สื่อสารวิทย์ ง่ายนิดเดียว!!

พฤหัส ๐๓ กันยายน ๒๐๐๙ ๑๐:๒๓
ธนาคารรูปแบบใหม่ ฝากไม่มีดอกเบี้ย” ... ทีมนักวิจัยไบโอเทคเปิดตัวธนาคารรูปแบบใหม่ ทำหน้าที่รับฝาก และเก็บรักษาสิ่งมีค่าที่ไม่ใช่เงินแต่คือเชื้อจุลินทรีย์

ข้อความข้างต้นนี้คือส่วนหนึ่งจากบทความของ นางสาวบูชิตา กาศสนุก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนพะเยาพิทยาคมที่พยายามถ่ายทอดถึงธนาคารจุลินทรีย์ ด้วยการเปรียบเปรยกับธนาคารฝากเงินทั่วไป เป็นบทความที่เข้าใจง่ายในภารกิจ “ทำข่าวด้วยมือเรา” กิจกรรมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ “ค่ายเยาวชนนักสื่อสารวิทยาศาสตร์” ที่จัดโดยศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศ เมื่อไม่นานมานี้

นายจุมพล เหมะคีรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า การสื่อสารวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแปลงองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ยากให้กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงสาธารณชน ในขณะเดียวกันการสื่อสารวิทยาศาสตร์ก็ยังเป็นเครื่องนำทางในการสื่อความคิดให้ผู้รับสารสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นหากเราสามารถปลูกฝังเยาวชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้ตั้งแต่วันนี้ จึงไม่เพียงช่วยให้เยาวชนสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังเป็นการสร้างกลุ่มคนที่จะเป็นพลังสำคัญในการร่วมกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมฐานความรู้ต่อไปในอนาคตด้วย

ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเผยให้เห็นเส้นทางสายอาชีพของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ กิจกรรมวันแรกจึงเริ่มด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เรียนรู้หลักคิดและการทำงานข่าวหนังสือพิมพ์ โดย คุณสมสกุล เผ่าจินดามุข บรรณาธิการข่าววิทยาศาสตร์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ก่อนจะเข้าสู่กิจกรรมล้อมวงคุยกับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ วิทยากรโดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ และดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ที่ได้มาเปิดใจเล่าถึงประสบการณ์การทำงานอันน่าตื่นเต้น ทั้งการตามรอยสืบค้นข้อเท็จจริงเหตุการณ์วุ้นตัวประหลาดที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อปี 2549 ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เป็นเพียงแผ่นเจลลดไข้เท่านั้น หรือการชักชวนเด็กๆให้หันมาสังเกตธรรมชาติรอบตัว เพราะใครจะเชื่อว่าก้อนเมฆบนท้องฟ้า หรือแมลงในสวนหน้าบ้านก็สามารถเป็นบทเรียนทางวิทยาศาสตร์ที่แสนสนุกได้

เมื่อได้รับความรู้กันอย่างจุใจแล้ว ภาคบ่ายก็ถึงคราวที่เด็กๆจะต้องทดลองสวมบทบาทเป็นเหยี่ยวข่าวปฏิบัติภารกิจ “ทำข่าวด้วยมือเรา” ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชมและพูดคุยกับนักวิจัยกว่า 10 ห้องปฏิบัติการจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ จากนั้นในวันที่สอง เด็กๆจะได้ฝึกคิดนอกกรอบ กับ “พี่แวนด้า” หรือ คุณดวงธิดา นครสันติภาพ พิธีกรจากรายการกบนอกกะลา ซึ่งจะมาช่วยจุดประกายความคิดให้เด็กๆได้ลองค้นหาไอเดียที่แปลกใหม่สำหรับใช้ในการนำเสนอผลงานกลุ่มต่อไป

“การสื่อสารวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด” คำบอกเล่าของนายวิชาญ ศรีแผ้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา ที่ไม่เพียงมีมุมมองต่อวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนไป แต่ยังรู้สึกว่าสนุกที่ได้ลองทำ

“ พอรู้ว่าต้องไปสัมภาษณ์นักวิจัยแล้วเอามาเขียน รู้สึกว่าคงยากและทำไม่ได้ แต่เมื่อได้ลองทำก็รู้สึกว่าไม่ยากแต่สนุก เพราะเป็นประสบการณ์ใหม่ๆที่ได้ไปพูดคุยกับนักวิจัยอย่างใกล้ชิด ได้เห็นงานวิจัยที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติซึ่งน่าทึ่งมาก พี่ๆ เขาทำเรื่องผ้ากันน้ำ ซึ่งเลียนแบบมาจากน้ำที่กลิ้งบนใบบัวในธรรมชาติ เป็นความรู้ใหม่ๆที่พอรู้แล้วก็อยากจะถ่ายทอดให้คนอื่นได้มีโอกาสรู้เช่นเดียวกับเราบ้าง ผมใช้วิธีการเขียนไปตามความเข้าใจ พอลองให้เพื่อนอ่าน เพื่อนบอกเข้าใจ ก็รู้สึกภูมิใจ หากมีโอกาสก็อยากเขียนสิ่งที่ได้รู้ให้เพื่อนๆได้อ่านอีก”

ด้าน “น้องแพรว” หรือ นางสาว ณัฐธิดา ธนสารสุรพงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนศรีบุณยานนท์ จังหวัดนนทบุรี เล่าว่า รู้สึกประทับใจที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง เพราะทำให้ได้พัฒนาทักษะในทุกด้าน อีกทั้งทักษะการสื่อสารยังเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกอาชีพ

“ ค่ายนี้ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารทั้งในด้านการพูด และเขียนของเราให้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กิจกรรมที่ชอบคือทำข่าวด้วยมือเรา เพราะได้สัมภาษณ์นักวิจัยเอง ทำให้ได้ฝึกทักษะหลายๆ อย่าง ทั้งการฝึกตั้งคำถาม บันทึกข้อมูล และการคิดวิเคราะห์ว่าจะเขียนหรือนำเสนออย่างไรให้น่าสนใจ โดยที่เนื้อหาต้องกระชับและถูกต้องครบถ้วนมากที่สุด ซึ่งส่วนตัวมองว่าความสามารถในการสื่อสารนับเป็นคุณสมบัติที่สำคัญต่อทุกสายอาชีพ ยิ่งเฉพาะนักวิทยาศาสตร์เพราะหากเรามีความรู้แล้ว ไม่สามารถถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจได้ ความรู้ที่มีก็ไม่เกิดประโยชน์”

ขณะที่ “น้องแพรว” หรือ นางสาวพิชญ์นรี ศรีชัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า โอกาสดีที่ได้รับจากค่ายนี้มากที่สุด คือการได้มาเจอกับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ทั้งนักข่าว นักวิชาการ และพิธีกร ที่ได้มาบอกเล่าทั้งประสบการณ์การทำงาน วิธีคิด รวมถึงคำแนะนำดีๆ ที่ช่วยเปิดมุมมองความคิดของเราให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น จากเดิมบางเรื่องอาจจะฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ แต่ตอนนี้อาจจะสังเกตและตั้งคำถามจากสิ่งที่เห็นมากขึ้น เช่น เมื่อก่อนฟังข่าวว่าหมีแพนด้าคลอดลูกแล้วก็อาจจะเฉยๆ ตอนนี้อาจจะตั้งคำถามว่าทำไมคนสนใจมาก ทำไมหมีแพนด้ามีลูกยาก ทำไมถึงไม่รู้ว่าหมีแพนด้าท้องตั้งแต่แรก เป็นต้น ฝึกสงสัยให้มากๆก็อาจจะช่วยให้เราหลุดออกจากกรอบความคิดไปหาความรู้ใหม่ๆได้มากขึ้นค่ะ

ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4