รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2551

พฤหัส ๒๘ สิงหาคม ๒๐๐๘ ๑๕:๑๐
กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงข่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2551 ว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากอุปสงค์จากต่างประเทศด้านการส่งออกที่ขยายตัวได้ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศจากการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าเสถียรภาพภายในประเทศยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของปี อันเป็นผลจาก 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน และทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงโดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2551 ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคด้านสินค้าคงทนจากยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ร้อยละ 16.3 ต่อปี เนื่องจากรายได้ประชาชนในเขตภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นตามรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 27.5 ต่อปีในเดือนกรกฎาคม ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังคงขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 40.7 ต่อปี สอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (ณ ราคาคงที่) ขยายตัวถึงร้อยละ 23.3 ต่อปี เร่งตัวขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ร้อยละ 7.6 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณการนำเข้าที่อยู่ในระดับสูงมาก สำหรับเครื่องชี้แนวโน้มการบริโภคในอนาคตอันได้แก่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกรกฎาคมปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 71.8 จุด จากระดับ 70.8 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจาก 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศโดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและก๊าซโซฮอลที่เริ่มปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม 2551
2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2551 เริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่เร่งตัวขึ้นที่ถึงร้อยละ 28.4 ต่อปี ในเดือนกรกฎาคม เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งปริมาณการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการนำเข้าสินค้าทุนสูงเป็นพิเศษในหมวดแท่นเจาะและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ ในขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้างมีการปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เร่งตัวขึ้นถึงร้อยละ 43.0 ต่อปีในเดือนกรกฎาคม อันเป็นผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนธุรกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคมหดตัวที่ร้อยละ -29.3 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของรถบรรทุกและรถปิคอัพเป็นหลัก
3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนกรกฎาคม 2551 พบว่ารายได้จัดเก็บของรัฐบาลสุทธิอยู่ที่ 105.5 พันล้านบาท หรือขยายตัวในอัตราร้อยละ 22.1 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีการโอนจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 6.9 พันล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมการโอนภาษีดังกล่าว รายได้สุทธิของรัฐบาลในเดือนกรกฎาคมจะขยายตัวที่ร้อยละ 9.8 ต่อปี ขณะที่รายได้ภาษีจาก 3 กรมจัดเก็บขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 14.4 ต่อปี สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องและระดับราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้าขยายตัวได้ในระดับสูง ทั้งนี้ ภาษีฐานรายได้ในเดือนกรกฎาคมขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อปี ตามรายได้ของนิติบุคคลที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 33.3 ต่อปี ตามมูลค่าการนำเข้าขยายตัวในระดับสูง สำหรับรายจ่ายงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2551 สามารถเบิกจ่ายได้รวมทั้งสิ้น 134.5 พันล้านบาท หดตัวจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี โดยรายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 115.9 พันล้านบาท หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ในขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 18.6 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -20.2 ต่อปี เนื่องมาจากปัจจัยฐานที่สูงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีการโอนงบลงทุนให้แก่ส่วนราชการและ อปท. ในจำนวนที่สูง ทั้งนี้ รายจ่ายงบประมาณในช่วง 10 เดือนแรกสามารถเบิกจ่ายไปได้แล้ว 1,359 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราการเบิกจ่ายของรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 คิดเป็นร้อยละ 76.4 ของกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2551 (1,660 พันล้านบาท) โดยคาดว่า การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 94.0 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551
4. มูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2551 ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 43.9 ต่อปี เร่งจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 27.4 ต่อปี ด้วยมูลค่าที่สูงสุดที่ 17.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการขยายตัวด้านปริมาณการส่งออกที่ร้อยละ 24.2 ต่อปี และราคาสินค้าส่งออกที่ร้อยละ 15.9 ต่อปี ซึ่งการส่งออกที่ขยายตัวสูงนี้มาจากเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าเกษตร และอัญมณี ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่เมื่อพิจารณาจากมิติด้านตลาดคู่ค้า พบว่าเป็นการขยายตัวดีในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดส่งออกใหม่ เช่น ทวีปออสเตรเลีย และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม 2551 ปรับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยขยายตัวร้อยละ 55.1 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 30.7 ต่อปี โดยมีมูลค่า 18.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการขยายตัวด้านปริมาณนำเข้าที่ร้อยละ 30.2 ต่อปี และราคาการนำเข้าที่ร้อยละ 19.1 ต่อปี ซึ่งการนำเข้าที่ขยายตัวในระดับสูงนี้เป็นการขยายตัวที่เร่งขึ้นในทุกหมวดสินค้าเช่นกัน ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง อุปโภคบริโภค เครื่องมือเครื่องจักร และวัตถุดิบ ซึ่งการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่เร่งตัวขึ้นมากนี้ บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของไทยน่าจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องในอนาคต ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกนั้น ทำให้ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคมขาดดุลที่ -1.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานในเดือนกรกฎาคม 2551 พบว่า ผลผลิตภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนกรกฎาคมขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 9.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 8.8 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และเครื่องแต่งกาย ที่ขยายตัวดีขึ้น สำหรับเครื่องชี้ภาคการเกษตรยังคงขยายตัวได้ดี โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนกรกฎาคมยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 11.7 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตการเกษตรสำคัญเช่น ข้าวนาปรัง ยางพาราและมันสำปะหลัง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวมากขึ้น สำหรับภาคบริการจากการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 1.3 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 9.3 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี โดยสาเหตุหลักน่าจะมาจากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้สายการบินส่วนใหญ่มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน และค่าโดยสารเครื่องบิน ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในด้านเสถียรภาพภายนอกนั้น ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 อยู่ที่ 104.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 4 เท่า ในขณะที่เสถียรภาพในประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 8.9 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้าเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูง และราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่า 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคนของรัฐบาลที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในเดือนสิงหาคมจะทำให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในอนาคตอาจปรับตัวลดลง นอกจากนี้อัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ เดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ร้อยละ 35.8 ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50.0 ค่อนข้างมาก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๑ MSC เปิดบ้านต้อนรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
๑๗:๔๒ ค้นหาตัวตน ค้นหาคณะในฝัน! ค่าย SPULaw NextGen Law เปิดประสบการณ์ชีวิตนักกฎหมาย กับ DOLPHIN CAMP
๑๗:๑๓ พาราไดซ์ พาร์ค ผนึก วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ชวนมาตรวจเช็คสุขภาพ ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย
๑๗:๓๐ ศุภมาส เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ไทย - จีน ขยายความร่วมมืองานวิจัยสังคมศาสตร์และมนุษศาสตร์ พร้อมเปิดศูนย์วิจัยจีน (CASS - NRCT
๑๗:๓๐ กรมโยธาธิการฯ ลงพื้นที่ร่วมกับ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ติดตามการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แก้ปัญหาน้ำท่วมเพชรบุรี
๑๗:๕๑ กรมโยธาฯ ร่วมคณะ มท.2 ลงพื้นที่เพชรบุรี ติดตามความพร้อมโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เร่งแก้ปัญหาการกัดเซาะ
๑๗:๒๘ มหาวิทยาลัยแห่งชาติผิงตง เร่งพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตศึกษาร่วม มบส.
๑๗:๑๙ ม.กรุงเทพต้อนรับจังหวัดปทุมฯจัดประชุมแผนพัฒนาด้วยศักยภาพที่พร้อม
๑๗:๓๑ รับสมัครนักศึกษาใหม่ 2567 ระดับปริญญาตรี ภาคปกติ (รอบที่ 4 Direct Admission)
๑๗:๒๗ AnyMind Group เปิดผลประกอบการไตรมาส 1 ของปี 2567