สสปน. รักษาแชมป์ นำอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าไทยคว้า “อันดับ 1” ในอาเซียน เดินหน้าดันแผนกลยุทธ์ปี 53 สยายปีกเพิ่มส่วนแบ่งครองตลาดเอเชีย

พุธ ๑๙ สิงหาคม ๒๐๐๙ ๑๔:๐๙
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน. ประกาศผลวิจัยการตลาดของ Ufi ภูมิใจนำทัพอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าไทยขึ้นแท่นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ย้ำความสำเร็จของโครงการ “กรุงเทพฯ...มหานครแห่งการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน” นำรายได้เข้าประเทศกว่า 6.8 พันล้านบาท พร้อมวางหมากรับศึกปี 2553 ปรับแผนกลยุทธ์การตลาดครบวงจร รุกตลาด Short-haul เต็มพิกัด เตรียมสยายปีกเพิ่มส่วนแบ่งครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย มั่นใจเพิ่มยอดการจัดงานสูงถึง 200 งาน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 7,547 ล้านบาท

คุณศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานแสดงสินค้านานาชาติ รักษาการผู้อำนวยการ สสปน. เปิดเผยว่า “สสปน.ประสบความสำเร็จในการรุกตลาดการจัดงานแสดงสินค้าในระดับนานาชาติมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2551 ที่ผ่านมาเราสามารถประมูลสิทธิ์และดึงงานแสดงสินค้าในระดับนานาชาติให้เข้ามาจัดในประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งในปี 2552 เราก็ได้เร่งแผนดำเนินงานโดยมุ่งเน้นการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น และจากผลการสำรวจของ Ufi ซึ่งเป็นสมาคมอุตสาหกรรมนิทรรศการระดับโลก ประกาศผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของเอเชียว่าประเทศไทยยังคงครองตำแหน่งผู้นำอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับ 8 ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งช่วยตอกย้ำความสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้โครงการ “กรุงเทพฯ...มหานครแห่งการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน” ที่สสปน.ได้เร่งดำเนินงานมาตั้งแต่กลางปี 2551 ได้เป็นอย่างดี”

จากผลการวิจัยทางการตลาดในหัวข้อ The Trade Fair Industry in Asia 5th Edition, 2009 จัดทำขึ้นโดย Ufi ได้รายงานถึงผลการสำรวจในอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของไทยว่าในปี 2551 ที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องใน 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านของจำนวนงานที่จัดในประเทศ ซึ่งมีถึงจำนวน 71 งาน ด้านขนาดของพื้นที่สำหรับจัดงานในแต่ละปี (Annual Size) ซึ่งมีขนาดถึง 448,750 ตารางเมตร ด้านขนาดโดยเฉลี่ยของงานแสดงสินค้า (Average Size per Fair) ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีพื้นที่ในการจัดงานถึง 6,320 ตารางเมตรต่อการจัดงานแสดงสินค้าหนึ่งงาน และด้านการสร้างรายได้จากการจัดงาน

“สสปน. ดำเนินโครงการ “กรุงเทพฯ...มหานครแห่งการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน” ภายใต้ความร่วมมือกับ “กรุงเทพมหานคร” เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน ผ่านกลยุทธ์การดำเนินงานตลาดในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่กิจกรรมการสื่อสารการตลาด การทำตลาดในต่างประเทศ ไปจนถึงการสร้างพันธมิตรทางการตลาดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกระตุ้นตลาดในอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของประเทศให้เติบโตขึ้น โดยปี 2551 สสปน.สามารถดึงงานแสดงสินค้านานาชาติประเภท Trade Show เข้ามาในประเทศไทยรวมทั้งสิ้นกว่า 71 งาน และมีนักธุรกิจ รวมถึงกลุ่มผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกมากถึง 96,184 คน นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยกว่า 6,861 ล้านบาท” คุณศุภวรรณ กล่าว

“สำหรับในปี 2553 สสปน.ได้ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้ครอบคลุมครบวงจร และเตรียมแผนการอัดฉีดและให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศอย่างเต็มกำลัง ซึ่งสสปน.ตั้งเป้าขยายตลาดออกไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีให้มากขึ้น เพราะเราเล็งเห็นว่าตลาด Short-haul ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน”

แผนกลยุทธ์การดำเนินงานของ สสปน.สำหรับปี 2553 คือการขยายการสนับสนุนงานแสดงสินค้าให้ครอบคลุมมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่การเร่งประมูลสิทธิ์ดึงงานแสดงสินค้าใหม่ๆ ไปจนกระทั่งการยกระดับมาตรฐานงานแสดงสินค้าภายในประเทศให้เป็นงานในระดับนานาชาติ การนำเสนอแพคเกจสนับสนุนแบบ 360 องศา ที่ครอบคลุมนักธุรกิจและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมฯ ตั้งแต่ สถานที่จัดงาน สมาคมการค้า ออร์กาไนเซอร์ ผู้เข้าร่วมงาน ไปจนถึงผู้เข้าชมงานเพื่อเร่งเพิ่มจำนวนนักเดินทางกลุ่มธุรกิจและจำนวนงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติในประเทศไทย

กลยุทธ์การทำตลาดในต่างประเทศเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญสำหรับการรุกตลาดเอเชียของ สสสปน.ซึ่งนอกเหนือจากกิจกรรมโรดโชว์ที่มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมในรูปแบบ Business Matching เพื่อเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมพบปะและสร้างเครือข่ายธุรกิจกับผู้ประกอบการ สมาคมการค้า ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐของประเทศในกลุ่มเป้าหมายแล้ว ในปี 2553 การทำตลาดออนไลน์ หรือ Digital Marketing ก็จะเป็นอีกแนวทางที่สำคัญในการทำการตลาดที่สำคัญของสสปน.ในการรุกตลาดต่างประเทศ อาทิ การจัดทำฐานของมูลออนไลน์ (Digital Database) การวางกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบ Digital Strategy หรือแม้กระทั่งการสร้างเครือข่ายธุรกิจในรูปแบบออนไลน์

คุณศุภวรรณ กล่าวด้วยว่า “จากผลสำรวจการหาข้อมูลในธุรกิจงานแสดงสินค้าพบว่า กว่าร้อยละ 60 ใช้สื่อออนไลน์ เช่น อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการสืบค้นข้อมูลและดำเนินกิจกรรมการตลาดทางตรงในการประชาสัมพันธ์งานและดำเนินธุรกิจ และมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ใช้สื่อออฟไลน์ จึงมั่นใจว่าการใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตลาดธุรกิจงานแสดงสินค้าทั่วโลกโดยตรง”

พร้อมกันนี้ สสปน. ยังได้เร่งหารือและประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้อุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของไทยเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง โดย สสปน.ได้จับมือกับ 3 พันธมิตรหลัก ได้แก่ “กรุงเทพมหานคร” “กรมส่งเสริมการส่งออก” และ “สมาคมการแสดงสินค้าไทย” ในการวางแผนนโยบายเชิงรุก กำหนดทิศทางการดำเนินงาน และการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของประเทศร่วมกัน

ทางด้านคุณทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความร่วมมือภายใต้โครงการ “กรุงเทพฯ...มหานครแห่งการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน” ว่า กทม. และ สสปน. ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อกระตุ้นตลาดธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าร่วมกัน ซึ่งเน้นการให้ต่างชาติได้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในด้านต่างๆ ที่สามารถรองรับธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ ภายใต้กลยุทธ์และการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อสานต่อมาตรการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงสินค้าของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง

“ด้านกรุงเทพมหานครเองก็ได้วางนโยบายเพื่อผลักดันและสนับสนุนให้ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในอนาคตที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการจราจร การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 5,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดรับกับความต้องการของตลาดสัมมนาและแสดงสินค้าที่ให้ความสำคัญกับการจัดงานในเมือง นอกจากนี้กรุงเทพมหานคร ยังมีแผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “กรุงเทพฯ เมืองยิ้ม” ใน 5 ด้าน คือด้านวัฒนธรรม ด้านวิถีชีวิตและการท่องเที่ยวทางน้ำ ด้านช้อปปิ้งและอาหาร ด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสุดท้ายคือรอยยิ้มจากความคุ้มค่าในการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งอีกด้านหนึ่ง ที่จะกระตุ้นการใชจ่ายของกลุ่มธุรกิจที่เดินทางเข้ามาร่วมงานในประเทศ ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เป็นการเพิ่มรายได้จำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ” คุณทยา กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง