ไบโอเทค ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเอนไซม์เพนโตซาเนส สู่ภาคเอกชน ลดการนำเข้าเอนไซม์ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์บก

พฤหัส ๐๘ มกราคม ๒๐๐๙ ๑๕:๐๓
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ศูนย์ไบโอเทค ภายใต้สังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ร่วมกับ บริษัท เอเซีย สตาร์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด โดย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศึกษาวิจัยเรื่อง การผลิตเอนไซม์เพนโตซาเนสจากเชื้อ Aspergillus sp. BCC7178 บนอาหารแข็งในระดับนำร่องอุตสาหกรรม พบว่าสามารถทำการขยายขนาดการผลิตได้ง่ายและได้ผลิตภัณฑ์เอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพและความสม่ำเสมอ ส่งผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์

เอนไซม์เพนโตซาเนส เป็นเอนไซม์ที่นิยมใช้เสริมในอาหารเลี้ยงสัตว์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหารสำหรับสุกรและไก่ มีความเหมาะสมกับการย่อยวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ภายในประเทศ การวิจัยและพัฒนาการผลิต เอนไซม์เพนโตซาเนส ในประเทศไทย นักวิจัยไทยได้ผลิตโดยใช้จุลินทรีย์ที่คัดแยกได้ภายในประเทศ ซึ่งเหมาะสมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ใช้ในประเทศไทย เป็นลักษณะของเอนไซม์รวมเพื่อเสริมในอาหารสัตว์โดยเฉพาะสุกรและไก่ มีประโยชน์ต่อสัตว์เลี้ยง ผู้เลี้ยงและสิ่งแวดล้อม

- สำหรับสัตว์เลี้ยง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ย่อยสลายยาก สัตว์สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารต่างๆ ไปใช้ได้มากขึ้น มีอัตราการแลกเนื้อดีขึ้น มีสุขภาพแข็งแรงและลดอัตราการเจ็บป่วย

- สำหรับผู้เลี้ยง จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเมื่อสัตว์ไม่เจ็บป่วยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และที่สำคัญทดแทนการนำเข้าเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จากต่างประเทศที่มีราคาแพง

- สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม การที่สัตว์สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารได้ดี ทำให้มีการตกค้างของสารอินทรีย์ในมูลสัตว์น้อยลง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นและมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมได้

และในวันนี้ (8 ม.ค. 52) ได้จัดให้มีลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตเอนไซม์เพนโตซาเนสจากเชื้อสายพันธุ์ Aspergillus sp. BCC7178 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์บกระหว่าง ไบโอเทค สวทช.กับ บริษัท เอเซีย สตาร์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์บก

โดย ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “ไบโอเทค สวทช.มีโปรแกรมการวิจัยและพัฒนาการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ประเทศไทยในแต่ละปีมีปริมาณการใช้จุลินทรีย์หรือสารที่ผลิตจากจุลินทรีย์ปริมาณมาก ซึ่งสัมพันธ์กับตัวเลขการนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆในปริมาณสูงมากขึ้นทุกปี เป้าหมายหลักของโปรแกรมวิจัยนี้ เพื่อให้ได้ต้นแบบหรือผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งทางการค้า หรือเป็นประโยชน์แก่ภาคสาธารณะได้จริง เพื่อส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ขึ้นในประเทศไทย ช่วยให้ประเทศสามารถประยุกต์ใช้จุลินทรีย์หรือสารจากจุลินทรีย์ตั้งแต่ในระดับอุตสาหกรรมครัวเรือนไปจนถึงระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการส่งออก นับเป็นการสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าทรัพยากรชีวภาพของไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ด้าน คุณกฤษณ โชคพิพัฒนผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเซีย สตาร์ แอนนิมัล เฮลธ์ จำกัด กล่าวว่า

“เราเป็นบริษัทคนไทยที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจด้านปศุสัตว์ มีแนวทางในการพัฒนาในรูปแบบที่ยั่งยืน พัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยอาศัยงานวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูง สำหรับการลงนามสัญญาในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเอนไซม์เพนโตซาเนส จาก ไบโอเทค สวทช.ในวันนี้ เรามีความเชื่อมั่นว่าจะช่วยเป็นแรงเสริมให้กับบริษัทในการพัฒนาธุรกิจให้มีความก้าวหน้าตามเป้าหมายที่เราได้วางแผนไว้”

บริษัท เอเซีย สตาร์ แอนนิมัล เฮลธ์ จำกัด พัฒนามาจาก บริษัท เอเซีย สตาร์ แลป จำกัด มีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ จากประสบการณ์กว่า 10 ปี และการวางแผนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทสองกลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มบริษัท อาร์ เอ็กซ์ จำกัด และ กลุ่มบริษัท พิสิษฐ์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจกว่า 30 ปี และกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินอยู่นั้นมีความหลากหลาย ซึ่งได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนได้รับการรับรองคุณภาพต่างๆ ได้แก่ GMP, ISO 9001:2000, ISO 14001:2004 และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล www.asah.co.th

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526 เป็นหนึ่งในศูนย์แห่งชาติภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานชั้นนำของประเทศและภูมิภาคที่ดำเนินการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ด้วยห้องปฎิบัติการที่มีมากกว่า 30 ห้องและนักวิจัย 150 คน ศูนย์ไบโอเทคดำเนินการวิจัยตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงการวิจัยประยุกต์ คลอบคลุมทั้งการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร วิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยวิจัย 3 หน่วยตั้งอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และอีกประมาณ 10 หน่วยเป็นหน่วยวิจัยเฉพาะทางตั้งอยู่ตามมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐต่างๆ ทั่วประเทศ www.biotec.or.th

งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.

บงกช สาริมาน โทร. 02-564-6700 ต่อ 3315 โทรสาร 02-564-6703 มือถือ 081-819-3945

e-mail: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน