สหกิจศึกษา ACC School of Commerce-Assumption University

พุธ ๒๗ มกราคม ๒๐๑๐ ๑๔:๔๑
สหกิจศึกษา ACC School of Commerce-Assumption University

1. วัตถุประสงค์ของสหกิจศึกษา

หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ กลุ่มวิชาพาณิชยศาสตร์ (Commerce) เป็นหลักสูตรที่จัดให้นักศึกษาได้มีการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการซึ่งเรียกว่าสหกิจศึกษา (Cooperative Education) หลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยที่จัดให้มีสหกิจศึกษา สหกิจศึกษาเป็นระบบการศึกษาที่เน้นประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ (Work Based Learning) การจัดสหกิจศึกษามีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการคือ

1. เพื่อช่วยให้นักศึกษามีโอกาสในการประยุกต์ความรู้ ทักษะการทำงานและทักษะเฉพาะที่สัมพันธ์กับวิชาชีพ ได้รู้จักชีวิตที่แท้จริงของการทำงานก่อนสำเร็จการศึกษาและเป็นแนวทางที่สำคัญที่ทำให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีความสามารถในการปรับตัวและแก้ปัญหาที่เกิดในงาน ทำให้มีความพร้อมมากที่สุดเมื่อสำเร็จการศึกษา

2. ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากโครงงานหรืองานที่นักศึกษาปฏิบัติ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากสหกิจศึกษาเป็นแนวทางหนึ่งในการสรรหาและพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ

3. สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นผู้ผลิตบัณฑิตได้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้ประกอบการและเกิดความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวิจัยและการสร้างองค์ความรู้ใหม่

2. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ กลุ่มวิชาพาณิชยศาสตร์

จากวัตถุประสงค์และประโยชน์ของสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยจึงได้นำสหกิจศึกษาเข้ามาผนวกเป็นกลุ่มวิชาเอกเลือกของหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2515 และเป็น 1 ใน 4 สาขาวิชาแรกของมหาวิทยาลัย หลักสูตรได้มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมาตลอดเพื่อให้ทันสมัย ทันต่อความก้าวหน้าด้านวิชาการและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยปรับปรุงทั้งในด้านความรู้และทักษะที่พัฒนาให้กับนักศึกษาและวิธีการสอนที่หลากหลายโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จุดเด่นของหลักสูตรการจัดการ คือ เป็นหลักสูตรที่เน้นพัฒนาให้นักศึกษามีความรู้ความชำนาญที่หลากหลาย ครอบคลุมด้านต่างๆ โดยหลักสูตรได้บูรณาการความรู้และทฤษฎีที่เป็นหลักสำคัญในการบริหารธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย การบริหารจัดการด้านการเงิน การตลาด เทคโนโลยีสารสนเทศ และที่สำคัญคือการบริหารการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ไว้ในหลักสูตร

สำหรับการปรับปรุงหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ซึ่งจัดให้มีสหกิจศึกษานี้ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 และจะเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ภาคการศึกษา ที่ 1 ปีการศึกษา 2553 คือ มิถุนายน 2553 หลักสูตรนี้ได้เพิ่มกลุ่มวิชาเลือก 1 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาพาณิชยศาสตร์ นักศึกษาที่เลือกกลุ่มวิชานี้จะมีการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการในภาคการศึกษา ที่ 1 ปีการศึกษาที่ 4 มีจำนวนหน่วยกิต 9 หน่วยกิต จากจำนวนหน่วยกิต รวม 142 หน่วยกิต การฝึกงานของสหกิจศึกษาจะต้องเป็นการปฏิบัติงานเต็มเวลาเป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษาหรือ 15 สัปดาห์ โดยในขณะที่ฝึกงานนี้ นักศึกษาจะไม่มีการเรียนวิชาอื่นใดๆ จะต้องใช้เวลาปฏิบัติงานเท่านั้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานตามหลัก Learning by Doing

เป้าหมายสูงสุดของสหกิจศึกษาไม่ใช่เพียงการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการและกลับไปมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่คือการเข้าสู่ระบบการทำงานของบัณฑิตก่อนสำเร็จการศึกษา (Employability) หมายความว่าเมื่อปฏิบัติงานและผ่านการประเมินแล้ว นักศึกษาจะได้เข้าทำงานในสถานประกอบการนั้นๆ ทันทีที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งจะเป็นการประกันการได้งานทำของบัณฑิต

3. การบริหารหลักสูตร

มหาวิทยาลัยได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ให้จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง คือที่ศูนย์การศึกษา ACC ณ โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ เพื่อจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ กลุ่มวิชาพาณิชยศาสตร์และสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยงานมาบริหารหลักสูตรนี้ คือ ACC School of Commerce หรือคณะพาณิชยศาสตร์ ACC โดยในเบื้องแรก มหาวิทยาลัยจะใช้ทรัพยากรและบุคลากรที่มีอยู่มาดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยให้คณะบริหารธุรกิจทำหน้าที่พี่เลี้ยงไปก่อน และ ACC School of Commerce จะค่อยๆ เรียนรู้และถ่ายโอนหน้าที่และความรับผิดชอบจนสามารถบริหารหลักสูตรได้ด้วยตนเอง

4. ปัจจัยหลักของความสำเร็จ

ปัจจัยหลักของความสำเร็จของสหกิจศึกษา คือ สถานศึกษากับสถานประกอบการ ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เป็นพันธกิจและภารกิจร่วมที่มีนโยบายและแผนงานอย่างชัดเจน มีการกำหนดส่วนงานและบุคลากรผู้รับผิดชอบการจัดการสหกิจศึกษาทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการ ตลอดจนมีการติดตามประเมินผลเพื่อนำผลมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการจัดสหกิจศึกษาให้ดียิ่งขึ้น การจัดสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีแรงผลักดันที่สำคัญจากสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญพาณิชย์ และศิษย์เก่า ACC ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจจำนวนมากมายซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดสหกิจศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาร่วมในงานแถลงข่าวนี้และจะลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการจัดให้นักศึกษาของหลักสูตรนี้เข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการ และจะมีการทำงานร่วมกันและประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อให้การปฏิบัติงานของนักศึกษาเกิดประโยชน์สูงสุด และสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตมากที่สุด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่

ทีมประชาสัมพันธ์ ACC School of Commerce

คุณจารุวัลย์ นวาวัตน์ / 0-2719-6444 ext. 221

ดวงใจ แซ่แต้ / 0-2719-6444 ext.213

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง