สนช.แถลงภารกิจด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง

อังคาร ๑๗ กรกฎาคม ๒๐๐๑ ๑๑:๑๘
กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (16 ก.ค.44) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม. นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายชุมพร พลรักษ์ และนายสถาพร สุรพงษ์พิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน แถลงข่าวเรื่อง สำนักพัฒนาชุมชนกับภารกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง โดยได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองของกรุงเทพมหานคร นโยบายการส่งเสริมอาชีพและความคืบหน้าการดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนและโรงเรียนอาชีวะกรุงเทพมหานคร รวมทั้งนโยบายการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาคมเมือง
กทม.พร้อมดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สร้างแหล่งเงินทุนหนุนอาชีพ
นายชุมพร กล่าวว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นโครงการของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนกลุ่มอาชีพตามชุมชนต่าง ๆ ให้มีแหล่งเงินทุนไปใช้ในการประกอบอาชีพโดยให้ชุมชนดำเนินการบริหารจัดการเงินกองทุนชุมชนเอง ชุมชนละ 1 ล้านบาทอันเป็นนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากระดับรากฐานของสังคม สำหรับขั้นตอนการดำเนินการโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดชุมชนให้ชัดเจนเพื่อให้ทราบชุมชนเป้าหมาย มีการตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดและคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ ซึ่งต้องสนับสนุนให้มีการจัดเวทีชาวบ้านเพื่อเลือกสรรคณะกรรมการกองทุนจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน ไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วย ชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน เนื่องจากต้องการให้สตรีมีโอกาสในการเข้ามาบริหารจัดการกองทุน เมื่อดำเนินการเลือกคณะกรรมการกองทุนแล้ว คณะกรรมการและประชาชนจะร่วมกันจัดทำระเบียบข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองของตนเอง ตลอดจนกำหนดอัตราดอกเบี้ยเอง แต่ต้องประกาศให้ประชาชนในชุมชนทราบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ร่วมกันตั้งขึ้น และมีแนวทางการให้กู้ยืมโดยให้วงเงินกู้ยืมรายหนึ่งไม่เกิน 2 หมื่นบาท เนื่องจากต้องการให้เงินกองทุน 1 ล้านบาทกระจายไปยังครัวเรือนต่าง ๆ ในชุมชนอย่างทั่วถึง หากมีผู้ต้องการกู้เงินเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ต้องให้กรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด แต่รายหนึ่งต้องไม่เกิน 5 หมื่นบาท ทั้งนี้การบริหารจัดการกองทุนจะเป็นเรื่องของภาคประชาชนทั้งหมด ฝ่ายราชการจะช่วยประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานเท่านั้น
นายชุมพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กทม.มีชุมชนเมืองอยู่ 1,596 ชุมชน บางชุมชนมีครัวเรือนจำนวนมาก บางชุมชนมีน้อย หากพิจารณาให้เงินกองทุน ชุมชนละ 1 ล้านบาทเท่ากัน ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำ คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับกรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดกรอบในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชน โดยชุมชนที่จะได้รับผลตามนโยบายนี้จะต้องมีจำนวนมากกว่า 100 ครัวเรือนขึ้นไป แต่ชุมชนที่มีน้อยกว่า 100 ครัวเรือนก็สามารถรวมตัวกันขอจัดตั้งกองทุนได้ ส่วนชุมชนหมู่บ้านจัดสรรในเขตกทม.จะยังไม่ได้รับการพิจารณาให้จัดตั้งกองทุนในรอบนี้ เนื่องจากเป็นชุมชนที่พอจะช่วยเหลือตนเองได้
นายชุมพร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานครก็ได้มีการดำเนินโครงการกองทุนพัฒนาชุมชนกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการลักษณะเดียวกับโครงการกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาล โดยให้ชุมชนยืมเงินสมทบชุมชนละไม่เกิน 1 แสนบาท มีระยะปลอดหนี้ 3 ปี ผ่อนชำระคืนในปีที่ 4-6 โดยไม่มีดอกเบี้ย สำหรับเงื่อนไขการกู้ยืม ชุมชนที่กู้จะต้องเป็นชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร จัดตั้งกลุ่มอาชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยต้องมีเงินทุนสะสมไม่น้อยกว่า 10,000 บาท มีกรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 7 คน มีสมาชิกรวมไม่น้อยกว่า 14 คน และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุมชน กู้ยืมได้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินทุนสะสม คือ หากมีเงินทุน 10,000 บาท สามารถกู้ไปสมทบได้อีก 50,000 บาท ทั้งนี้กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท กองทุนพัฒนาชุมชนดังกล่าวได้อนุมัติให้กู้ยืมไปแล้ว 55 กองทุน เป็นเงิน 5,500,000 บาท หากชุมชนใดมีข้อสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร อาคารศรีจุลทรัพย์ (ชั้น 15 ) ถ.พระรามที่ 1 เขตปทุมวัน โทรศัพท์หมายเลข 613-7186 หรือที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตพื้นที่
นโยบายการส่งเสริมอาชีพของกทม. และการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน
นายสถาพร กล่าวว่า สำหรับนโยบายการส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ทางสำนักพัฒนาชุมชนได้จัดฝึกวิชาชีพให้กับประชาชนเพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ โดยมีโรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่ง และศูนย์ฝึกอาชีพ 6 แห่ง ซึ่งประชาชนสามารถสมัครได้โดยเสียค่าสมัคร หากประชาชนท่านใดต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่กองส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาชุมชน โทรศัพท์หมายเลข 613-7177 และ 613-7190-91 นอกจากนี้สำนักพัฒนาชุมชนได้มีแนวความคิดที่จะเปิดวิทยาลัยชุมชน ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาระดับอนุปริญญา โดยจะมีการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรและสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม โดยเน้นว่า “ชุมชนใดต้องการให้ฝึกอาชีพอะไรก็จะจัดการอบรมวิชาชีพนั้น”
นอกจากนี้สำนักพัฒนาชุมชนยังได้ส่งเสริมเรื่อง “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนเป็นการสร้างอาชีพที่นำไปสู่การมีรายได้ที่มั่นคงและต่อเนื่องให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด โดยทางสำนักพัฒนาชุมชนจะช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของแต่ละเขตให้เป็นที่รู้จักและพัฒนาให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ตลอดจนทำการส่งเสริมการตลาดและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงตลาดสินค้าภายในประเทศและขยายผลให้เป็นสินค้าส่งออก
สนช.กับการมีส่วนร่วมของประชาคมเมืองเพื่อนทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สำนักพัฒนาชุมชนมีภารกิจหลักในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาคมเมืองเพื่อร่วมพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2540-2544) โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสำนักพัฒนาชุมชนและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมเมืองในกรุงเทพฯ อย่างเป็นระบบจนมีประชาคมเกิดขึ้นมากมาย เช่น ประชาคมผู้สูงอายุ ประชาคมระดับกลุ่มเขต, และประชาคมเกษตรกร เป็นต้น สำหรับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2545-2549) จะมีการรณรงค์ในเรื่องของประชาคมนิยมไทย
ทั้งนี้การพัฒนาประชาคมเมืองจะต้องมีการกำหนดแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาประชาคมเมือง ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกในการพึ่งตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การสร้างจิตสำนึกในบทบาทของผู้แก้ปัญหา การพัฒนาเวทีสาธารณะ การพัฒนาผู้อำนวยการการมีส่วนร่วมการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในสังคม มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ภายใต้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาของสำนักพัฒนาชุมชน ที่ต้องการเห็นเป็นรูปธรรมก็คือ การรวมกลุ่มประชาคมย่อย ๆ ในทุก ๆ ชุมชน สร้างความเข้มแข็งด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่ม ให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง และเมื่อกลุ่มมีความพร้อม ก็ให้ออกมาร่วมกันช่วยสังคมส่วนรวม ทุก ๆ กลุ่มจับมือกันสร้างเครือข่าย เปรียบเสมือนใยแมงมุมที่เชื่อมโยงกันไม่ขาดสาย ครอบคลุมไปทุกชุมชนเป็นสายใยแห่งความรักความเอื้ออาทร ชุมชนนั้นก็จะเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ปลอดภัย ปลอดพิษ เศรษฐกิจพอเพียง ด้วยวิถีไทยที่ยั่งยืน และเมื่อทุกชุมชนสามารถจับมือกันสร้างเครือข่ายได้สำเร็จ ก็จะเป็นตามนโยบาย “ประชากรสมานฉันท์” ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในที่สุด
“การร่วมกันทำงานเป็นพหุภาคีของทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน การให้ทุกส่วนขององค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาและร่วมรับผิดชอบ จะทำให้งานด้านการพัฒนาชุมชนเป็นไปด้วยความสอดคล้องและบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชนกล่าว--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘:๓๘ โรแยล พลัส (PLUS) รับมอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ยกระดับธุรกิจเครื่องดื่มไทย ก้าวสู่ ESG
๐๘:๐๙ ซีพีเอฟ จัดเต็มเสิร์ฟอาหาร-เครื่องดื่มคุณภาพ อร่อย สุดคุ้ม ในงานมหกรรมการเงิน Money Expo 2024
๐๘:๕๕ อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เตรียมเฉลิมฉลองเทศกาล Pride Month
๐๘:๒๒ ฟิตซ์ คลับ พัทยา สร้างความประทับใจให้นักกีฬารุ่นเยาว์และครอบครัว ณ การแข่งขันแอสเซทไวส์ จูเนียร์ เทนนิส ไทยแลนด์
๐๘:๑๔ สโตนวัน (STX) งบ Q1/67 กำไรพีคกว่า 132% - จ่ายปันผล 0.055 บ./หุ้น แย้ม Q2 ออเดอร์แน่น โครงการลงทุนเหมืองใหม่คืบหน้า ดันรายได้โตกว่าเป้า
๐๘:๓๖ JMART ผลงานโค้งแรกปี 67 ย้ำ พื้นฐานไม่เปลี่ยน เทิร์นอะราวด์ตามนัด เดินหน้าเติบโตด้วยเทคโนโลยี ดัน Platform Locked Phone ด้าน JMT ยอดจัดเก็บเติบโต - สุกี้ ตี๋น้อย
๑๖ พ.ค. โฮมโปร จับกระแส 'บอลยูโร' 'แน็ก-กามิน' ปลุกความคุ้มสุดเอ็กซ์คลูซีฟ กับ The Power SUPER MATCH SUPER SAVE แมทช์เดือด ลดแรง ทะลุจอ เชียร์บอลมันส์ก่อน ผ่อนทีหลัง! ที่ The Power 0% นาน 12 เดือน เริ่ม 15
๑๖ พ.ค. แอ็กซอลตา ตอกย้ำศักยภาพต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนการฝึกอบรม แก่ช่างฝีมือกว่า 43 อู่ในเครือกรุงเทพประกันภัย
๑๖ พ.ค. ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง NCP ขาย IPO 50 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้า mai
๑๖ พ.ค. เมซอง แบร์เช่ ปารีส สนับสนุน พิลาทิส เดย์ ไทยแลนด์ 2024