รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552 และ 2553 “กระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2552 สูงกว่าคาดการณ์

จันทร์ ๒๘ ธันวาคม ๒๐๐๙ ๑๕:๕๓
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552 และ 2553 “กระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2552 สูงกว่าคาดการณ์ และเข้าสู่แดนบวกในปี 2553”

กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2552 และ 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เป็นร้อยละ -2.8 และจะเข้าสู่อัตราเติบโตเป็นบวกในปี 2553 ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากประสิทธิผลของมาตรการภาครัฐ และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนรวมถึงเศรษฐกิจโลก”

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนธันวาคม 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวน้อยลงเหลือเพียงร้อยละ -2.8 ต่อปี ดีขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ณ เดือนกันยายนที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี แต่จากการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจคู่ค้า ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่า จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0 ต่อปี) ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการเดิม ณ เดือนกันยายนที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงท้ายปี 2552 และแรงส่งเชิงนโยบายต่อเนื่องไปยังปี 2553 จากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การใช้จ่ายภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2553

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนในปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2552 โดยคาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในปี 2553 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.3 และ 8.0 ต่อปี ตามลำดับ จากปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -1.3 และ -12.7 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี เร่งขึ้นจากปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -13.0 ต่อปี เนื่องจาก การฟื้นตัวที่ดีกว่าที่คาดของเศรษฐกิจคู่ค้า ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 - 4.0 ต่อปี) ตามราคาน้ำมัน ราคาสินค้าและบริการที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2552 ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 จะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7 — 3.7 ของ GDP) เนื่องจากการนำเข้าที่คาดว่าจะเร่งตัวสูงขึ้นตามการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออก

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าวได้รวมผลกระทบของปัญหาการระงับการลงทุนในเขตมาบตาพุดไว้แล้ว โดยหากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาการลงทุนในเขตมาบตาพุดได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของกรอบวงเงินอนุมัติ รวมทั้งสามารถสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองให้มั่นคง ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ในกรณีสูงของช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552 และ 2553

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2552

1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี ดีขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ณ เดือนกันยายนที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยแม้ว่าเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี จะหดตัวมากจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจไทยคาดว่า จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ดังสะท้อนได้จากการบริโภคภาครัฐในปี 2552 ที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี และการลงทุนภาครัฐในปี 2552 ที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี จากที่หดตัวในปีก่อนที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี นอกจากนั้น การฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทยจะช่วยให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสสุดท้ายของปีกลับมาขยายตัวเป็นบวก ทำให้คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2552 จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้เดิมมาอยู่ที่ร้อยละ -13.0 ต่อปี ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะหดตัวลงที่ร้อยละ -21.5 ต่อปี เนื่องจาก การใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ช้า ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหาการระงับการลงทุนบริเวณมาบตาพุด ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -12.7 ต่อปี และการบริโภคภาคเอกชนในปี 2552 คาดว่าจะยังคงหดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี

1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -0.8 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับลดลงมากจากปี 2551 ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพ 5 มาตรการ 6 เดือน ที่ช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่ไม่รวมราคาน้ำมันและราคาอาหารสด) คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี นอกจากนั้นอัตราการว่างงาน คาดว่าจะกลับมาอยู่ในภาวะปกติที่ร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงาน เนื่องจากการจ้างงานที่กลับมาเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2552 จะเกินดุลสูงมากถึงร้อยละ 8.1 ของ GDP เนื่องจากการเกินดุลการค้าที่สูงถึง 20.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นผลจากมูลค่าสินค้านำเข้าที่หดตัวลงมากกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าสินค้านำเข้าในปี 2552 จะหดตัวมากจากฐานสูงในปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -25.9 ต่อปี ขณะที่มูลค่าสินค้าส่งออกในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -14.8 ต่อปี

