ซอฟต์แวร์พาร์คผลักกลยุทธ์ใหม่ จับมือเอกชนทำซีเอสอาร์หมู่

พฤหัส ๐๗ สิงหาคม ๒๐๐๘ ๑๐:๒๔
กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--ซอฟต์แวร์พาร์ค
ซอฟต์แวร์พาร์คระดมโปรแกรมฝีมือคนไทยร่วมทำบุญใหญ่ฉลองครบรอบ 10 ปี เดินกลยุทธ์ทำ CSR หมู่ 9 บริษัทซอฟต์แวร์แห่ประเดิม หวังให้หน่วยงานรัฐและองค์กรการกุศล พร้อมภาคการศึกษาของประเทศที่สนใจนำไปปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เผยยอดบริจาคพุ่งกว่า 25 ล้านบาท เชื่อปลุกตลาดซอฟต์แวร์ไทยในระยะยาว
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค เปิดเผยว่า ภายใต้โครงการ 10 ปีซอฟต์แวร์พาร์คจึงได้จัดทำโครงการ Software for Society หรือ ซอฟต์แวร์เพื่อสังคม โดยทางซอฟต์แวร์พาร์คได้ร่วมมือกับบริษัทซอฟต์แวร์ของคนไทย ที่พัฒนาโปรแกรมที่มีคุณภาพ จำนวนเบื้องต้น 9 ราย เพื่อนำซอฟต์แวร์ดังกล่าวมอบให้กับองค์กรการกุศล สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานบริหารงานส่วนท้องถิ่น และ อื่นๆ ฯลฯ โดยโครงการนำร่องในครั้งแรกนี้มุ่งเน้นไปการที่มอบซอฟต์แวร์ให้กับองค์กรและหน่วยงานใน 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐและหน่วยงานการกุศล ภาคการศึกษา และภาคการสาธารณะสุข เพื่อนำไปพัฒนาและยกระดับการเนินงาน และการให้บริการ
ในเบื้องต้นทางบริษัทซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมโครงการจะประกอบด้วย บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IRCP ซึ่งเชี่ยวชาญซอฟต์แวร์ทางด้าน G-ERP หรือ Government Enterprise Resource Planning, บริษัท ทีมเวิร์ค โซลูชั่น ซึ่งเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ การทำงานร่วมกันเป็นทีมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ Collaborative (Web-Based Application) , บริษัท เอเทรียม เทคโนโลยี ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ปกครอง หรือ Internet Parental Control, บริษัท โอเพ่นซอร์ส เทคโนโลยี ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมสำหรับโรงพยาบาลและสุขภาพ, บริษัท คอมพิวเตอร์เทเลโฟนี เอเชีย ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านโปรแกรมคอนแทคส์เซ็นเตอร์, บริษัท พิคซอท์ฟ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมเกมส์ออกกำลังกาย, บริษัท ลานเกียร์เทคโนโลยี ซึ่งเชี่ยวชาญโปรแกรมสื่อการเรียนการสอน 3 มิติ, บริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมพจนานุกรม และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบสอบออนไลน์เคลื่อนที่
มูลค่ารวมของซอฟต์แวร์เบื้องต้นที่นำมาร่วมในขณะนี้มากกว่า 25 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ในภาคอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ขึ้นอีก 5 เท่า เท่ากับเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ซอฟต์แวร์ของคนไทยในภาพรวมในปัจจุบัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดซอฟต์แวร์ในอนาคต
อย่างไรก็ตามทางซอฟต์แวร์พาร์คมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการของบริษัทซอฟต์แวร์เอาไว้ว่า จะต้องมีการมอบสิทธิ์ในการใช้ซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นของบริษัทให้แก่ผู้ใช้งานที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่คิดมูลค่า โดยที่ซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่รวมถึงซอฟต์แวร์ที่เป็น Freeware หรือซอฟต์แวร์ที่ให้สำหรับการทดลองใช้ นอกจากนั้นทางผู้ประกอบการซอฟต์แวร์จะต้องวางรายละเอียดร่วมกันกับซอฟต์แวร์พาร์ค ในการกำหนดจำนวนสิทธิผู้ใช้งานที่เข้าร่วมโครงการ กำหนดขอบเขตการใช้งาน รูปแบบการติดตั้ง การฝึกอบรม และให้บริการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะเกิดต่อผู้ใช้งาน ที่นอกเหนือจากซอฟต์แวร์ (ถ้ามี) ตามความเหมาะสม โดยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ต้องให้การสนับสนุนการใช้งานและบริการอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้จริงอย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด
ส่วนด้านผู้ที่จะรับมอบซอฟต์แวร์ไปใช้งานนั้น ผู้ใช้งานนั้น ทางซอฟต์แวร์พาร์คกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นคือ ต้องมีความจริงจังที่จะนำซอฟต์แวร์ไปใช้พัฒนาการดำเนินงานของตนอย่างมีระบบ และต่อเนื่อง, มีทีมงาน ที่พร้อมจะเรียนรู้ระบบซอฟต์แวร์เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง, มีความพร้อม และเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์, ต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลถึงผลการใช้ซอฟต์แวร์แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เพื่อต่อยอดการพัฒนาซอฟต์แวร์และปรับปรุงประสิทธิภาพในอนาคต, และต้องมีงบประมาณบางส่วนในเตรียมการสำหรับการใช้งานซอฟต์แวร์บางตัว
ปัจจุบันได้มีการคัดเลือกผู้รับมอบซอฟต์แวร์บางส่วน โดยทางซอฟต์แวร์พาร์คกับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้กำหนดจำนวน และกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน แต่ก็ยังเปิดช่องทางให้กับทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ที่ต้องการรับมอบซอฟต์แวร์รายอื่นๆ ได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการนี้จะมีระยะเวลาในการดำเนินการ 1 ปี โดยเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม 2551 นี้
“การมอบซอฟต์แวร์ให้กับผู้สนใจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งสองฝ่ายคือผู้ให้กับผู้รับต้องสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งผลที่จะได้รับนั้นจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อกันทั้งสองฝ่าย หลายที่อาจต้องใช้เวลาในการติดตั้งและงบประมาณส่วนหนึ่ง แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับระบบการค้าซอฟต์แวร์ หรือเกิดการลดความต้องการซื้อซอฟต์แวร์ในตลาดลง” นางสุวิภา กล่าว
นายจำรัส สว่างสมุทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IRCP เปิดเผยว่า ในโครงการนี้บริษัทจะคัดเลือกผู้รับมอบเป็นสองส่วน ส่วนแรกทางบริษัทจะเข้าติดตั้งระบบ Government Enterprise Resource Planning หรือ G-ERP ซึ่งมีผู้ใช้ประมาณ 200 ราย ซึ่งจำกัดที่จำนวนสาขารวมต้องไม่เกิน 8 สาขา รวมสำนักงานใหญ่แล้ว ในส่วนนี้จะไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าข้อมูล ส่วนที่สองจะเป็นการมอบค่าไลเซนส์ซอฟต์แวร์ G-ERP จำนวนผู้ใช้ 50 รายต่อปี โดยเน้นไปที่กลุ่มภาครัฐซึ่งจะนำไปใช้งานด้านระบบงบประมาณทาง IRCP ร่วมกับสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้ามอบให้โครงการเป็นระบบการเตรียมข้อมูลคำของบประมาณ พร้อมคู่มือและการอบรมการใช้ระบบงาน ทั้งนี้มีสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องการติดตั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าว โดยระบบ G-ERP ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในด้านฮาร์ดแวร์ เนื่องจากเป็นซอฟต์แวร์ที่ในระบบ Web Application และจะมีการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์เพื่อรองรับการใช้งานดังกล่าวที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ทั้งนี้องค์กรที่รับมอบต้องมีคอมพิวเตอร์ใช้งานอยู่แล้วเบื้องต้นจำนวนหนึ่งที่เพียงพอกับการใช้งานในองค์กร
สำหรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการมอบ ทาง IRCP กับซอฟต์แวร์พาร์คระบุให้ ผู้ที่มีสิทธิในการรับมอบต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีสาขาไม่เกิน 8 สาขา โดยรวมสำนักงานใหญ่หรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีสาขา เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาล และมีพนักงานไม่เกิน 500คน หรือองค์กรอิสระ ที่มีพนักงานไม่เกิน 500 คน และต้องมีที่ตั้งอยู่ภายรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ โดยที่หน่วยงานนั้นๆ ต้องยินยอมให้บริษัท IRCP สำรวจความพร้อมของหน่วยงาน โดยการสัมภาษณ์ความพร้อมด้านบุคคลากร, อุปกรณ์, Know How ของหน่วยงานนั้นๆ แต่หากเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต้องเป็นอบต.ชั้นที่ 1-3 เท่านั้น
นายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมพิวเตอร์เทเลโฟนี เอเชีย เปิดเผยว่า บริษัทจะมอบซอฟต์แวร์ทางด้าน Knowledge Service จำนวน 3 โครงการ โดยผู้ที่รับมอบจะสามารถใช้สิทธิ์ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยหน่วยงานที่มีสิทธิรับมอบต้องเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีเงื่อนไขว่าบริษัทฯ จะมอบซอฟต์แวร์ที่เป็น Standard Version ตาม Function การใช้งานเบื้องต้น โดยไม่สามารถจะ Customized หรือปรับแต่งได้ และทางบริษัทอนุญาตให้หน่วยงานที่ได้รับมอบสิทธิใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทจำนวน 10 Licenses (Concurrent) โดยมีเงื่อนไขว่าหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับมอบจะเป็นผู้จัดเตรียมฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์เพื่อการติดตั้งใช้งานของซอฟต์แวร์ดังกล่าว
นายฉัตรมงคล เขมาภิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีมเวิร์ค โซลูชั่น เปิดเผยว่า บริษัทจะมอบสิทธิ์การใช้งานซอฟต์แวร์ทางด้านการทำงานเป็นทีมผ่านระบบ web application ให้กับผู้รับมอบจำนวน 10 องค์กร โดยสามารถใช้สิทธิ์การใช้งานเป็นเวลา 1 ปี ในขั้นต้นองค์กรที่รับมอบคำนวณจำนวนผู้ใช้งานขั้นสูงสุดที่ 500 รายต่อองค์กร โดยคุณสมบัติของผู้รับมอบซอฟต์แวร์ต้องเป็นหน่วยงานสาธารณประโยชน์ โดยทางบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบให้มีการใช้งานผ่าน Web Hosting ของบริษัทฯเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และจะมีการจัดทำ CD คู่มือการใช้งานระบบ โดยหน่วยงานที่ได้รับมอบสามารถนำไปศึกษาด้วยตัวเองได้ หากภายหลังระยะเวลา 1 ปี แล้วองค์กรที่ได้รับมอบซอฟต์แวร์ต้องการที่จะใช้ระบบต่อไป หรือมี Module ใดที่จำเป็นต้องติดตั้งเพิ่มเติมอันจะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับหน่วยงาน สามารถติดต่อกับบริษัทได้โดยตรง
ดร.พงศกร สายเพ็ชร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเทรียม เทคโนโลยี เปิดเผยว่า บริษัทเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยการมอบโปรแกรมใส่ใจ สำหรับเพิ่มความปลอดภัย ป้องกันอันตรายในการเล่นอินเตอร์เน็ต เล่นเกม และการสนทนาผ่านเน็ต (แชท) สำหรับกลุ่มเยาวชน โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นผู้รับมอบซอฟต์แวร์นี้จะเป็นโรงเรียนทั่วไป โดยไม่มีการจำกัดจำนวน คาดว่าในเบื้องต้นเฉลี่ย 40-80 เครื่องต่อโรงเรียน โดยยินยอมให้ใช้ซอฟต์แวร์เป็นเวลา 3 ปี หรือเป็นหน่วยงานที่นำซอฟต์แวร์ดังกล่าวไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และไม่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ทางบริษัทจะทำซีดีติดตั้งโปรแกรมให้แต่ละโรงเรียนเพื่อเป็นคู่มือในการใช้งาน โดยไม่มีการอบรม
นายสมพร มณีรัตนะกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ เปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายที่บริษัทจะมอบซอฟต์แวร์เพื่อเข้าร่วมโครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการ เพื่อให้ใช้ซอฟต์แวร์พจนานุกรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะมอบสิทธิ์ในการใช้เป็นเวลา 1 ปี โดยที่จะสามารถส่งมอบซอฟต์แวร์ให้กับผู้รับมอบได้ 10,000 สิทธิ์การใช้งาน โดยมีเงื่อนไขว่าจะให้สิทธิ์เฉพาะใช้ภายในหน่วยงานที่ระบุเท่านั้น โดยต้องแจ้งชื่อ, ที่อยู่ และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อบริษัทจัดทำเอกสารสิทธิ์การใช้งานพร้อมแผ่นโปรแกรมมอบให้หน่วยงานที่ได้รับเป็นหลักฐานตามกฎหมาย
นายศุภเสฎฐ์ ชูชัยศรี ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ลานเกียร์เทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในโครงการนี้บริษัทจะนำระบบพร้อมอุปกรณ์สร้างการเรียนรู้ด้วย สื่อการเรียนรู้ 3 มิติ Mixed Reality สำหรับการเรียนการสอนวิชาเคมีระดับมัธยมปลาย ที่จะทำให้เด็กไทยกระตือรือร้นและอยากที่จะเรียนรู้เนื้อหาการเรียนการสอนต่างๆ อย่างสนุกสนาน จำนวน80 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยแผ่น CD และ Web Cam โดยจะมอบสิทธิ์ให้ตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ สำหรับการติดตั้งและการใช้งานสามารถทำได้ใช้แผ่น CD ซึ่งจะมี VDO สำหรับแนะนำการติดตั้ง โดยหากติดปัญหาในการติดตั้งสามารถสอบถามได้โดยตรงกับตัวแทนของบริษัท
นายสน หาญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิคซอฟท์ เปิดเผยว่า บริษัทได้นำเกม Boost Life สำหรับส่งเสริมการออกกำลังกายโดยใช้กล้องเว็บแคมมาเข้าร่วม โดยมีเป้าหมายจะมอบให้กับโรงเรียนทั่วไปจำนวน 100 แห่ง แต่ทางโรงเรียนต้องไม่นำซอฟต์แวร์เกมนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามการใช้งานของเกมออกกำลังกาย ต้องใช้ร่วมกับ webcam ซึ่งทางโครงการไม่ได้รวมเป็นค่าใช้จ่ายไว้ในการมอบครั้งนี้
นายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นซอร์ส เทคโนโลยี เปิดเผยว่า เนื่องจากปีงบประมาณ 2551 ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กำหนดการจัดสรรเงินงบประมาณด้านการประกันสุขภาพ โดยติดตามผลงานรูปแบบของรายงานข้อมูล โดยกำหนดให้หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในสังกัด สปสช. จัดส่งข้อมูลด้านการให้บริการสุขภาพทั้งด้านส่งเสริมป้องกันและการบริการตรวจรักษา ให้กับ สปสช. โดยจัดส่งในรูปแบบรายงาน 18 แฟ้ม ซึ่งส่งผลให้โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีเครื่องมือสำหรับจัดเก็บข้อมูลการให้บริการประชากรเพื่อดำเนินการจัดส่งรายลานข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ถูกต้องและอยู่ภายใต้เวลาที่กำหนดได้
จากผลการสำรวจข้อมูล การส่งรายงานของแต่ละโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิก Hospital OS ของทางบริษัทพบว่า แต่ละโรงพยาบาลยังขาดความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดและความหมายของข้อมูล 18 แฟ้มรวมถึงวิธีการใช้งานโปรแกรม Hospital OS ในการจัดเก็บข้อมูล 18 แฟ้ม ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามชุดข้อมูลมาตรฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งส่งผลให้แต่ละสถานพยาบาลจัดส่งแฟ้มข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน ดังนั้นทางบริษัทจึงได้นำโครงการนี้เข้าร่วมกับทางซอฟต์แวร์พาร์ค ด้วยการจัดอบรมโดยมีเป้าหมายให้แต่ละโรงพยาบาลมีความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างของชุดข้อมูลมาตรฐาน 18 แฟ้มและดำเนินการจัดส่งรายงานให้กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยทางบริษัทจะสอนเทคนิค วิธีการ การตรวจสอบความครบถ้วนและถูกต้องของข้อมูลตลอดจนเทคนิคในการปรับปรุง ระบบการบริการ ให้สอดคล้องกับหน้าจอโปรแกรม เพื่อลดความผิดพลาดในการจัดเก็บข้อมูล และได้วางเป้าหมายให้โรงพยาบาลผู้เข้าอบรมสามารถจัดส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ครบถ้วนให้กับ สปสช. ได้ภายในปี 2551
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพันธุ์ ชาญศิลป์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยได้มอบระบบสอบออนไลน์ที่เป็นโอเพนซอร์ส สามารถใช้งาน ปรับปรุงและแจกจ่ายได้ฟรี ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเติม เพียงเลือกติดตั้งที่เครื่องใดเครื่องหนึ่งในห้องคอมพิวเตอร์ หรืออาจติดตั้งบนเครื่องโน็ตบุ๊ค ก็จะได้เครื่องเซิร์ฟเวอร์พร้อมสำหรับการสอบ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้จากทางเว็บไซต์ http://linux.sut.ac.th หรือสามารถติดต่อกับสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้จัดส่ง CD ให้ พร้อมกับการจัดฝึกอบรมให้โดยต้องมีผู้เข้าอบรม 40 คนขึ้นไป โดยมีเงื่อนไขคือหน่วยงานที่ต้องการอบรมต้องเป็นผู้จัดหาและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในด้านสถานที่ฝึกอบรม แต่หากเป็นหน่วยงานภาคการศึกษาซึ่งมีที่ตั้งอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่รวมตัวผู้เข้าอบรมได้ตั้งแต่ 40 ท่านขึ้นไป สามารถรับการอบรมได้ที่เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สุกัญญา ฉัตร์แก้วมรกต (หน่อย)
โทร. (02) 583-9992, (02) 962-2900 ต่อ 1481

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๗ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เป็นวิทยากรพิเศษ Brokerage and selling strategy ให้กับโครงการปริญญาโทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
๑๖:๓๓ เจโทรฯ จัดงาน JAPAN PREMIUM HOTATE - From HOKKAIDO Ocean to your Table - ชูความสำเร็จ ดันส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะจากญี่ปุ่นมาไทย โตขึ้นเป็น 2.3
๑๖:๑๒ การ์ทเนอร์เผยคาดการณ์ 8 ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ แห่งปี 2567
๑๖:๓๖ KGI จัดพิธีทำบุญบริษัท เปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่ One Bangkok ด้วยแนวคิดพื้นที่แห่งความยั่งยืน
๑๖:๓๕ LINE STICKERS เสิร์ฟฟีเจอร์ใหม่แกะกล่อง 'คอมบิเนชัน สติกเกอร์' ส่งสติกเกอร์หลายตัว ได้ในคราวเดียว เพิ่มความสนุกทวีคูณให้การแชท
๑๖:๕๔ 'จุฬาฯ' จับมือ 'ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์' วิจัยและพัฒนาการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ
๑๖:๑๙ ประกาศ!! พร้อมจัดงาน PET Expo Thailand 2024
๑๖:๔๓ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดตัวซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการพลังงาน เพื่อความยั่งยืน ในงาน Future Energy
๑๖:๕๘ เตรียมสายจูงให้พร้อมแล้วพาน้องแมวน้องหมามาสนุกกันอีกครั้งกับ โรยัล คานิน ในงาน Pet Expo Thailand 2024
๑๕:๒๖ MAGURO หุ้นไอพีโอสุดฮอตจัดประชุมนักวิเคราะห์ ก่อนขาย IPO 34 ล้านหุ้นไตรมาสนี้