วว. โชว์ “จำปีช้าง…พืชชนิดใหม่ของโลก” พร้อมส่งเสริมปลูกเป็นไม้ประดับ อนุรักษ์พรรณไม้อย่างยั่งยืน

จันทร์ ๑๗ มีนาคม ๒๐๐๘ ๑๕:๓๓
กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดตัว “จำปีช้าง…พืชชนิดใหม่ของโลก” ระบุพบวิธีขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิด ช่วยพ้นสภาพหายากและใกล้สูญพันธ์ พร้อมส่งเสริมปลูกเป็นไม้ประดับ อนุรักษ์อยู่คู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากการที่ วว. ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จำปา โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งแต่ปี 2539 และเมื่อปี พ.ศ 2541 คณะนักวิจัยของ วว. นำโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น และทีมงาน ได้ออกสำรวจในบริเวณพื้นที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พบ “จำปีช้าง” ซึ่งมีลักษณะเดียวกับตัวอย่างแห้งของพรรณไม้วงศ์จำปาที่เก็บไว้ในหอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เก็บโดย ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ ซึ่งจำแนกชื่อว่า Michelia tignifera ทั้งนี้จากการส่งตัวอย่างแห้งที่ครบสมบูรณ์หมดทุกส่วนอย่างละเอียดไปตรวจสอบที่หอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และหอพรรณไม้ประเทศจีน พบว่า จำปีช้าง ที่ขึ้นในประเทศไทยมีสถานะเป็นจำปีชนิดใหม่ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารจำแนกพรรณไม้นานาชาติ BLUMEA ของหอพรรณไม้ไลเดน แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550
“…จากการศึกษาสถานภาพการกระจายพันธุ์ของจำปีช้าง พบว่า อยู่ในสภาพหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวมีอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ขึ้นอยู่ในป่าดิบเขาที่มีระดับสูงมากกว่า 1,200 เมตร บนยอดดอยในจังหวัดเชียงใหม่ เลย และน่าน มีต้นแม่พันธุ์เหลืออยู่รวมกันเพียงไม่กี่ต้น รวมทั้งไม่มีไม่มีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมาเป็นเวลามากกว่า 50 ปี ขณะนี้ วว.ประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์ “จำปีช้าง” โดยใช้วิธีทาบกิ่งที่ใช้จำปาเป็นต้นตอ ซึ่งต้นกล้าสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบ ทั้งนี้ วว. พร้อมส่งเสริมให้มีปลูกเลี้ยงจำปีช้างเป็นไม้ประดับทั่วประเทศ นับเป็นแนวทางที่จะช่วยให้จำปีช้างพ้นจากสถานภาพหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ในถิ่นกำเนิด ทั้งยังช่วยอนุรักษ์พรรณไม้ดังกล่าวให้อยู่คู่กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน …”ผู้ว่าการ วว.กล่าว
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จำปีช้างมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Magnolia citrata Noot. & Chalermglin เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-35 เมตร เปลือกลำต้นหนาและมีกลิ่นฉุน ใบเดี่ยวเรียงเวียนรอบกิ่ง รูปรีจนถึงเกือบกลม แผ่นใบหนาและเหนียว กว้าง 12-18 เซนติเมตร ยาว 20-25 เซนติเมตร ไม่มีรอยแผลบนก้านใบ ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ กลีบดอกมี 9-12 กลีบ ผลกลุ่ม มีผลย่อย 2-8 ผล ผลกลมรียาว 5-7.5 เซนติเมตร เปลือกผลหนามาก จัดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ลักษณะเด่นของจำปีช้างที่สังเกตได้ง่าย คือ มีใบรูปร่างค่อนข้างกลม ใบใหญ่และหนาคล้ายใบสะท้อน มีผลขนาดใหญ่ที่สุดในพวกจำปีจำปา และเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงมีกลิ่นคล้ายตะไคร้แต่รุนแรงมาก
“..แม้ว่าขณะนี้ต้นกล้าทาบกิ่งของจำปีช้างที่ปลูกกันอยู่ในพื้นราบจะยังไม่ออกดอก ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมของจำปีช้างในถิ่นกำเนิดเดิมที่ออกดอกบานในเดือนเมษายน โดยจำเป็นจะต้องได้รับการกระตุ้นด้วยความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวมาก่อน ในขณะที่ในพื้นราบมีสภาพอากาศที่ไม่หนาวเย็นเพียงพอ จำปีช้างจึงไม่ยอมออกดอก ในอนาคต วว. จะหาวิธีการชักนำให้ออกดอกต่อไป รวมทั้งการนำแต่ละส่วนของจำปีช้างมาพัฒนาให้ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการเกษตร เภสัช หรือในผลิตภัณฑ์ของอาหารต่อไป...” ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน