สายงานวิจัย TMC เร่งสร้างความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชู 5 แนวทางยกระดับความสามารถในการแข่งขันตามเกณฑ์ IMD

ศุกร์ ๑๙ ตุลาคม ๒๐๐๗ ๑๖:๔๒
กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
สายงานวิจัยนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Center: TMC) แนะ 5 แนวทางหลักเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ควบคู่ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ถูกจัดอันดับโดย IMD โดยเร็ว
ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เปิดเผยว่าที่ผ่านมา สถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาการจัดการ หรือ IMD (International Institute for Management Development) ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยประเมินจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) สมรรถนะด้านเศรษฐกิจ 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ 4) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ล่าสุดเมื่อปี 2550 ไทยได้ที่ 33 จาก 55 ประเทศ ปัจจัยหลักที่เราอ่อนแอมากที่สุดคือโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เราได้ลำดับที่ 49 และโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีได้ลำดับที่ 48 ซึ่งตกต่ำจากปีที่แล้ว
ดร. ญาดาฯ เผย 5 แนวทางหลักในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ต้องพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาปัจจัยที่เป็นดัชนีชี้วัดสำคัญของ IMD ได้แก่
1) เพิ่มเงินลงทุนวิจัยและพัฒนา โดยสนับสนุนให้มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชน ตัวเลขจากการสำรวจเมื่อปี 2550 พบว่าค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยในปี 2548 มีมูลค่ารวมเพียง 16,667 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.24% ของ GDP ในขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ เค้าทุ่มกันที่ 3.3% 2.9% และ 2.5% และ 2.3% ของ GDP ตามลำดับ มาตรการทางการเงินการคลังที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กรมสรรพากรให้หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนหักลดค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาได้ 200% ของรายจ่ายจริง มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาของ BOI เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การร่วมลงทุน การให้บริการคำปรึกษาทางเทคนิค หรือแม้แต่ทุนวิจัยและพัฒนาแบบให้เปล่าของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ก็ยังไม่เพียงพอ เราต้องเพิ่มมาตรการใหม่ๆ เช่น ตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย พัฒนาธุรกิจเงินร่วมลงทุน เป็นต้น
2) สร้างบุคลากรวิจัย ปัจจุบันไทยมีบุคลากรวิจัยประมาณ 4 หมื่นคนถ้าคิดแบบทำงานเต็มเวลา หรือเท่ากับ 5.9 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าญี่ปุ่น 12 เท่า เราน่าจะเพิ่มสัดส่วนให้เป็น 10 คนต่อประชากร 10,000 คนให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่น่าจะทำคือการพัฒนานักวิจัยให้มีปริมาณและคุณภาพเพิ่มขึ้นโดยใช้กลไกศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Center of Excellence: COE) ที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และอุตสาหกรรมผลิตบัณฑิตปริญญาโทและปริญญาเอกให้เป็นนักวิจัย ปลูกฝังให้เยาวชนรักที่จะทำวิจัยตั้งแต่วัยเยาว์และอยากเป็นนักวิจัยเมื่อเติบโตขึ้น รวมไปถึงการสร้างเส้นทางอาชีพให้นักวิจัยไทย
3) กระตุ้นให้เยาวชนสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนในรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร ค่ายเรียนรู้วิทยาศาสตร์
4) ส่งเสริมให้มีการจดสิทธิบัตร โดยสนับสนุนให้ภาคการผลิตและนักวิจัยตระหนักในความสำคัญของสิทธิบัตร สนใจที่จะสร้างผลงานที่มีคุณค่าเพื่อจดสิทธิบัตร และใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรที่มีอยู่ให้มากขึ้น ในปี 2549 ประเทศไทยมีสิทธิบัตรที่ได้รับการจด 1,878 รายการ ในจำนวนนี้มีเพียง 30% ที่ได้รับการจดโดยคนไทย เราจำเป็นต้องปรับกฎระเบียบบางอย่างให้คล่องตัวและเอื้ออำนวยให้นักวิจัยได้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น การจดสิทธิบัตรเป็นไปด้วยความรวดเร็วและสะดวกขึ้น
5) เพิ่มผลงานตีพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยส่งเสริมให้นักวิจัยไทยตีพิมพ์ผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในวารสารทั้งในและต่างประเทศ กำหนดให้ผลงานตีพิมพ์เป็นดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานที่สำคัญของหน่วยงาน สร้างแรงจูงใจโดยการให้รางวัลสำหรับนักวิจัยหรือสถาบันที่มีการตีพิมพ์ผลงาน ในปี 2549 ประเทศไทยมีผลงานตีพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในวารสารวิชาการในประเทศทั้งสิ้นเพียง 2,855 บทความ และมีผลงานตีพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานข้อมูล Science Citation Index (SCI) จำนวน 3,075 บทความ นับว่ายังน้อยมาก
“อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง เป็นสัญญาณเตือนให้เราปรับปรุงแก้ไขปัจจัยที่เป็นจุดอ่อน เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge —Based Economy/ Society) เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่เราต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน” ดร. ญาดาฯ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๒ คณะ กิจกรรม วิศวฯ ม.เกษตรศาสตร์ จับมือ อัลเตอร์วิม ร่วมวิจัย-พัฒนาขีดความสามารถเชิงธุรกิจ ด้านพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงาน
๑๖:๐๖ กรุงศรีออกมาตรการช่วยเหลือ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ให้ลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เป็นเวลา 6 เดือนตอบรับแนวทางการช่วยเหลือของสมาคมธนาคารไทย
๑๖:๒๙ Lexar Professional CFexpress 4.0 Type B Card DIAMOND คว้ารางวัล BEST STORAGE MEDIA ในงาน TIPA WORLD AWARDS
๑๖:๔๔ ฟอร์ติเน็ต ร่วมมือ สกมช. คัดเลือก-ฝึกอบรมเสริมทักษะบุคลากรคลาวด์ เล็งเพิ่มทรัพยากรบุคคล เสริมความมั่นคงปลอดภัยบนคลาวด์ทุกรูปแบบ
๑๖:๒๙ ไอ-เทล รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรก แข็งแกร่งด้วย รายได้กว่า 4 พันล้าน กำไรเพิ่ม 93 เปอร์เซ็นต์ มุ่งการเติบโตต่อเนื่องตลอดปี
๑๖:๒๒ หมอแม็ค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผมของไทย
๑๖:๐๗ ทรูเวฟ (ประเทศไทย) เปิดตัว GreenFarm.AI ผู้ช่วยคนใหม่ที่จะทำให้สวนเติบโตสวยและยั่งยืนได้ดั่งใจ
๑๖:๕๐ ไบเทคบุรี เมกะโปรเจกต์ของภิรัชบุรี กรุ๊ป พลิกโฉม ไบเทค บางนา ก้าวข้ามอุตสาหกรรม MICE สู่สถานที่แห่งไลฟ์สไตล์ครบวงจร
๑๖:๕๒ ดีมันนี่ ตอกย้ำความสำเร็จในงาน Money 20/20 Asia ในฐานะผู้บุกเบิกโซลูชัน โอนเงินไปต่างประเทศชั้นนำในวงการฟินเทคไทย
๑๖:๕๔ สบยช. ยืนยัน ชาเม่ คอลลาเจน ไม่มีสารเสพติด