ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ “บ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า” ที่ระดับ “A-/Stable”

อังคาร ๒๕ กันยายน ๒๐๐๗ ๐๘:๓๐
กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,300 ล้านบาทของ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ชุดเดิมของบริษัทที่ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่”
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนการมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวจากทั้งธุรกิจโรงแรมและอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant -- QSR) รวมทั้งสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจอาหารบริการด่วน และโรงแรมของบริษัทที่มีคุณภาพดี อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเซ็นทรัลด้วย อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นกับฤดูกาลและถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย รวมทั้งจากการแข่งขันที่รุนแรง และอัตรากำไรที่ต่ำของธุรกิจอาหารบริการด่วน นอกจากธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะได้รับผลกระทบในทางลบจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาทแล้ว ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการขยายการลงทุนในธุรกิจโรงแรมของบริษัทอย่างต่อเนื่องซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนมากอันจะส่งผลให้สัดส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า และยังมีความเสี่ยงจากการที่บริษัทจะไม่สามารถต่อสัญญาเช่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของ โรงแรม โซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งจะหมดอายุในปี 2551
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นจำนวนมากและจะนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการลงทุนขยายกิจการ โดยอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะได้รับผลกระทบในทางลบหากสถานะทางการเงินของบริษัทไม่เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ สัดส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอาจอ่อนแอลงจากผลของการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ลงทุนในการขยายกิจการ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่าก่อตั้งโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ในปี 2523 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงแรมระดับสี่ดาวและห้าดาวจำนวน 11 แห่ง (มากกว่า 2,700 ห้อง) ใน 7 จังหวัดของประเทศ โดยรายได้ของโรงแรมส่วนใหญ่มาจากโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ โรงแรมโซฟิเทลเซ็นทาราแกรนด์รีสอร์ทแอนด์วิลล่าหัวหิน และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์บีชรีสอร์ทสมุย ยกเว้นโรงแรมโซฟิเทลเซ็นทาราแกรนด์รีสอร์ทแอนด์วิลล่าหัวหิน ซึ่งบริหารโดย Accor International บริษัทบริหารงานโรงแรมภายใต้ชื่อสัญลักษณ์ “เซ็นทารา” และบริหารงานโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ และโรงแรมโนโวเทล เซ็นทารา หาดใหญ่ ภายใต้แฟรนไชส์จากกลุ่ม Accor บริษัทยังดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ซึ่งให้บริการอาหารบริการด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างประเทศจำนวน 5 ตราสัญลักษณ์ คือ “เคเอฟซี” “มิสเตอร์โดนัท” “พิซซ่า ฮัท” “บาสกิ้นส์-ร้อบบิ้นส์” และ “อานตี้ แอนส์” โดยมีจำนวนสาขารวมทั้งหมดมากกว่า 460 แห่งทั่วประเทศ
บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่ามีรายได้จากธุรกิจอาหารบริการด่วนเป็นหลักซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% ของยอดขายรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจโรงแรม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 แม้ว่ารายได้รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3,471 ล้านบาทจากเดิม 3,427 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2549 แต่ยอดขายจากธุรกิจอาหารบริการด่วนกลับลดลง 2% จาก 2,143 ล้านบาท เป็น 2,101 ล้านบาท สืบเนื่องจากการบริโภคที่ลดลง และการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารจานด่วนที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมจะเพิ่มขึ้นถึง 6% หลังจากที่บริษัทเปิดให้บริการโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์บีช รีสอร์ทแอนด์วิลล่า กระบี่ในช่วงปลายปี 2549 แต่อัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ (Revenue Per Available Room -- RevPAR) โดยเฉลี่ยลดลงจาก 2,787 บาทต่อห้องในครึ่งแรกของปี 2549 เป็น 2,177 บาทต่อห้องในครึ่งแรกของปี 2550 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะชะลอตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย และผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท
อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่าลดลงเล็กน้อยจาก 52.7% ณ ปลายปี 2549 เป็น 53.5% ณ เดือนมิถุนายน 2550 โดยเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 4,677 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 บริษัทยังคงขยายกิจการด้านโรงแรมโดยได้ใช้เงินไปเป็นจำนวน 1,105 ล้านบาทเพื่อการลงทุนในโครงการโรงแรม 3 แห่งที่กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระดับ 23% (ตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 จากเดิมที่ระดับ 20.9% ในปี 2549 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจ่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทคงที่ในระดับ 8 เท่าเช่นเดียวกับในปี 2549

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘:๕๑ อายุน้อยก็เสี่ยงนะ! สังเกตสัญญาณโรคหลอดเลือดสมองในหนุ่ม-สาว Stoke in the young
๐๘:๒๕ เกิร์ลกรุ๊ปสาว DE GIFT' (เดอ กิฟท์) ปังเกินเบอร์!!!! เตรียมปล่อยของโชว์ Performance เวที Dalat Best Dance Crew 2024
๐๘:๓๘ ทรีตเมนต์ยกกระชับผิวหน้า
๐๘:๒๑ โค้งสุดท้ายหลักสูตรดับทุกข์ผู้บริหารรุ่นแรก เผยชุด 2 มีบิ๊กเนมสนใจเพียบทั้งอดีต รมต.และ สว.
๐๘:๐๙ DEK SPU โชว์สกิล! คว้ารางวัล SPU TikTok Challenge 2024
๐๘:๑๔ แพ็กเกจห้องประชุม สัมมนาใจกลางกรุงเทพฯ ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ จี
๐๘:๔๖ มารู้จักอาจารย์ของแพทย์ คุณหมอหนุ่ม - อาจารย์นายแพทย์ รัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์
๐๘:๒๖ ร่วมวางพวงมาลาวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๐๘:๓๕ กทม. ประสาน กฟน. เร่งแก้ไขฝาบ่อพักท่อชำรุดเชิงสะพานข้ามแยกเสนานิคม
๐๘:๓๒ ก.แรงงานหนุนจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 67 พร้อมเปิดพื้นที่รับฟังข้อเรียกร้อง ย้ำแรงงานเป็นกำลังผลักดันเศรษฐกิจสังคมไทย