ทีมหุ่นยนต์พลาสมา-ซี (Plasma-Z) ชนะเลิศ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551

พุธ ๑๖ มกราคม ๒๐๐๘ ๐๙:๑๐
กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี
ทีมหุ่นยนต์พลาสมา-ซีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครองแชมป์ประเภททีมรุ่นใหญ่หรือ ซีเนียร์ ลีค (Senior league) และทีมหุ่นยนต์ชิบิ ดราก้อน (Chibi Dragon) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครองแชมป์ประเภททีมรุ่นเล็กหรือ จูเนียร์ ลีค (Junior league) ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 การแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ทีมชนะเลิศประเภททีมรุ่นใหญ่ ได้รับรางวัลเงินสด 200,000 บาทและเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008 หรือเวิลด์โรโบคัพ (World RoboCup 2008) ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน กลางปีนี้
ทีมหุ่นยนต์ประเภททีมรุ่นใหญ่ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 50,000 บาท ได้แก่ ทีมหุ่นยนต์สคูบ้า (SKUBA) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ส่วนทีมหุ่นยนต์ประเภททีมรุ่นเล็กที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 30,000 บาท ได้แก่ทีม โค้ด-นู้บ (Code-Noob) จากมหาวิทยาลัยนเรศวร
“วัตถุประสงค์หลักของการจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 คือการพัฒนานิสิตนักศึกษาไทยให้เกิดความชำนาญในการสร้างหุ่นยนต์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าว “ความร่วมมือกันทั้งสามฝ่าย ระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และซีเกทนำมาซึ่งโอกาสสำหรับเยาวชนในการนำความรู้ในเชิงทฤษฏีหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสตร์ด้านหุ่นยนต์และการทำงานอัตโนมัติ มาใช้ในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ ดังนั้น ทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์เป็นผู้ชนะเนื่องจากพวกเขาประสบความสำเร็จในการสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติจริงจนสามารถใช้งานได้จริงแล้ว”
ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนาดเล็กเพื่อแข่งขันฟุตบอล ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าในเกมการแข่งขันนาน 20 นาทีจะเป็นผู้ชนะ การแข่งขันประเภททีมรุ่นใหญ่และการแข่งขันประเภททีมรุ่นเล็กมีกฎและกติกาการแข่งขันที่เหมือนกัน ความแตกต่างของการแข่งขันทั้งสองรุ่นคือจำนวนหุ่นยนต์และขนาดของสนามแข่งขัน
“การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการ และส่งเสริมให้พวกเขามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์”” อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ ประเทศไทย 2551 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว
ซีเกทได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์และได้ร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย จัดการแข่งขันและส่งทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ที่ชนะเลิศการแข่งขันเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลกตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา “ซีเกทสนับสนุนกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์เพื่อให้เยาวชนได้พบกับความมหัศจรรย์ของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัดกล่าว “การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามและยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันฯยังช่วยให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม การวางแผน การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและ อื่น ๆ การแข่งขันนี้ช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์และนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก”
“ด้วยการสนับสนุนกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์อันหลากหลาย เช่น การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซีเกทยังคงมุ่งมั่นต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนิสิตนักศึกษาไทย เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้พัฒนาความรู้ในศาสตร์ที่สำคัญต่าง ๆ อาทิเช่น ด้านกลไก อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงาน การวิจัยและการพัฒนาของประเทศในอนาคต”
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับ วิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันที่มีปณิธานมุ่งมั่น ในการสั่งสมเสาะแสวงหา และพัฒนาความรู้ให้เกิด ความเจริญงอกงามทางภูมิปัญญา ที่เพียบพร้อมด้วยวิชาการ จริยธรรม และคุณธรรม ตลอดจนเป็นผู้ชี้นำทิศทางสืบทอดเจตนารมณ์ที่ดีของสังคม เพื่อความคงอยู่ ความเจริญ และความเป็นอารยะของชาติ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดให้บริการ 7 วิทยาเขต คือวิทยาเขตบางเขน วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร วิทยาเขตศรีราชา วิทยาเขตลพบุรี วิทยาเขตสุพรรณบุรี และวิทยาเขตสารสนเทศ กระบี่
บริษัทซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อัน หลากหลาย สำหรับองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และการผลิต ระดับโลกเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพ ในระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำในตลาดทั้งหมดที่เรามีส่วนร่วม บริษัทมีความมุ่งมั่น ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตลอด เวลาในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและพบข้อมูลซีเกทที่ www.seagate.com
ข้อมูลการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 (Robocup Thailand Championship 2008)
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 (Robocup Thailand Championship 2008) จัดขึ้นเป็นปีที่หก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาความรู้ ความ สามารถของนักศึกษา ระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดความชำนาญทางด้านกลไกอิเล็กทรอนิกส์และ สร้างกลไกหุ่นยนต์ และเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันด้านหุ่นยนต์ในระดับนานาชาติ
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ในปีนี้จะมีความแตกต่างไปจากการแข่งขันทุกครั้ง เนื่องจากมีการแบ่งประเภทของการแข่งขันเป็นสองระดับคือ รุ่นใหญ่ หรือ ซีเนียร์ ลีค (Senior league) โดยทีมที่ชนะเลิศในรุ่นนี้จะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2008 หรือเวิร์ลโรโบคัพ (World RoboCup 2008) ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน และรุ่นเล็ก หรือ จูเนียร์ ลีค (Junior league) ซึ่งเปิดโอกาสให้แก่เยาวชนที่เพิ่งเริ่มต้นและเริ่มสนใจประดิษฐ์หุ่นยนต์ได้มีโอกาสแสดงความสามารถทางด้านหุ่นยนต์ ตลอดจนการผสมผสานศาสตร์ต่างๆเช่นเดียวกับรุ่นใหญ่ อย่างไรก็ตามการแข่งขันของทั้งสองรุ่นจะแข่งขันโดยใช้กติกาเดียวกันของเวิร์ลโรโบคัพ ทั้งนี้แต่ละ
ทีมจะต้องประกอบ ด้วยสมาชิกหลัก 3 คนและอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน
การแข่งขันรอบคัดเลือกทั้งสองรุ่น เริ่มจัดขึ้นประมาณกลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้นในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2551 โดยมีเงินรางวัลรวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 600,000 บาท พร้อมการเข้าร่วมการแข่งขันเวิร์ลโรโบคัพของทีมชนะเลิศรุ่นใหญ่ด้วย
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เริ่มต้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2545 จากความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน อาทิเช่น คณะวิศวกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีนี้คณะสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม รับเป็นเจ้าภาพ
บริษัทซีเกทให้การสนับสนุนการจัดการแข่งขันและรางวัลสำหรับทีมฟุตบอลหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่เริ่มต้น จวบจนปัจจุบัน ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศ ไทย 2550 (Robocup Thailand Championship 2007) ได้ที่ www.trs.or.th และ http://kucity.kasetsart.org/robocup2008/
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 0-2715-2919, อีเมล์: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๐ เม.ย. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ตอกย้ำปณิธาน สร้างชีวิต มอบเครื่องเล่นสนาม อุปกรณ์ครุภัณฑ์ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กนักเรียนในส่วนภูมิภาค ณ โรงเรียนวัดนาร่อง อ.เมือง
๓๐ เม.ย. เฮงลิสซิ่ง จับมือ วิริยะประกันภัย เสนอ ประกันภัยอุ่นใจ ทางเลือกใหม่สำหรับประกันภัยคุ้มครองบ้าน
๓๐ เม.ย. ม.วลัยลักษณ์-สมาคมกีฬาตะกร้ออาวุโส-สมาคมกีฬา จ.นครศรีฯ เอ็มโอยูเตรียมระเบิดศึกตะกร้อเยาวชนฮอนด้า ยูเนี่ยน
๓๐ เม.ย. หลักสูตรการประยุกต์ใช้ NODE-RED ในงานอุตสาหกรรม เชื่อมต่อ CLOUD PLATFORM NEXIIOT
๓๐ เม.ย. ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลระดับโลก 3G Award 2024
๓๐ เม.ย. YouTrip เปิดอินไซต์ช่วงหยุดยาวคนไทยแห่เที่ยว ญี่ปุ่น-จีน ยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 150%
๓๐ เม.ย. คณะการท่องเที่ยวฯ DPU ให้ความสำคัญต่องานบริการ จัด HT Makeup Competition 2024 เพิ่มทักษะแต่งหน้าให้กับ นศ.
๓๐ เม.ย. กิจกรรมดี ๆ สำหรับเยาวชนหญิงที่หลงใหลศิลปะการทำอาหาร ในโครงการ Women for Women (WFM) Internship Program ร่วมฝึกงานในร้านอาหารโพทง
๓๐ เม.ย. ผู้ถือหุ้น CIVIL โหวตอนุมัติ จ่ายปันผล 0.012 บาท/หุ้น ทิศทางธุรกิจปี 67 เติบโตต่อเนื่อง
๓๐ เม.ย. PRM จัดประชุม E-AGM ปี 67 อนุมัติจ่ายปันผล 0.26บ./หุ้น