“TMC หนุน 3 นวัตกรรมไทยคว้าเหรียญทอง ITEX’ 09”

ศุกร์ ๒๙ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๓:๕๑
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก ส่งผลให้การแข่งขันยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ การทำ “นวัตกรรม” เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า การเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีความแตกต่างเหนือคู่แข่งและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และการบริหารจัดการที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสและช่องทางให้กับธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) กล่าวว่า หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (ซายน์พาร์ค : TSP) เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านต่างๆ ให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการ SMEsในช่วงเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจ และสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการที่เข้ารับการบ่มเพาะฯในการขยายฐานทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีในต่างประเทศ ตลอดจนการนำนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยสู่เวทีการประกวดนวัตกรรมระดับโลก

“การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีนั้นนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากช่วยให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังไม่พร้อมจะประกอบกิจการด้วยตนเองได้มีผู้ดูแลที่เปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำในการประกอบธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจได้เองในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง”

ดร.สุพัทธ์ พู่ผกา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สายงานโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวด้วยว่า จากผลงานของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีที่ผ่านมา ล่าสุดมีเอกชน 3 รายซึ่งเป็นสมาชิกในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจฯ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยได้เข้าร่วมงาน International Invention, Innovation and Technology Exhibition หรือ ITEX’ 09 ซึ่งเป็นการแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ระดับนานาชาติที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมงานเป็นทั้งนักธุรกิจ นักประดิษฐ์และนักเทคโนโลยีจากนานาชาติ จัดขึ้นโดย MINDS : Malaysian Invention and Design Society ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ผลความสำเร็จภายในงานนี้ คือ เอกชนไทยทั้ง 3 รายสามารถคว้าเหรียญทองในงานดังกล่าวจากสาขาต่างๆได้แก่ สาขาการสื่อสาร, สาขาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน และสาขาไบโอเทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นการเปิดตลาดนวัตกรรมไทยให้เป็นที่รู้จัก และเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ฐานความรู้มาบูรณาการ นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์

ด้าน นายเฉลิมลาภ ศักดาปรีชา กรรมการผู้จัดการบริษัท มายด์ อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับรางวัลเหรียญทองในงาน ITEX’ 09 สาขาการสื่อสาร กล่าวว่า จากปัญหาการใช้บริการอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ที่ต้องใช้วิธีเหมาจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายชั่วโมงแต่ไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายตามนาทีที่ใช้งานจริง จึงเกิดแนวคิดประดิษฐ์ Intelligence Wifi-Box หรือ ตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะ ขึ้นมา ซึ่งตู้ดังกล่าวมีคุณสมบัติ คือ เมื่อต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถหยอดเหรียญไปตามความต้องการใช้งานและตู้จะออก Ticket ที่มี Username และ Password ออกมาให้สามารถนำไปใช้ในงานอินเทอร์เน็ตได้ตามจริง ค่าบริการเฉลี่ยนาทีละ 20 สตางค์ และหากใช้ไม่หมดตามระยะเวลาดังกล่าวยังสามารถเก็บไว้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในครั้งต่อไปได้โดยมีอายุการใช้งาน 3 เดือน ทำให้ลูกค้าสามารถจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตตามการใช้งานจริง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวก

ด้านความสามารถในการให้บริการตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ในรัศมีระยะ 150 เมตรรอบบริเวณที่ติดตั้งตู้ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับสถาบันนวัตกรรม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายการผลิตตู้จำหน่ายอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมามีการนำ Intelligence Wifi-Box ติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานทั้งบริเวณร้านสะดวกซื้อ หรือตามหอพักต่างๆ เช่น ให้บริการแก่ลูกค้าในหอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดี เนื่องจากลูกค้ามีความพอใจในค่าบริการที่จ่ายตามจริง

“การเข้าเป็นหนึ่งในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีของซายน์พาร์ค ยังเป็นตัวช่วยที่ดีในด้านการตลาด เนื่องจากบริษัทเน้นทำงานวิจัยและพัฒนา อาจมองกลไกตลาดไม่กว้างขวางนัก แต่เมื่อได้รับคำแนะนำจากซายน์พาร์ค ทำให้ได้รับทั้งความรู้และขยายการตลาดให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น”

นายไพจิตร แสงไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัทเคม ครีเอชั่น จำกัด อีกหนึ่งในเจ้าของเหรียญทองงาน ITEX’ 09 สาขาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน กล่าวว่า Laminated Paper Recovery Enzyme หรือ เอนไซม์สำหรับการนำกระดาษลามิเนท มาใช้ใหม่ ที่บริษัทฯคิดค้นนี้เป็นการนำเอนไซม์มาใช้ในการช่วยย่อยกระดาษลามิเนทซึ่งเป็นกระดาษพิเศษที่มีอยู่ในกล่องเครื่องดื่ม ถุงอุตสาหกรรม ซองบุหรี่หรือสติ๊กเกอร์ที่ใช้แล้ว โดยกระดาษเหล่านี้มักเหลือทิ้งและย่อยสลายได้ยากอีกทั้งยังไม่ค่อยมีใครนำกลับมาใช้ใหม่ เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีรองรับ

ดังนั้นเมื่อบริษัทฯนำเอนไซม์สูตรใหม่นี้มาใช้ย่อยสลายกระดาษลามิเมทจะทำให้สามารถแยกกระดาษลามิเนทออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ กระดาษ และพลาสติก/อลูมินั่ม ซึ่งชิ้นส่วนที่แยกได้เหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น กระดาษสามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ พลาสติกสามารถหลอมใหม่ทำเป็นพลาสติกเกรดต่างๆได้ หรือแม้กระทั่งอลูมินั่มซึ่งเป็นวัสดุราคาแพง(ตันละประมาณ 2-3 แสนบาท)ก็สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในชิ้นส่วนรถยนต์หรือแม้กระทั่งปีกเครื่องบิน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อใช้เอนไซม์ดังกล่าวแยกส่วนต่างๆเหล่านี้แทบจะไม่มีของเหลือทิ้งที่สร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

“ด้านแผนการตลาด ขณะนี้บริษัทฯวางไว้ 3 ส่วนได้แก่ การจำหน่ายเอนไซม์ การจำหน่ายระบบ Recovery และการร่วมลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการเข้าร่วมงาน ITEX’ 09 โดยการสนับสนุนของซายน์พาร์คครั้งนี้ได้มีนักลงทุนมาเลเซียภายในงาน ติดต่อร่วมลงทุนเข้ามาแล้ว 3 ราย ซึ่งเอนไซม์สำหรับการนำกระดาษลามิเนท มาใช้ใหม่นี้ ยังเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่มี ทำให้คาดว่าจะสามารถเปิดตลาดนวัตกรรมในธุรกิจรีไซเคิลได้อย่างต่อเนื่อง”

ด้านนายนพดล พันธุ์พานิช กรรมการบริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกหนึ่งในบริษัทที่ได้รับรางวัลเหรียญทองงาน ITEX’ 09 สาขาไบโอเทคโนโลยี กล่าวว่า innov gel test หรือ เจลทดสอบกรุ๊ปเลือด ชุดประหยัด เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแรงบันดาลใจในการเห็นงานวิจัยของ รศ.ดร.อมรรัตน์ ร่มพฤกษ์ นักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) จึงมีความสนใจที่จะนำมาพัฒนาทางการตลาด

โดยทั่วไปวิธีการตรวจเลือดแบบมาตรฐานเดิมเพื่อให้ทราบข้อมูลการเข้ากันได้ของเลือดระหว่างผู้ให้และผู้รับจะทำในหลอดทดลองต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานสูงทั้งยังตรวจได้น้อย และต้องเตรียมอุปกรณ์มาก แต่ innov gel test นี้มีความถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็ว ต้นทุนก็ถูกกว่าชุดทดสอบที่นำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถลดข้อผิดพลาดจากเทคนิคเดิม ประหยัดบุคลากร ลดเวลาและขั้นตอนการทำงาน เนื่องจากทดสอบได้ทีละ 96 การทดสอบและผลทดสอบที่ได้มีความถูกต้อง ปลอดภัย ส่งผลให้สามารถตรวจสอบความเข้ากันได้ของเลือดระหว่างผู้ใช้และผู้รับได้อย่างแม่นยำ ขณะนี้ยังมีการนำ innov gel test มาใช้จริงในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น และจะออกสู่ตลาดในเดือนมิถุนายนศกนี้ พร้อมคาดว่าหากมีการขยายตลาดจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งธนาคารเลือดและโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ

“การเข้าร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีของซายน์พาร์ค มีประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ในศาสตร์แขนงนี้ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งยังมีนักวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติเข้ามาแนะนำในการทำงานต่างๆรวมถึงสามารถรับรู้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทำให้บริษัทฯเกิดการพัฒนางานอย่างไม่หยุดยั้งต่อไป”

งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โทร. 02-564-7000 ต่อ 1476 — 8 www.tmc.nstda.or.th

สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 104 ,114 ,115 อีเมล์ : [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๔ พ.ค. C Rhyne Group ร่วมจัดงาน Asia Top Awards 2024 พร้อมรับรางวัล Business Awards
๒๔ พ.ค. FTI พบนักลงทุน Opportunity Day โชว์ผลงานไตรมาสแรก ปี 67
๒๔ พ.ค. ต้อนรับศูนย์อินเดียฯ สู่สถาบันเอเชียศึกษา พร้อมเปิดตัวหนังสือพุทธโคดม : บทวิเคราะห์เชิงรัฐศาสตร์ ว่าด้วยพุทธประวัติในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง
๒๔ พ.ค. Alibaba Cloud ประกาศเปิด Availability Zones ใหม่ และลงทุนทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้าน AI
๒๔ พ.ค. PwC ประเทศไทย แนะซีเอฟโอสร้างทัศนคติทางดิจิทัลเพื่อพลิกโฉมฝ่ายการเงิน
๒๔ พ.ค. เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส จับมือ กรมป่าไม้ จัดโครงการรักษาผืนป่า JT Forest สร้างการตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม
๒๔ พ.ค. 3 นวัตกรรมจุฬาฯ คว้ารางวัลเหรียญทอง และถ้วยรางวัลพิเศษ จากเวทีนวัตกรรมนานาชาติในงาน ITEX 2024 ที่มาเลเซีย
๒๔ พ.ค. ส่องไอเดียเยาวชนสร้างสรรค์! DekSDM SPU ออกแบบ Art Toy สุดน่ารัก หนึ่งในผลงาน โชว์บนเวที Thailand Toy Expo
๒๔ พ.ค. MAGURO เคาะราคาไอพีโอ 15.90 บาท จองซื้อ 28-30 พ.ค.นี้ ระดมทุนขยายธุรกิจ- หนุนการเติบโต และเสริมแกร่งการเงิน จ่อเทรด 5 มิ.ย.
๒๔ พ.ค. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาสในโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา