เนคเทค ร่วมกับราชมงคล จับมือภาคเอกชน นำร่องเพิ่มขีดความสามารถให้นักศึกษาก่อนสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

พฤหัส ๒๓ เมษายน ๒๐๐๙ ๑๑:๐๔
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย และ ผศ.ดร.นำยุทธ์ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือพัฒนากำลังคนระหว่างเนคเทค ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน (สทป.) “โครงการเพิ่มขีดความสามารถนักศึกษาสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Go to Software Industry)” ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนพระรามหก กรุงเทพฯ

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดเผยว่า โครงการ “การเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษาสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Go to Software Industry)” เป็นไปตามนโยบายสำคัญของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในเรื่อง "สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต" และเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างเนคเทค ภาคเอกชน มทร.และ สทป. เพื่อสนับสนุนการวางแผนการผลิตกำลังคนของ มทร. และ สทป. ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้ทำ MOU ตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 เนคเทคในฐานะที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการดำเนินงานความร่วมมือนี้ ได้มีการสนับสนุนให้เกิดการประชุมหารือเพื่อผลักดันกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมในวันนี้ เนคเทคก็ได้สนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการดำเนินงานและ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ในการฝึกอบรมฯ

ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่มาของการจัดกิจกรรมข้างต้น เกิดจาการที่เนคเทคได้ดำเนินการศึกษาวิจัยในโครงการ 2 เรื่อง คือ “แนวทางการผลิตกำลังคนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ และ“แนวทางการดำเนินการปฏิบัติสหกิจศึกษาในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พบว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาสาขาที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ที่จบจาก มทร. และ สทป. ประมาณหนึ่งหมื่นคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของนักศึกษาที่จบด้านนี้ทั้งประเทศ จากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่ม มทร. และ สทป. ถือได้ว่ามีความเข้มแข็งที่เป็นกลุ่มบัณฑิตนักปฏิบัติ ซึ่งถือว่าจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต ในขณะที่งานวิจัยของเนคเทคอื่นๆ พบว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยยังมีการขาดแคลนบุคลากรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่มีผู้สำเร็จการศึกษาบางส่วนมีความรู้/ทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือการเรียนการสอนไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ในการหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดกับอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งหลังจากการอบรมนี้ จะมีการประเมินผลเพื่อนำข้อมูลไปสนับสนุนแนวทางการพัฒนา/ปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนในสาขาซอฟต์แวร์ใน มทร. และ สทป. ต่อไปได้

นายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามคณะทำงานกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้มีความร่วมมือพัฒนากำลังคนกันขึ้น กล่าวเสริมว่า การพัฒนากำลังคนเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งของประเทศในระยะยาว และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก็เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ อีกทั้งในแต่ละปี มทร. และ สทป. ก็มีบทบาทที่สำคัญในการผลิตบุคลากรด้านไอที หรือบัณฑิตนักปฏิบัติออกสู่ตลาดแรงงาน/ภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยอยู่แล้ว หากใช้โอกาสนี้ปั้นและใส่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการอีกเล็กน้อยให้กับบัณฑิตที่จบใหม่หรือกำลังจะจบ ก็เชื่อว่าจะได้คนที่มีคุณภาพและมีความพร้อมเข้าสู่การทำงานจริงในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากต้องการกิจกรรมผลักดันในการพัฒนากำลังคนที่สามารถเห็นผลได้ในระยะเวลาสั้นแล้ว ATSI จึงร่วมมือกับเนคเทค และ มทร. ร่วมกันจัดทำโครงการนำร่องที่จะใช้พัฒนาความรู้ในเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มศักยภาพให้กับบัณฑิตกลุ่ม มทร.และ สทป. ขึ้น เป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาในการฝึกอบรม 5 วัน ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ วิชาพื้นฐานทั่วไป และวิชาชีพเฉพาะทางอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิส่วนหญ่จะมาจากภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และที่เกี่ยวข้อง มี case study มี show case ให้ดูและทดลองทำจริงๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเชื่อมโยงได้ครบทั้งกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ การเรียนการสอนจะมีลักษณะของการผสมผสานและเชื่อมโยงความรู้ที่เรียนกับสิ่งที่จะใช้งานจริงเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อให้บัณฑิตที่ผ่านการอบรมสามารถออกไปทำงานได้ทันที และที่สำคัญบัณฑิตที่ผ่านการฝึกอบรมนี้จะได้รับวุฒิบัตรเมื่อทดสอบผ่านการฝึกอบรมแล้ว การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ รุ่นที่ 1 นี้กำหนดจะจัดให้มีขึ้น ในระหว่างวันที่ 27 เมษายน — 1 พฤษภาคม 2552 ณ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ สำหรับการอบรมฯ รุ่นที่ 1 นี้ จะเปิดให้มีการอบรมวิชาชีพเฉพาะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 2 โปรแกรม คือ PHP และ .NET เนื่องจากระยะเวลา และข้อจำกัดหลายๆ อย่าง สำหรับการจัดในปีต่อๆ ไปจะมีการเพิ่มอีก 2 หัวข้อหลักคือ Java และ Embedded ซึ่งจะอาศัยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน รวมถึง TESA ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้ MOU และนายสมเกียรติฯ ยังทิ้งท้ายอีกว่า จะนำผลที่ได้จากการจัดการฝึกอบรมในรุ่นที่ 1 นี้ มาใช้ประกอบในการวางแผนในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนากำลังคนในอนาคตต่อไป

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย หนึ่งในหลายๆ วิทยากรในการอบรมนี้ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หัวข้อที่จะบรรยายในวันที่ 27 เมษายน 2552 นั้น จะเป็นการบรรยายให้นักศึกษาได้รับทราบและเข้าใจว่าสถานภาพ บทบาท ความสำคัญ แนวโน้ม และการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย รวมถึงเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ยุคใหม่ มาตรฐานนานาชาติเกณฑ์คุณภาพและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เพื่อปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างครบวงจรให้นักศึกษาสามารถปรับตัวเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะของประธานกลุ่ม มทร. ทั้งหมด และประธานคณะทำงานความร่วมมือฯ การพัฒนากำลังคนฯ ได้กล่าวสรุปให้เห็นถึงภาพรวมประโยชน์ที่จะได้รับทางด้านอุปทาน (ผู้ผลิตบัณฑิต) ว่า การขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตบุคลากรจะเป็นจะต้องร่วมมือและเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กลุ่ม มทร. และ สทป. ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีส่วนสำคัญในการผลิตบุคลากรออกสู่ตลาดแรงงานหน่วยงานหนึ่งจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง เพิ่มศักยภาพ ตลอดจนปรับตัวเพื่อรองรับการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมตามไปด้วย “โครงการเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษาสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Go to Software Industry)” ของคณะทำงานกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาตนเองให้กับบัณฑิตนักปฏิบัติของ กลุ่ม มทร. และ สทป. ให้สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดีต่อไป

โครงการเพิ่มขีดความสามารถนี้ นอกจากหน่วยงานหลักในการจัดงานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีภาคเอกชนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้การสนับสนุนด้านวิทยากรอีกมากมาย อาทิ บริษัทไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และโรงเรียนอินเทอร์เน็ตและการออกแบบ ฯลฯ ทั้งนี้โครงการในลักษณะนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 5 รุ่น (ปีละ 1 รุ่น)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ดร.กษิติธร ภูภราดัย/ อุบลวรรณ คำแก้ว

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสต์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

โทร. 02-564-6900 ต่อ 2353, 2328

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ พ.ค. สุรีย์พร คลินิก เปิดตัวตึกสูงที่สุดแห่งวงการคลินิกสถาบันเสริมความงาม ฉลอง 20 ปีความสำเร็จพร้อมยกระดับชูเทคโนโลยีล้ำสมัย Volformer
๑๗ พ.ค. ปตท.สผ. จัดงานประชุม SSHE Forum 2024 ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน
๑๗ พ.ค. บมจ. เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) แนะนำ ชุดล็อคประตูกลอนแม่เหล็กไฟฟ้า จากแบรนด์ HIP
๑๗ พ.ค. ซัมซุง อัปเกรดประสบการณ์การชมทุกมหรรมกีฬา ด้วยนวัตกรรม AI TV สุดล้ำ ชัดทุกแมตซ์เหมือนเชียร์ติดขอบสนาม
๑๗ พ.ค. ไทยพาณิชย์ปักหมุดผู้นำดิจิทัลแบงก์ นำ AI เสริมแกร่ง 360 องศา เปิด 3 นวัตกรรม AI ครั้งแรก! สร้างปรากฏการณ์ใหม่กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ Digital
๑๗ พ.ค. หัวใจเต้นช้า โรคหัวใจที่มักถูกมองข้าม
๑๗ พ.ค. DDD โชว์งบ Q1/67 กวาดกำไรทะยาน 317% YoY พร้อมลุยขยายตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ อัพผลงานปีนี้โตสวย
๑๗ พ.ค. PCC เปิดงบ Q1/67 รายได้โต 14.25% ยอดขายสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า - อุปกรณ์ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพิ่มขึ้น มั่นใจรายได้ปีนี้โต 10%
๑๗ พ.ค. บางจากฯ สานต่อพันธกิจสนับสนุนด้านกีฬาอย่างเป็นมิตรต่อโลก ร่วมจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง Olympic Day 2024 Together, For A Better
๑๗ พ.ค. บัตรเครดิต ttb ช้อปคุ้ม อิ่มครบ ได้มากกว่า รับ Magic Gift Voucher รวมมูลค่าสูงสุด 1,500 บาท ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้ง 5