จุดอ่อนน้ำท่วมซ้ำซาก 6 จุดสุดท้ายในกทม. ได้รับการแก้ไขให้พร้อมรับหน้าฝนแล้ว

จันทร์ ๐๓ กรกฎาคม ๒๐๐๐ ๐๙:๐๓
กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--กทม.
ที่บริเวณหน้าศูนย์การค้าโซโก้ อัมรินทร์ ดร.พิจิตต รัตตกุล รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว “การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 6 จุดสุดท้ายของกทม.” โดยมีนายธงชัย กลั่นกรอง ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยทีมงานระบายน้ำของกทม. ร่วมแถลงข่าว จากนั้นได้ออกตรวจความพร้อมของบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือในการปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วม ที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ลิโด้ สยามสแควร์ ถนนพระราม 1 ซึ่งเป็น 1 ใน 6 จุดที่ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขให้พร้อมรับปัญหาน้ำท่วมแล้ว
รักษาการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อช่วงปลายปี 2539 ที่ตนได้เข้ามาบริหารงานกทม. ขณะนั้นกรุงเทพฯ มีจุดอ่อนที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก 25 จุด จึงได้ดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้จุดน้ำท่วมซ้ำซากเหล่านั้นลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2541 ลดเหลือ 18 จุด ปี 2542 ลดเหลือ 11 จุด จนถึงขณะนี้ทุกจุดได้รับการแก้ไขให้พร้อมรับปัญหาน้ำท่วมแล้ว
รักษาการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้กรุงเทพฯมีพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ บริเวณถนนพระราม 6, ถนนศรีอยุธยา, ถนนพหลโยธิน (สนามเป้า) กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ถนนพระราม 6 (ตลาดประแจจีน), ถนนพญาไท (กรมปศุสัตว์), ถนนเพชรบุรี แยกวิทยุ และแยกมิตรสัมพันธ์ กลุ่มที่ 3 ถนนพระราม 1(สนามกีฬา-สยามสแควร์), ถนนเพลินจิต และถนนวิทยุ กลุ่มที่ 4 บริเวณถนนกำแพงเพชร 3, ถนนพหลโยธิน(สามแยกเกษตร) และหมู่บ้านเมืองทองธานี กลุ่มที่ 5 ถนนรามคำแหง, ถนนลาดพร้าว (ช่วงคลองยายเผื่อนถึงแยกบางกะปิ) และกลุ่มที่ 6 ถนนศรีนครินทร์, ถนนสุขุมวิท (ช่วงจากสี่แยกบางนาถึงคลองสำโรง) ซึ่งทั้ง 6 กลุ่มดังกล่าวได้รับการแก้ไขด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยจุดใดที่ยังไม่มีสถานีสูบน้ำก็ก่อสร้างสถานีสูบน้ำขึ้นมาใหม่ จุดใดที่มีบ่อสูบน้ำอยู่แล้วแต่กำลังสูบยังไม่มากพอก็เพิ่มจำนวนเครื่องสูบน้ำที่มีกำลังสูบสูงขึ้น รวมทั้งขยายขนาดท่อระบายน้ำ ตลอดจนสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ หรือท่อลอดขนาดใหญ่เพื่อลำเลียงน้ำได้สะดวกขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาโดยการปิดล้อมพื้นที่ที่เป็นปัญหาป้องกันน้ำจากภายนอกไม่ให้ไหลเข้ามาแล้วเร่งระดมสูบน้ำออกจากพื้นที่ ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในจุดที่ท่วมลดแห้งลงอย่างรวดเร็ว
รักษาการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่าพื้นที่ซึ่งเคยมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทั้ง 6 กลุ่มดังกล่าวจะหมดไป เพราะการดำเนินการต่างๆ ของกทม. จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ไม่ต่ำกว่า 95% ซึ่งหมายถึงจากนี้ไปจะสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนขนาด 60-70 มม. ได้โดยไม่มีปัญหา และหากฝนตกหนักมากถึงขั้นที่เรียกว่า “ฟ้ารั่ว” ปริมาณน้ำฝนเกิน 60-70 มม. ก็จะสามารถเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้แห้งได้ภายใน 60-90 นาที จากเดิมที่ใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมง จึงจะทำให้น้ำแห้งได้ อย่างไรก็ตามยังมี 2 จุดย่อยที่น่าเป็นห่วงซึ่งจำเป็นจะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น คือ จุดสามแยกเกษตร เนื่องจากมีการก่อสร้างถนนสายใหม่ขึ้นมา ขณะที่ระบบท่อระบายน้ำเดิมเป็น 3 แยก เมื่อเกิดเป็น 4 แยก จึงต้องเพิ่มท่อระบายน้ำขึ้นด้วย นอกจากนี้บริเวณซอยลาซาล ถ.สุขุมวิท มีน้ำจากสมุทรปราการเข้ามา แต่ไม่สามารถใช้ระบบปิดกั้นได้ เพราะจะทำให้ชาวสมุทรปราการเดือดร้อน จึงต้องใช้วิธีสูบน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาที่จะทำให้น้ำแห้งลงได้ อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นกทม. ได้เพิ่มจำนวนเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว
สำหรับจุดอ่อนน้ำท่วมกลุ่มถนนพระราม 1 บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติและสยามสแควร์ และถนนเพลินจิต ถนนวิทยุ นั้น เป็นหนึ่งใน 6 กลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้รับการแก้ไขโดยการเพิ่มเครื่องสูบน้ำในบ่อสูบน้ำข้างช่างกลปทุมวัน โดยใช้เครื่องกำลังสูบ 1 ลบ.ม./วินาที พร้อมสร้างท่อระบายน้ำถนนพระราม 1 จากที่แยกราชประสงค์ถึงถนนอังรีดูนังต์ และหน้าโรงภาพยนตร์ลิโด รวมทั้งสร้างและปรับปรุงท่อลอดถนนพญาไทให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จาก 40 มม. เป็น 80 มม. นอกจากนี้ได้สร้างท่อลอดถนนวิทยุบริเวณแยกเพลินจิต สร้างบ่อสูบน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำกำลังสูบสูงที่ถนนวิทยุตอนลงคลองแสนแสบ ตลอดจนสร้างบ่อสูบน้ำถนนชิดลมตอนคลองแสนแสบพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำกำลังสูบสูง และสร้างท่อลอดถนนชิดลมบริเวณบ่อสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังได้อย่างรวดเร็ว--จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน