มาตรการในการควบคุมมลพิษทางน้ำจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง

พฤหัส ๒๘ มิถุนายน ๒๐๐๑ ๑๕:๕๔
กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--กรมควบคุมมลพิษ
นางนิศากร โฆษิตรัตน์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าวถึงมาตรการในการควบคุมมลพิษทางน้ำจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงว่า จำนวนสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบันที่จดทะเบียนไว้กับกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีประมาณ 15,000 แห่ง อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 35% ภาคกลาง 30% ภาคเหนือ 16% ภาคใต้ 10% และภาคตะวันออก 8% การอนุญาตกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีการควบคุมความปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 และประกาศกรมโยธาธิการ เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2538 และวันที่ 10 มิถุนายน 2542 โดยมีข้อบังคับให้สถานีบริการฯ ต้องจัดให้มีท่อหรือรางระบายน้ำโดยรอบและต้องมีบ่อกักไขมันมีความจุไม่น้อยกว่า 1,500 ลิตร ต่อพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร ก่อนระบายลงสู่ท่อหรือรางระบายน้ำสาธารณะและต้องมีถังเก็บ น้ำมันเครื่องใช้แล้วความจุ 4,000 ลิตร ทั้งนี้ เงื่อนไขการอนุญาตยังมิได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการระบาย น้ำทิ้งรวมอยู่ด้วย
จากการติดตามตรวจสอบและสำรวจข้อมูลน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของกรมควบคุม มลพิษ พบว่า ส่วนใหญ่ยังมีการปนเปื้อนของน้ำมันที่ไหลมากับน้ำทิ้งค่อนข้างสูง และมีสาเหตุจากการละเลยในเรื่องการดูแลความสะอาดและป้องกันไม่ให้น้ำมันปนเปื้อนออกสู่ภายนอก และขนาดของบ่อดักไขมันตามข้อกำหนดเดิมไม่สามารถลดน้ำมันที่ไหลปนออกมาได้ ทำให้เกิดสภาวะพื้นที่ใกล้เคียงสถานีบริการน้ำมันและแหล่งน้ำเสื่อมโทรมได้ โดยมีน้ำมันลอยน้ำและแผ่กระจายทั่วผิวน้ำ เป็นตัวกักแสงอาทิตย์และออกซิเจนจากอากาศไม่ให้ละลายลงสู่แหล่งน้ำทำให้แหล่งน้ำขาดออกซิเจน และน้ำมันเป็นสารประกอบที่สลายตัวโดยธรรมชาติได้ยาก จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษและสถาบันปิโตรเลียมที่ได้ศึกษาสำรวจมา พบว่าน้ำทิ้งมีค่าสารแขวนลอย ซีโอดี และน้ำมันและไขมันค่อนข้างสูง เพื่อเป็นการลดปริมาณการปนเปื้อนน้ำมันและไขมันจากกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงต่อสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษจึงกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 และอยู่ในระหว่างการขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อนประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ค่ามาตรฐานมี ดังนี้ ความเป็นกรดและด่าง (pH) เท่ากับ 5.5-9.0 ซีโอดี (COD) ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/ลิตร ของแข็งแขวนลอย (Suspended Solids) ไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/ลิตร และ น้ำมันและไขมัน (Oil & Grease) ไม่เกิน 15 มิลลิกรัม/ลิตร
ในการบังคับใช้มาตรฐาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเก่า ที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ให้มีผลบังคับใช้ภายใน 2 ปี และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเก่า ที่ตั้งอยู่นอกเขตเทศบาล ให้มีผลบังคับใช้ภายใน 5 ปี หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา--จบ--
-สส-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน