เปิดมุมมองวิทยาศาสตร์ด้วย “หนังวิทยาศาสตร์” ประสบการณ์จากโรงเรียนห้วยยอด จังหวัดตรัง

พุธ ๐๒ ธันวาคม ๒๐๐๙ ๑๒:๐๓
โรงเรียนในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นระดับประถม หรือมัธยม มีหลายวิชา ที่เวลาคุณครูสอนในห้องเรียน

แล้วมักจะเป็นยาขมกับเด็กๆ เสมอ “วิทยาศาสตร์” คือวิชาที่อยู่ในอันดับต้นๆวิชาหนึ่ง เด็กๆจำนวนมากขยาดกลัววิชานี้ด้วยความคิด ความเชื่อ ที่ฝังหัวมาแต่เดิมว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ยากที่จะทำความเข้าใจ ทั้งๆที่บางคนแทบไม่ได้เรียนรู้อย่างจริงๆจังๆ

การสร้างทัศนคติที่ดีในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ให้เด็กรู้สึกสนุก สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน เป็นภาระที่ครูสอนวิชาต้องเร่งพัฒนา ดังนั้นเมื่อสถาบันเกอเธ่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถานทูตฝรั่งเศส และหน่วยงานร่วมจัดต่างๆ ผนึกกำลังกันจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 5 ( Science Film Festival ) โดย สสวท.รับหน้าที่หลักในการจัดฉายภาพยนตร์ให้เยาวชนในต่างจังหวัดได้เรียนรู้คู่ความบันเทิงโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้ามาชมในกรุงเทพฯ งานนี้สสวท.จึงได้ร่วมกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่งในภูมิภาค เป็นศูนย์ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร รวม 29 แห่งในภูมิภาค ซึ่งโรงเรียนห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง จึงเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 29 ศูนย์ภาพยนตร์สัญจร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และร่วมขจัดทัศนคติเก่าๆ ที่ว่า... “วิทยาศาสตร์เป็นยาขมหม้อใหญ่”

อาจารย์สมพร ทองศักดิ์ เล่าว่า หลังจากฉายมา 3 วัน ปรากฎว่าได้รับผลตอบรับจากโรงเรียนต่างๆที่เข้ามาชมเป็นอย่างดี รวมทั้งนักเรียนของโรงเรียนห้วยยอดด้วย

“เด็กๆ มาดูเต็มห้องทุกครั้งที่คุณครูแต่ละโรงเรียนจองที่นั่งเข้ามา ส่วนโรงเรียนเด็กห้วยยอดเอง ซึ่งจัดให้ดูเป็นรอบๆ พร้อมกับฉายผ่านระบบเคเบิ้ลไปยังห้องโสตอีก 3 ห้อง เพื่อให้นักเรียนสามารถดูกันได้ทั่วถึง แต่ละรอบก็มีนักเรียนดูกันแน่นประมาณ 400 คน” อาจารย์สมพร เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

“สำหรับเรื่องที่เลือกมาฉายนั้นแม้เนื้อหาภาพยนตร์จะไม่ตรงกับเนื้อหาสาระในวิชาวิทยาศาสตร์ ที่สอนอยู่ในโรงเรียนเสียทีเดียว แต่คุณครูวิทยาศาสตร์ก็เข้าใจดีว่า นี่คือภาพยนตร์ ไม่ใช่แบบเรียน เพราะฉะนั้น แค่นวัตกรรมการเรียนรู้ตัวนี้ก็สามารถดึงดูดความสนใจ กระตุ้นให้เด็กเกิดจินตนาการ เกิดความกระหายใคร่รู้ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งจุดนี้ เมื่อใช้วิธีการประเมินจากกิจกรรมหลังภาพยนตร์แต่ละเรื่องจบ พบว่าหนังที่ฉายสร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้มาก จะมีหนังอยู่ส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ดึงดูดเด็กๆนัก ซึ่งสามารถแก้ได้โดยนำเด็กหรือผู้ที่มีช่วงวัยไล่เลี่ยกันเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกหนังด้วย”

ไม่เพียงแนวโน้มความสนใจชมของนักเรียนในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่คัดเลือกมาฉายในเทศกาลนี้ยังสร้างความสนุกสนานในการเรียนรู้ในเยาวชนด้วย จึงอยากให้สสวท.เพิ่มศูนย์ฉายในปีหน้า ภาพยนตร์เป็นสื่อที่ประกอบด้วยภาพเคลื่อนไหวและเสียงซึ่งมีอิทธิพลต่อเด็กๆมาก ถ้านักเรียนมีโอกาสเข้าถึง สื่อเหล่านี้ก็จะสร้างจินตนาการ และกระตุ้นให้เด็กคิดเชิงบวกต่อกาเรียนรู้วิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น

เด็กหญิงภัทราภรณ์ พูดเพราะ หรือ น้องเฟิร์น เล่าว่าประทับใจฐานกิจกรรมที่พี่ๆ นักวิชาการ สสวท. นำมาจัดให้เด็กนักเรียนได้ร่วมสนุก ได้เรียนรู้พร้อมๆ กับฉายภาพยนตร์ด้วยเพราะสนุกและได้ความรู้

“กิจกรรมแต่ละฐานช่วยให้หนูและเพื่อนๆ ได้คิดและเข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นค่ะ น่าเสียดายที่แต่ละฐานจะมีพื้นที่น้อยไปหน่อย ทำให้นักเรียนต้องแย่งกันเล่น” น้องเฟิร์นกล่าวต่อไปว่ารู้สึกขอบคุณ สสวท. ที่จัดกิจกรรมแบบนี้ เพราะทำให้พวกหนูสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างไม่รู้สึกเบื่อ ถ้าปีหน้ามีจัดอีก หนูอยากให้เพิ่มการฉายไปตามโรงเรียนด้อยโอกาสต่างๆให้มากยิ่งขึ้น

นางสาววัลลภา เบญจกุล หรือน้องบิว สะท้อนแนวคิดว่าสนุกและไม่น่าเบื่อ บางเรื่องก็เป็นหนังการ์ตูน มีมุขตลกแทรกให้ความรู้ ดูแล้วทำให้เข้าใจ บางเรื่องที่ไม่เคยรู้มก่อนเช่นเรื่องโลมาและไดโนเสาร์ ก็ได้เข้าใจในลักษณะและวิถีชีวิตของสัตว์เหล่านี้มากขึ้น หนูชอบทั้งสองเรื่องนี้มากค่ะ

ด้านฮิโรชิ นากาฮารา หรือน้อง “ชิ” หนุ่มน้อยลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เพื่อนของน้องบิว เล่าว่าชอบเรื่องหุ่นยนต์มากที่สุดเพราะส่วนตัวเป็นคนชอบหุ่นยนต์ พอได้ดูเรื่องนี้ทำให้เข้าใจกลไกของมันมากขึ้น แถมหนังก็ไม่ยาวเกินไปนักแต่สามารถอธิบายรายละเอียดของกลไกต่างๆ ได้ดี ก็ยิ่งทำใหเสนใจหุ่นยนต์มากขึ้นครับ

เช่นเดียวกับนางสาวสุทธิรัตน์ ดำเดิม หรือ “น้องเจน” ที่เมื่อดูหนังแล้วก็รู้สึกสนุกและสามารถเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่ไม่เคยรู้มากยิ่งขึ้น

“ชอบหนังที่อธิบายเกี่ยวกับรังสีคอสมิก และเรื่องยานอพอลโล่ 11 ค่ะ เรื่องยานอวกาศสนุกมาก ทำให้รู้ว่าบนนั้นแล้วเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อก่อนหนูเคยจินตนาการไม่ออก แต่หลังจากดูหนังแล้วทำให้รู้ว่าทุกสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเราล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดเมฆ ฝน หรืออื่นๆ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา” น้องเจนกล่าวทิ้งท้าย.

ผู้เขียน: นายโสพล อักษรเนียม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง