จัดให้มีสุขาสาธารณะบริการสำหรับชาย — หญิง และคนพิการ โดยจัดสร้างเป็นสุขาสแตนเลส ที่ถูกสุขลักษณะ จำนวน 39 แห่ง โดยเปิดให้ใช้บริการเวลา 06.00-22.00 น. ของทุกวัน ขณะนี้ได้เปิดประกวดราคาให้เอกชนเข้ามาดูแลรักษาความสะอาด และได้บริษัทผู้รับจ้างแล้ว ซึ่งประชาชนสามารถใช้บริการได้ฟรีถึง ก.พ.45 หลังจากนั้นจะเก็บค่าบริการจำนวนครั้งละไม่เกิน 2 บาท เพื่อใช้เป็นค่าดูแลรักษาให้คนกรุงเทพฯได้มีสุขาสาธารณะที่สะอาดต่อไป อีกทั้งยังมีโครงการสุขาสาธารณะระบบไฮเทค ซึ่งเป็นนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่จะให้มีการติดตั้งสุขาสาธารณะจำนวน 72 แห่ง เพื่อบริการประชาชนและนักท่องเที่ยว และคนพิการที่สัญจรผ่านไปมา โดยคิดค่าบริการครั้งละไม่เกิน 2 บาท
ลักษณะของสุขาระบบไฮเทคนั้น เป็นระบบออโตเมติก ใช้ได้ทั้งชายหญิงและคนพิการ มีระบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ สามารถล้างความสะอาดภายในห้องสุขาด้วยระบบอัตโนมัติเช่นเดียวกับต่างประเทศ โดยจะเปิดให้มีการประมูล โดยบริษัทเอกชนในเร็ว ๆ นี้ ด้านการกำจัดสิ่งปฏิกูล ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลจำนวน 2 แห่ง คือ โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลอ่อนนุช โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลหนองแขม ทั้ง 2 แห่งสามารถกำจัดสิ่งปฏิกูลได้วันละ 600 ลบ.ม. โดยโรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลทั้ง 2 แห่ง สามารถผลิตตะกอนสิ่งปฏิกูลได้ประมาณวันละ 10-15 ตัน/วัน ซึ่งสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ จะนำไปตากแห้ง และแจกจ่ายให้กับทางสำนักงานเขต โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และสำนักงานสวนสาธารณะของแต่ละเขต เพื่อนำไปผสมเป็นปุ๋ยและใช้บำรุงต้นไม้ต่อไป ในการนี้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของกากตะกอนสิ่งปฏิกูลกับเศษกิ่งไม้ ที่ตัดทิ้งในแต่ละวันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัด สิ่งปฏิกูลเหล่านี้สามารถนำมาผสมกันและผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายที่จะสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยจากตะกอนสิ่งปฏิกูล ร่วมกับเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ณ โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลอ่อนนุชและหนองแขม ที่มีกำลังผลิตปุ๋ยได้แห่งละ 30 ตัน/วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างประกาศประกวดราคา
สร้างเครือข่ายธุรกิจธนาคารขยะทั่วกรุง
ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวอีกว่า สำนักรักษาความสะอาดได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการลดปริมาณขยะ โดยพยายามรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในกรุงเทพมหานคร ด้วยการลดปริมาณและคัดแยกมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2541 และในปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดที่จะสร้างเครือข่ายธุรกิจขยะขึ้นโดยจัด ตั้งศูนย์รับซื้อขายขยะขึ้นในชุมชน ซึ่งศูนย์รับซื้อขายขยะดังกล่าวจะดำเนินการโดยคณะกรรมการที่สรรหามาจากประชาชนในชุมชนนั้น ๆ ในระยะเริ่มแรกกรุงเทพมหานครจะเสนอของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 54,000 ล้านบาทของ รัฐบาล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ หลังจากนั้นศูนย์รับซื้อขายขยะจะต้องดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการด้วยรายได้ของตัวเอง ในการนี้กรุงเทพมหานครกำหนดจัดตั้งศูนย์รับซื้อขายขยะ จำนวน 10 ศูนย์ ในแต่ละศูนย์จะมีศูนย์รับซื้อขายขยะย่อย ในเครือข่ายของตนเอง 30 ศูนย์ย่อย ซึ่งจะทำให้มีธนาคารขยะอยู่ในพื้นที่กทม.ทั้งหมด 300 ธนาคาร ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจการรับซื้อขายขยะเป็นไปอย่างครบวงจร โดยมีศูนย์รวบรวมขยะไปขายให้กับบริษัทแปรรูปขยะโดยตรงไม่ต้องผ่านซาเล้ง และพ่อค้าคนกลางอีกหลายต่อ ทำให้ขยะรีไซเคิลมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้การจัดตั้งเครือข่ายธุรกิจขยะดังกล่าวยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยประสานงานและติดตามประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ ซึ่งเครือข่ายธุรกิจขยะนี้จะส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดแยกมูลฝอยแล้วนำมาขายเป็นรายได้ของตนเอง นอกจากนี้จะยังเป็นการช่วยลดปริมาณมูลฝอยที่กรุงเทพมหานครต้องจัดการ ลดงบประมาณของกรุงเทพมหานครที่ต้องใช้ในการจัดการมูลฝอย รวมทั้งยังเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองอีกด้วย ขณะนี้โครงการสร้างเครือข่ายธุรกิจขยะอยู่ระหว่างการรออนุมัติ งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล โดยศูนย์ย่อยจะใช้งบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ละ 2 หมื่นบาท ส่วนศูนย์ใหญ่ต้องการเงิน หมุนเวียนศูนย์ละ 2-3 แสนบาท และขอสนับสนุนงบประมาณในการจ้างพนักงานประจำศูนย์ในปีแรก เมื่อศูนย์มีรายได้ในปีต่อ ๆ ไป ธนาคารขยะแต่ละแห่งก็จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง
กำหนดหลักเกณฑ์การจัดการมูลฝอย ให้ประชาชนทิ้งขยะถูกที่ ถูกเวลา
สำนักรักษาความสะอาดได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของอาคาร สถานที่ และสถานบริการสาธารณสุข พ.ศ….. โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวจะกำหนดข้อบังคับในการทิ้งขยะของประชาชน ทั้งเรื่องประเภทขยะ เวลาทิ้ง จุดทิ้ง และที่รองรับขยะ ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในปี 2545 สำหรับสาระสำคัญของข้อกฎหมายนี้ได้แก่ 1. คำจำกัดความของมูลฝอย สิ่งปฏิกูล อาคาร และสถานที่ ซึ่งครอบคลุมถึงสถานบริการสาธารณสุข 2. ให้อำนาจในการกำหนด บริเวณพื้นที่ใด อาคารหรือสถานที่ประเภทใด ต้องแยกมูลฝอยก่อนที่เจ้าหน้าที่จะมาทำการเก็บขนฯ 3. กำหนดประเภทของมูลฝอยที่จะแยกทิ้งเป็นมูลฝอยทั่วไป มูลฝอยที่ย่อยสลายได้ หรือมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ มูลฝอยอันตราย และมูลฝอยติดเชื้อจากสถานบริการการสาธารณสุข 4. กำหนดวันหรือเวลาที่จะนำมูลฝอยจากอาคารหรือสถานที่ไปวางหรือใส่ไว้ ณ สถานที่หรือในภาชนะที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดหรือจัดไว้ให้ 5. เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ ต้องใส่มูลฝอยในถุงพลาสติกหรือถุงที่กรุงเทพมหานครกำหนดและนำไปใส่ในที่รองรับมูลฝอย หรือจุดที่กรุงเทพมหานครหรือเอกชนผู้ที่รับอนุญาตกำหนด 6. กรณีที่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร สถานพยาบาล อาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารที่มีมูลฝอยตั้งแต่ 1 ลบ.ม. ขึ้นไป/วัน จะต้องจัดให้มีที่พักรวมมูลฝอยที่มีขนาดและจำนวนเพียงพอที่จะรองรับมูลฝอยจากอาคารหรือสถานที่นั้น ได้ในปริมาณ 3 วัน โดยต้องเป็นที่พักมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ 7. กรณีมูลฝอยติดเชื้อจะต้องมีการออกข้อกำหนดบังคับให้มีการแยกทิ้งลงในภาชนะรองรับมูลฝอยติดเชื้อ และเก็บรวบรวมยังที่พักรองรับมูลฝอยโดยแยกออกจากมูลฝอยประเภทอื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค 8. กำหนดให้มีการจัดการสิ่งปฏิกูลโดยต้องมีส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพียงพอแก่การใช้งาน เพื่อรองรับการเก็บขนฯจากเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครหรือเอกชนผู้ได้รับอนุญาต และห้ามมิให้มีการปล่อยหรือระบายอุจจาระหรือปัสสาวะลงท่อระบายน้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ
นำ GIS ช่วยจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะ
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีภารกิจหน้าที่ในการเก็บขนมูลฝอยประมาณ 9,200 ตัน/วัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากภารกิจหน้าที่ดังกล่าวทำให้กรุงเทพมหานครต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บขนมูลฝอยระหว่างปี 2538-2542 เฉลี่ยปีละประมาณ 1,300 ล้านบาท แต่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ได้เป็นเงินเฉลี่ยปีละประมาณ 60 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 5 % ของค่าใช้จ่ายในการเก็บขนมูลฝอย และจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ได้ประมาณ 20 % ของจำนวนหลังคาเรือนในกทม. ซึ่งจากการขาดความสมดุลในด้านรายรับและรายจ่ายในส่วนนี้ทำให้กรุงเทพมหานครต้องรับภาระค่าใช้จ่ายโดยใช้เงินรายได้ส่วนอื่นมาชดเชยเฉลี่ยปีละ ประมาณ 1,240 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอย โดยการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic information System: GIS) มาใช้เป็นเครื่องมือประกอบการจัดทำแผนที่บ้านเรือนและสถานประกอบการในพื้นที่ของแต่ละสำนักงานเขต เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยขณะนี้ทุกสำนักงานเขตได้ดำเนินการจัดทำแผนที่บ้าน สถานประกอบการที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมฯ รวมทั้งเส้นทางวิ่ง (Route) ของรถเก็บขนมูลฝอยเสร็จแล้วทั้ง 50 เขต โดยรถแต่ละคันจะมีแผนที่และบัญชีบ้านที่ต้องไปจัดเก็บประจำรถ ภายหลังเริ่มโครงการในปีงบประมาณที่ผ่านมา (1 ต.ค. - 30 ก.ย.44) สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว คือ จัดเก็บได้ 106 ล้าน จากที่เคยเก็บได้ 62 ล้าน ในปี 43 สำหรับในปีงบประมาณ 2545 นี้ กทม.มีแผนจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ให้ครอบคลุม 80 % ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะทำให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมได้สูงถึง 200 ล้านบาท โดยไม่เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ พ.ค. สุรีย์พร คลินิก เปิดตัวตึกสูงที่สุดแห่งวงการคลินิกสถาบันเสริมความงาม ฉลอง 20 ปีความสำเร็จพร้อมยกระดับชูเทคโนโลยีล้ำสมัย Volformer
๑๗ พ.ค. ปตท.สผ. จัดงานประชุม SSHE Forum 2024 ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน
๑๗ พ.ค. บมจ. เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) แนะนำ ชุดล็อคประตูกลอนแม่เหล็กไฟฟ้า จากแบรนด์ HIP
๑๗ พ.ค. ซัมซุง อัปเกรดประสบการณ์การชมทุกมหรรมกีฬา ด้วยนวัตกรรม AI TV สุดล้ำ ชัดทุกแมตซ์เหมือนเชียร์ติดขอบสนาม
๑๗ พ.ค. ไทยพาณิชย์ปักหมุดผู้นำดิจิทัลแบงก์ นำ AI เสริมแกร่ง 360 องศา เปิด 3 นวัตกรรม AI ครั้งแรก! สร้างปรากฏการณ์ใหม่กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ Digital
๑๗ พ.ค. หัวใจเต้นช้า โรคหัวใจที่มักถูกมองข้าม
๑๗ พ.ค. DDD โชว์งบ Q1/67 กวาดกำไรทะยาน 317% YoY พร้อมลุยขยายตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ อัพผลงานปีนี้โตสวย
๑๗ พ.ค. PCC เปิดงบ Q1/67 รายได้โต 14.25% ยอดขายสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า - อุปกรณ์ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพิ่มขึ้น มั่นใจรายได้ปีนี้โต 10%
๑๗ พ.ค. บางจากฯ สานต่อพันธกิจสนับสนุนด้านกีฬาอย่างเป็นมิตรต่อโลก ร่วมจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง Olympic Day 2024 Together, For A Better
๑๗ พ.ค. บัตรเครดิต ttb ช้อปคุ้ม อิ่มครบ ได้มากกว่า รับ Magic Gift Voucher รวมมูลค่าสูงสุด 1,500 บาท ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้ง 5