2. เศรษฐกิจไทยในปี 2553

2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0 ต่อปี) ปรับเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการเดิม ณ เดือนกันยายนที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงท้ายปี 2552 และแรงส่งของนโยบายการคลังและการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากปลายปี 2552 โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ทำให้คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.4— 8.4 ต่อปี) ขณะที่การบริโภคภาครัฐในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 — 4.4 ต่อปี) นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก รายได้ภาคครัวเรือนที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม อัตราการว่างงานที่ลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ที่มีผลบวกต่อการบริโภคภาคเอกชน ทำให้คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 — 3.8 ต่อปี) ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในปี 2553 คาดว่าการใช้จ่ายในโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะช่วยดึงให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย (Crowding-in Effect) และอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่ายังอยู่ในระดับต่ำ จะเอื้อให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2552 มาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.0 — 9.0 ต่อปี) สำหรับปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.5 — 8.5 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มเติบโตได้สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นที่ร้อยละ 17.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.9 — 17.9 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิตสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น

2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0 ต่อปี) จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงาน (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 — 1.5 ของกำลังแรงงาน) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 — 3.8 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ช่วงคาดการณ์ที่ 6.8 — 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เนื่องจากมูลค่าสินค้านำเข้าขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าสินค้าส่งออกในปี 2553 จะขยายตัวที่ร้อยละ 15.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 14.5 — 16.5 ต่อปี) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกในตลาดโลก ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 27.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 26.7 — 28.7 ต่อปี) ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศและราคาสินค้านำเข้าในตลาดโลก

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะส่งผลให้การส่งออกของไทยสูงขึ้น และการเร่งลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก และการจ้างงานที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะช่วยให้การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมาจาก ความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และความล่าช้าในการแก้ปัญหาการระงับการลงทุนในเขตมาบตาพุด รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่อาจกระทบให้ภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ดังนั้น ภาครัฐยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายในช่วงที่เอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และต้องเร่งผลักดันให้ภาคเอกชนกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเร็ว

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3255

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๒๒ แลกเปลี่ยนแนวคิด และโครงการต่างๆเกี่ยวกับการเผยแผ่พุทธศาสนาในประเทศและต่างประเทศ
๑๑:๐๗ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ชวนปักหมุดตลาดเสรี มาร์เก็ต ชิม ช้อป 5 ร้านดังในตำนานที่ยังมีลมหายใจ
๑๑:๒๓ แฟลช เอ็กซ์เพรส ฉลองใหญ่ครบรอบ 6 ปี ปล่อยแคมเปญ แฟลชที่ใช่ ส่งได้ทุกที่ พร้อมโชว์ยอดพัสดุปี 2023 ทะลุ 900
๑๑:๑๖ The 1 จัดงาน The 1 Day สุดยิ่งใหญ่แห่งปี วัน The 1 แห่งชาติ 2024 ผนึกกำลังทั้งกลุ่มเซ็นทรัล และบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน มอบที่สุดแห่งปรากฏการณ์ช้อป-ฟินเพื่อสมาชิก The 1
๑๑:๔๖ อาดิดาส ออริจินอลส์ จับมือ 100 THIEVES เผยโฉมผลงานคอลแลปส์สุดเท่ในคอลเลกชันแรก
๑๑:๓๕ ภารกิจผู้เดินทางชาวไทย คือ การท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนให้จุดหมายปลายทางดีขึ้นกว่าที่เคย รายงานจาก Booking.com เผยถึงโอกาสเติบโตของการเดินทางอย่างยั่งยืนในปี
๑๑:๒๔ แอลจีนำเสนอตัวเลือกรับหน้าฝนอย่างมั่นใจ ด้วยเครื่องซักผ้า LG WashTower และตู้ถนอมผ้า LG Styler ครบครันทั้งดีไซน์และฟังก์ชัน ให้ผ้าหอม
๑๑:๔๒ แสนสิริ 40 ปี ขอบคุณพาร์ทเนอร์ผู้รับเหมาแนวหน้าของประเทศ ร่วมสร้างความแข็งแกร่งอสังหาฯ ไทย
๑๑:๑๓ สุนทร อรุณานนท์ชัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานรุ่นสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)รุ่นที่ 6
๑๑:๓๗ อธิการบดี มบส.นำคณะผู้บริหารเยือนจีน ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี