ความสำเร็จของฮอนด้า (ประเทศไทย) กับโครงการ "โรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่น เฉลิมพระเกียรติ"

อังคาร ๑๗ ตุลาคม ๒๐๐๐ ๑๔:๕๖
กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--สปินเลอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
"ฮอนด้า" มีส่วนช่วยให้โรงเรียนในจังหวัดนครนายก ขจัดปัญหากลิ่นรบกวนจากมูลสัตว์ แทนที่จะใช้สารเคมีหรือสารสังเคราะห์ แต่โรงเรียนวัดโพธิ์แก้วเบญจธาราม กลับใช้วิถีธรรมชาติขจัดกลิ่นรบกวนจากมูลสัตว์ได้สำเร็จ และยังได้ปุ๋ยจากธรรมชาติเป็นผลพลอยได้อีกด้วย
ความสำเร็จดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจากกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย ภายใต้โครงการ "โรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่น เฉลิมพระเกียรติ"
จากสภาพเศรษฐกิจทางอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดโพธิ์แก้วเบญจธาราม ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำฟาร์มเลี้ยงไก่อย่างแพร่หลาย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กลิ่นรบกวนจากมูลสัตว์จะกระทบการเรียนการสอนและสุขภาพของครูและนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ซึ่งมีจำนวนครู และนักเรียนรวม 350 คน
นายจำนงค์ แก้วจินดา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิ์แก้วเบญจธาราม กล่าวว่า กลิ่นรบกวนจากมูลสัตว์เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมาเป็นเวลานานแล้ว แม้ทางราชการจะเข้ามาช่วยเหลือดูแลแล้วก็ตาม
หลังจากได้รับทุนสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย ให้ดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตามที่ได้เสนอไป ปรากฏว่าโรงเรียนแห่งนี้ได้ประสบความสำเร็จในการขจัดกลิ่นรบกวนจากมูลสัตว์ได้อย่างดีเยี่ยม และยังสามารถผลิตปุ๋ยจากธรรมชาติมาใช้อีกทางหนึ่งด้วย ถือเป็นโรงเรียนต้นแบบของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดนครนายก
การใช้วิถีธรรมชาติแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ครูและนักเรียนได้รับแนวความคิดจากศูนย์ฝึกอบรมและเผยแพร่เกษตรธรรมชาติคิวเซ อำเภอหินกอง จังหวัดสระบุรี ที่ทดแทนการใช้สารเคมีหรือสารสังเคราะห์อื่นใด ด้วยการนำเอาเกษตรธรรมชาติที่เรียกว่า EM (Effective Microorganisms) ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีชีวิตมีประสิทธิภาพในการย่อยสลาย มีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาล กลิ่นอมเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ได้มีผลในการช่วยปรับสภาพความสมดุลของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม EM ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารเคมี ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ พืช หรือแมลงที่เป็นประโยชน์
"ผมรู้สึกได้เลยว่ากลิ่นรบกวนจากมูลสัตว์ของฟาร์มเลี้ยงสุกรที่ศูนย์ฝึกอบรมและเผยแพร่เกษตรธรรมชาติคิวเซ นั้นไม่มีเลยและไม่มีแมลงวันให้เห็น ที่โดยปกติฟาร์มเลี้ยงสุกรจะเต็มไปด้วยแมลงวัน ทั้งนี้เพราะศูนย์แห่งนี้นำประโยชน์ของ EM มาช่วยแก้ไขปัญหา" เด็กชายสงกรานต์ จุลศรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับขั้นตอนในการทำปุ๋ยหมักนั้น นำเอามูลสัตว์ แกลบดิบ รำละเอียด ในปริมาณที่เท่ากัน มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันจากนั้นนำน้ำที่ผสม EM และกากน้ำตาล แล้วมารดบนกองมูลสัตว์ที่เตรียมไว้ ให้มีความชื้นพอดี ซึ่งสามารถทดสอบด้วยการกำเป็นก้อนแต่พอแตะแล้วก้อนแตกได้โดยง่าย จากนั้นให้แผ่กองปุ๋ยหมักให้มีความหนา 15-20 เซนติเมตร คลุมด้วยวัสดุที่มีความโปร่งเล็กน้อย เช่น กระสอบป่านเป็นต้น โดยหมั่นกลับกองปุ๋ยหมักทุกวัน เป็นระยะเวลาประมาณ 7 วัน ก็จะได้ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ที่มีกลิ่นหอมคล้ายเห็ด และสามารถนำไปใช้กับแปลงปลูกพืชได้ทุกชนิด โดยมีสัดส่วนในการใช้ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ 1 กำมือต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ทั้งยังใช้เพื่อปรับสภาพน้ำเน่าเสียได้ด้วย ส่วนปุ๋ยที่ได้จากการหมักแต่ละครั้งหากใช้ไม่หมดสามารถเก็บไว้ในที่ไม่โดนความชื้นได้นาน 3เดือน
นอกจากนี้ ปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ที่ได้ยังสามารถนำไปเป็นหัวเชื้อในการทำปุ๋ยน้ำ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย โดยเตรียมถังพลาสติกสำหรับหมักเจาะก็อกสำหรับเปิด-ปิดบริเวณก้นถัง และรองก้นถังด้วยตะแกรงให้สูงกว่าระดับก็อกน้ำเล็กน้อย จากนั้นนำเศษอาหารที่ได้จากการประกอบอาหารหรือเหลือจากการบริโภค ในปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อหัวเชื้อ 1 กำมือ ใส่ถุงที่น้ำซึมผ่านได้สะดวก และนำถุงใส่ถังหมักและปิดถังปุ๋ยหมักตลอดเวลาประมาณ 7 วันก็จะได้น้ำปุ๋ยหมักที่ซึมออกมาที่ก้นถัง มีสีเหลือง กลิ่นคล้ายกลิ่นไวน์ ส่วนกากอาหารที่อยู่ในถุงให้ทิ้งไว้จนกว่าน้ำจากปุ๋ยจะหมดแล้วนำมาคลุกกับดินเพื่อเป็นปุ๋ยได้อีก
ส่วนของน้ำที่ได้จากถังหมักสามารถนำมาใช้รดพืชผักได้ โดยใช้ในอัตราส่วนของปุ๋ยน้ำ 1 ลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร หรือจะนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่น ราดห้องน้ำเป็นการดับกลิ่น ราดน้ำเน่าเสียไม่ให้มีกลิ่น ใช้ฉีดพ่นคอกสัตว์ต่างๆ ช่วยดับกลิ่นได้เป็นอย่างดี"จากการนำปุ๋ยน้ำที่ได้จากการหมักของโครงการมาทดลองใช้กับฟาร์มเลี้ยงเป็ดและไก่ โดยการฉีดพ่นปุ๋ยน้ำในคอกสัตว์และโรยหัวเชื้อปุ๋ยหมักที่พื้น ปรากฏว่าสามารถแก้ปัญหากลิ่น รบกวนที่เกิดจากมูลสัตว์ที่เป็นปัญหาหลักของนักเรียนและชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับฟาร์มได้เป็นอย่างดี" นางปราณี สพันธ์พงษ์ เจ้าของฟาร์มที่ได้ทดลองนำภูมิปัญญาที่ได้ไปทดลองใช้เป็นผลสำเร็จ ได้เล่าประสบการณ์จากการใช้สารธรรมชาติทดแทนสารเคมี
จากผลสำเร็จที่โรงเรียนวัดโพธิ์แก้วเบญจธารามได้ดำเนินการสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน ในการแก้ปัญหามลภาวะเป็นพิษโดยเน้นแก้ปัญหากลิ่นมูลสัตว์ด้วยความร่วมลงมือปฏิบัติกันของนักเรียนโดยมีครูคอยให้คำแนะนำปรึกษาจนเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและขยายผลไปสู่ชุมชนได้นั้นถือเป็นต้นแบบที่ดีในการแก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนอื่นๆ หรือชุมชนได้นำไปเป็นแบบอย่างได้
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่บริษัท สปินเลอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด
โทรศัพท์ 2410088, 2411616 ติดต่อ คุณสุรีย์พร สื่อสกุล หรือคุณจิตติมา นเรธรณ์--จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง