อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากปล่อยทิ้งไว้อาจถึงแก่ชีวิต

จันทร์ ๒๖ มีนาคม ๒๐๐๑ ๑๐:๓๑
กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--เบรคธรู พีอาร์
แพทย์เตือนคนไทยเอาใจใส่หัวใจให้มากขึ้น ชี้อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่ง ที่อาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน แนะให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อแก้ไขแต่เนิ่นๆ เผยวิทยาการสมัยใหม่รักษาให้หายขาดโดยใช้คลื่นไฟฟ้าความถี่สูง โรงพยาบาลในเมืองไทยก็รักษาได้
รศ. นายแพทย์เกียรติชัย ภูริปัญโญ แพทย์ที่ปรึกษา และรองผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพ กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นโรคหัวใจหรือไม่" ที่โรงพยาบาลกรุงเทพจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นภาวะหรือโรคที่มีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ อาจช้าหรือเร็วกว่าคนปกติซึ่งมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 60-100 ครั้งต่อนาที มีจังหวะสม่ำเสมอ และมักไม่รู้สึกถึงการเต้นของหัวใจ ยกเว้นเวลานอนตะแคง บางครั้งอาจรู้สึกว่าหัวใจเต้นตุบๆ ในคนที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ น้อยรายที่รู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นสะดุด หรือวูบหายไป อาจรู้สึกใจสั่น หรือมีอะไรมาตอดที่บริเวณหัวใจ หรือหัวใจเต้นแรงกว่าปกติ บางครั้งเต้นเร็ว จนทำให้มีการสั่นบริเวณหน้าอก ถ้าหัวใจเต้นเร็วหรือช้ามากๆ อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ หัวใจวาย หรือเสียชีวิตโดยเฉียบพลัน
รศ. นายแพทย์เกียรติชัยกล่าวว่า อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะถือเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่ง อาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ, หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ และหัวใจเต้นช้า-เร็วผิดจังหวะ สาเหตุเกิดจากมีจุดหรือบางตำแหน่งในหัวใจที่กำเนิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติ หรือมีจุดวงจรลัดไฟฟ้าเล็กๆ ภายในหัวใจ เนื่องจากความผิดปกติดังกล่าวมีขนาดเล็ก จึงไม่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งแตกต่างจากโรคหัวใจชนิดอื่นที่มักจะมีพยาธิสภาพขนาดใหญ่ เช่น ที่ลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจ และพบร่วมกับการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งมักเป็นมาตั้งแต่เกิด แต่โดยทั่วไปมักแสดงอาการเมื่ออายุ 20-40 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะกำเริบ เช่น การออกกำลังกาย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ยาบางชนิด ความเครียด ความวิตกกังวล กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
สำหรับผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพบแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ในกรณีมีอาการวูบ เป็นลม หมดสติ หรือมีอาการใจสั่นอย่างรุนแรง หรือเหนื่อยมาก ขณะที่มีอาการควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เรียกว่า ECG หรือ Electrocardiogram ซึ่งจะพบความผิดปกติเมื่อผู้ป่วยมีอาการขณะตรวจ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการขณะตรวจอาจไม่พบความผิดปกติทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ในกรณีเช่นนี้แพทย์อาจใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า Holter Monitoring ซึ่งเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่สามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าในเครื่องเล่นเทปหรือแผ่นดิสก์ ขนาดเล็กเท่ากับหรือเล็กกว่าเครื่องเล่นเทปหรือ CD แบบพกพา ผู้ป่วยสามารถพกพาเครื่องดังกล่าว ในการดำเนินชีวิตตามปกติ เครื่องจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อนำไปวิเคราะห์จะสามารถวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้แน่นอนขึ้น
"ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหลายๆ วันเป็นครั้ง การตรวจคลื่นไฟฟ้าแบบพกพาติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง อาจไม่พบความผิดปกติ เนื่องจากใน 24 ชั่วโมงที่ตรวจนั้นหัวใจเต้นปกติ ในกรณีเช่นนี้อาจใช้การตรวจที่เรียกว่า Transtelephonic Monitoring โดยใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา ให้ผู้ป่วยวางไว้บริเวณหน้าอกและกดปุ่มเพื่อให้เครื่องบันทึกเฉพาะเมื่อมีอาการ เครื่องมือ ดังกล่าวจะสามารถบันทึกข้อมูลได้นาน 4-5 นาทีติดต่อกันและสามารถส่งผลผ่านโทรศัพท์ไปเพื่อบันทึกเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ จึงเรียกว่า Transtelephonic" รศ. นายแพทย์เกียรติชัย กล่าว
สำหรับการรักษา หากผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง อาจไม่ต้องรักษา แต่ให้พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ความเครียด ยาบางชนิด ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น และถ้ามีอาการพอสมควร อาจพิจารณารักษาด้วยการรับประทานยา
ในกรณีหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะเกิดจากทางลัดวงจรไฟฟ้า ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ถึงร้อยละ 95 โดยจี้ด้วยคลื่นไฟฟ้าความถี่สูงผ่านสายสวนหัวใจ การรักษาดังกล่าวใช้วิธีการเจาะหลอดเลือดบริเวณต้นขา สอดสายสวนหัวใจเข้าไปหาตำแหน่งได้แล้วก็ผ่านกระแสไฟฟ้าความถี่สูงเท่าคลื่นวิทยุผ่านสายสวนหัวใจไปยังตำแหน่งดังกล่าว กระแสไฟฟ้าอ่อนๆ นั้นจะถูกเปลี่ยนให้เป็นพลังงานความร้อนและทำให้อุณภูมิที่ปลายสายสวนหัวใจเพิ่มขึ้นจาก 37 เป็น 55 (เท่ากับน้ำอุ่นๆ) ทำให้ทางลัดวงจรไฟฟ้าดังกล่าวถูกทำลายไป ปัจจุบัน การรักษาวิธีนี้สามารถทำได้ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในประเทศไทย ผู้ป่วยร้อยละ 90-95 สามารถหายขาดได้โดยไม่ต้องรับประทานยาอีกเลย และมีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาต่ำเพียงร้อยละ 1-2 ในขณะรักษาผู้ป่วยมักไม่เจ็บปวด เนื่องจากให้ยานอนหลับ โดยพักในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนเท่านั้น
เสนอข่าวในนามโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยเบรคธรู พีอาร์
รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
คุณศิริพร ศรีสันต์ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 310-3000 ต่อ 1196
คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง เบรคธรู พีอาร์ โทร. 719-6446-8--จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๒ ดั๊บเบิ้ล เอ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับสถานีสุขภาพชุมชน จ.ปราจีนบุรี
๑๗:๒๓ ลานิญ่า (La Ni?a) กำลังมาแทนเอลนิโญ่ (El Ni?o) เราจะตั้งรับอย่างไร
๑๗:๐๒ ม.รำไพฯ ร่วมโครงการเสริมสร้างบ้านเมืองสุจริต
๑๗:๑๘ วว. จัดอบรมหลักสูตรเทคนิคการผลิตผลไม้แช่อิ่มอบแห้ง/ยืดอายุการเก็บรักษา
๑๗:๐๖ งานสัมมนาออนไลน์ The Role HR to the future for Big change
๑๗:๒๗ KGI ร่วมกับ Settrade เปิดตัวแอป AomWise ในงาน SET in the City 2024 นำแพลตฟอร์มยกระดับการลงทุนไทย
๑๗:๐๗ กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมเชื่อมโยงการดำเนินการคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และแปลงใหญ่ ระดับประเทศ ครั้งที่
๑๗:๒๙ สมาคมดิจิทัลเพื่อการศึกษา
๑๗:๕๒ BSC HAIR CARE แนะนำผลิตภัณฑ์บำรุงหนังศีรษะ HAIR GLOW TONIC
๑๗:๐๕ เนสท์เล่ สนับสนุนการแข่งขัน FoSTAT - Nestle Quiz Bowl ปีที่ 20 พัฒนานักวิทยาศาสตร์อาหาร เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทย