ซีพีเอฟปล่อยเนื้อไก่ปรุงสุกตู้แรกของไทยไปยูเออี หลังยูเออีปรับระบบการรับรองเครื่องหมายฮาลาลใหม่

พฤหัส ๐๖ ธันวาคม ๒๐๐๗ ๑๕:๕๑
กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ซีพีเอฟ
เช้าวันนี้ ( 6 ธันวาคม 2550 ) ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ปรุงสุกปฐมฤกษ์ เพื่อส่งออกไปสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือ ยูเออี ณ โรงงานชำแหละและแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรีของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในโอกาสที่ บริษัท ซีพีเอฟผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ผ่านการรับรองเครื่องหมายมาตรฐานฮาลาล (HALAL) จากสภาเทศบาลยูเออี ให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ปรุงสุกไปยังยูเออีและประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับได้ ภายหลังจากคณะผู้เชี่ยวชาญยูเออี ได้ปรับระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลเงื่อนไขใหม่ และได้เข้ามาตรวจสอบระบบใหม่ในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา โดยโอกาสเดียวกันนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์และผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ได้มอบใบรับรองการส่งออก Health Certificate และ Halal Certificate ให้แก่ซีพีเอฟ เพื่อเป็นเครื่องหมายในการบรรลุข้อตกลงทางการค้าภายใต้เงื่อนไขการรับรองดังกล่าวด้วย
ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร เปิดเผยถึงการได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาลจากยูเออีในครั้งนี้ว่า นับเป็นการดีที่อาหารฮาลาลของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากยูเออีและประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับ เนื่องจากประชากรมุสลิมทั่วโลกมีกว่า 1,800 ล้านคน มูลค่าการตลาดของอาหารฮาลาลสูงถึงประมาณ 5 แสน — 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำคัญของโลก แต่ที่ผ่านมามีปริมาณการส่งออกอาหารฮาลาลเพียงร้อยละ 0.01 ของมูลค่ารวมในตลาดโลก โดยมีบริษัทที่ผลิตอาหารฮาลาลประมาณ 1,800 บริษัท และมีผลิตภัณฑ์ฮาลาลราว 20,000 ผลิตภัณฑ์ โดยในช่วงปี 2544-2547 พบว่าไทยได้ส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสัตว์ปีกไปยังตลาดดังกล่าว เฉลี่ยปีละประมาณ 2,300 ตัน เมื่อพิจารณาจากความต้องการของประเทศในตะวันออกกลาง การได้ผ่านการรับรองมาตรฐานฮาลาล จึงนับเป็นการเพิ่มโอกาสต่อการทำตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้อีกมาก
ด้าน นพ.อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า สภาเทศบาลยูเออี ให้การรับรองโรงฆ่าสัตว์ปีกของไทย 24 โรง และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก จำนวน 36 โรง สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ปรุงสุก ซึ่งเป็นอาหารฮาลาลไปยังยูเออี รวมทั้งประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับได้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 เป็นต้นไป ซึ่งซีพีเอฟเป็นบริษัทแรกที่บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับผู้นำเข้าของยูเออี
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ระบบการผลิตเนื้อไก่ของซีพีเอฟ มีการควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงการแปรรูปเป็นอาหารปรุงสุก ซึ่งโรงงานมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นการเชือดไก่โดยมุสลิม หรือการแปรรูปเนื้อไก่โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่มีของต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม และสามารถสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการให้การรับรองเครื่องหมายฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (The Central Islamic Committee of Thailand) ได้ ผลิตภัณฑ์ไก่ปรุกสุกของซีพีเอฟจึงผ่านการตรวจประเมินการรับรองเครื่องหมายมาตรฐานฮาลาล วันนี้ ซีพีเอฟ ได้จัดปล่อยตู้คอนเทนเนอร์ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ปรุงสุกปริมาณ 64 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 10 ล้านบาท เพื่อเป็นตู้ปฐมฤกษ์ในการส่งออกไปยังตลาดยูเออีและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งมีสมาชิกในตะวันออกกลาง จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ ยูเออี ซาอุดิอาระเบีย การ์ตา คูเวต โอมาน และบาห์เรน
ทั้งนี้ ตลาดของยูเออีมีการนำเข้าสินค้าไก่ประมาณ 150,000 ตัน ซึ่งในส่วนของซีพีเอฟ แต่เดิมมีการส่งออกสินค้าไก่ไปอยู่แล้วทั้งไก่สดและไก่ปรุงสุก รวมประมาณ 3,000 ตัน ก่อนจะระงับไปเมื่อปี 2548 เนื่องจากทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ มีการเปลี่ยนแปลงระบบการรับรองเครื่องหมายฮาลาล ดังนั้น การที่ประเทศไทยผ่านการรับรองฮาลาลในเงื่อนไขใหม่นี้ จึงยิ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยในการทำตลาดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าในปี 2551 ซีพีเอฟจะสามารถทำตลาดส่งออกไก่ปรุงสุกไปยังยูเออีได้ถึง 3,000 ตัน
สำหรับตัวเลขการส่งออกไก่ของประเทศไทยในปี 2550 น่าจะอยู่ที่ 320,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นสินค้าของซีพีเอฟ 80,000 - 90,000 ตัน และคาดว่าอัตราการเติบโตในปี 2551 ตลาดรวมจะอยู่ที่ 5-10% และส่วนของซีพีเอฟ คาดว่าจะโตไม่ต่ำกว่า 15%
อนึ่ง โรงชำแหละและแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรี ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อไก่ และส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศมุสลิม โดยโรงงานแห่งนี้ ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2521 บนพื้นที่ 49 ไร่ ของถนนสุวินทวงศ์ เขตมีนบุรี กรุงเทพ มีจำนวนพนักงานทั้งหมด 2,500 คน และกว่า 60% เป็นมุสลิม มีปริมาณการผลิตไก่ 200,000 ตัวต่อวัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักสารนิเทศ ซีพีเอฟ
0-2625-7344-5, 0-2631-0641, 0-2638-2713

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐ พ.ค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาเกลือ จังหวัดสมุทรสาคร
๑๐ พ.ค. ทีทีบี มุ่งจุดประกายการ ให้ คืนสู่สังคม ผ่านงาน The Hall of Giving ปี 2567 ชูกิจกรรมอาสา Upcycle สร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม
๑๐ พ.ค. มบส.ปลื้มคนแห่ร่วมงานเทศกาลดนตรียิ่งใหญ่ ฝั่งธนเฟส 2คับคั่ง ชี้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ
๑๐ พ.ค. คู่รักห้ามพลาด! สุดยอดมหกรรมเวดดิ้งแฟร์แห่งปี SabuyWedding Festival 2024 ชวนช้อปสบาย ครบ จบ ไม่ฮาร์ดเซลล์ วันที่ 25 - 26 พฤษภาคมนี้ ที่รอยัล พารากอน
๑๐ พ.ค. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 41 นครพนม จัดพิธีมอบชุดเครื่องมือทำมาหากิน ให้กลุ่มแม่บ้านตำบลพะทาย
๑๐ พ.ค. เชื่อมโยงการใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ด้วย WASABI SERIES ดีไซน์จากแนวคิด City / Art / Craft / Earth สู่ Eco Living
๑๐ พ.ค. บ้านหมอละออง กรุ๊ป จัด โครงการยาเพื่อนยาก ครั้งที่ 14 เฉพาะกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพายุฤดูร้อน จ.นครสวรรค์
๑๐ พ.ค. พาราไดซ์ พาร์ค ผนึก กรุงเทพมหานคร ร่วมสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ในงานตลาดนัดชุมชน BKK
๑๐ พ.ค. บทสรุปงานมหกรรมฟินเทคสุดยิ่งใหญ่ของเอเชีย Money20/20 Asia ครั้งแรกที่กรุงเทพฯ
๑๐ พ.ค. เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ ชวนช้อปสินค้าเกษตรแปรรูปคุณภาพดี กับ งาน ไร่ข้าวโพด มหาสนุก ตั้งแต่ 16-22