CIMB Group เผยผลประกอบการปี 2552 กำไรสูงเป็นประวัติการณ์

พุธ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๐ ๐๙:๑๐
1) สรุปย่อ

วันนี้ CIMB Group Holdings Berhad (เดิมชื่อ Bumiputra-Commerce Holdings Berhad) (“CIMB Group” หรือ “กลุ่มฯ”) ประกาศผลประกอบการงวดปี 2552 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 2.807 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.8 จากปีที่ผ่านมา และคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เท่ากับ 79.5 เซ็น (sen) อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เท่ากับร้อยละ 15.0 ซึ่งสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้เดิมที่ร้อยละ 12.5 และเป็นไปตามเป้าใหม่ที่ร้อยละ 14-15 CIMB Group ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตรา 18.5 เซ็น (ขั้นเดียว) ต่อหุ้น คิดเป็นเงินปันผลที่จ่ายทั้งสิ้น 653 ล้านริงกิต และได้ออกและจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนโดยให้สิทธิจองซื้อแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 1 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่

เพียงไตรมาส 4/2552 CIMB Group สามารถทำกำไรสุทธิ 803 ล้านริงกิต ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 10.5 แต่คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 151.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 319 ล้านริงกิต

“ในปี 2552 สภาวะการประกอบธุรกิจดีกว่าที่คาดไว้ พนักงานของเราสามารถสร้างผลประกอบการได้อย่างดีเลิศ จัดว่าดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งทำได้ตามเป้าและทะลุเป้าที่ตั้งไว้สำหรับทั้งปี” ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค CIMB Group CEO กล่าว “นักลงทุนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมากับเราตลอดทั้งปี ต่างได้รับผลตอบแทนผู้ถือหุ้นถึงร้อยละ 120 ซึ่งสูงกว่าดัชนีมาตรฐาน KLCI (KLCI benchmark)”

2) ผลประกอบการของ CIMB Group เทียบกับปีที่ผ่านมา

รายได้รวมของ CIMB Group สำหรับปี 2552 เท่ากับ10.67 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.8 จากปีที่ผ่านมา มีกำไรก่อนหักภาษี (PBT) 3.812 พันล้านริงกิต คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 40.4

ในปี 2552 PBT จากธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคในมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 46.1 จากปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตของรายได้ร้อยละ 8.9 และการตั้งสำรองหนี้เสีย (loan loss provisions) ลดลงร้อยละ 30.9 เทียบกับปีที่ผ่านมา และเป็นไปตามที่คาดไว้ คือ ผลประกอบการแก้ไขหนี้เสียที่ดำเนินการโดยบริษัทบริหารทรัพย์สินของกลุ่มฯลดต่ำลง เป็นผลให้ PBT เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1 เทียบกับปีที่ผ่านมา

PBT จากธุรกิจบริหารเงินและการลงทุน เท่ากับ 1.475 พันล้านริงกิต ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.9 จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ PBT จากสินเชื่อธุรกิจและวาณิชธนกิจลดลงร้อยละ 20.3 จากปีที่ผ่านมาเป็น 691 ล้านริงกิต PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Niaga พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 160.6 มาอยู่ที่ 787 ล้านริงกิต จาก 302 ล้านริงกิตในปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการที่ได้รวมส่วนของครือข่าย Lippo Bank ในอดีตเข้ามาด้วย รวมทั้งเป็นผลจากสภาวะธุรกิจที่สดใสในอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับ PBT ที่มาจากการบริหารสินทรัพย์กับธุรกิจประกันภัยที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 50 ล้านริงกิตในปี 2551 เป็น 120 ล้านริงกิตในปี 2552 เนื่องจากผลประกอบการที่ดีของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ตลอดจนการดำเนินงานที่ปรับปรุงดีขึ้นของ CIMB Aviva สำหรับ CIMB Thai ยังคงมีผลประกอบการเป็นบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง โดยมี PBT ทั้งปี 47 ล้านริงกิต เทียบกับผลขาดทุน 41 ล้านริงกิตในปี 2551

PBT ของกลุ่มฯส่วนที่มาจากธนาคารเพื่อผู้บริโภคมาเลเซียลดต่ำลงเป็นร้อยละ 18 เทียบกับร้อยละ 25 ในปี 2551 โดยเป็นส่วนที่มาจากด้านบริหารเงินและการลงทุนในสัดส่วนสูงที่สุด คือ ร้อยละ 39 เทียบกับร้อยละ 35 ในปีก่อนหน้านี้ ตามด้วยด้านสินเชื่อธุรกิจและวาณิชธนกิจร้อยละ 18 เทียบกับร้อยละ 32 ในปีที่ผ่านมา ส่วนที่มาจาก CIMB Niaga เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 11 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 21 ในปี 2552 ด้านบริหารสินทรัพย์กลุ่มฯและประกันภัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากผลขาดทุนในปีที่ผ่านมา PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Thai เริ่มต้นในสัดส่วนร้อยละ 1

โดยสรุป PBT จากกิจการที่ไม่ใช่สัญชาติมาเลเซียมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 26 ในปี 2552 จากร้อยละ 12 ในปี 2551

เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มฯในปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 21.4 จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รวมเงินให้สินเชื่อของ CIMB Thai เข้ามาด้วย ซึ่งหากไม่รวม CIMB Thai เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มฯจะเติบโตเท่ากับร้อยละ 14.1 เทียบกับปีที่ผ่านมา (เป้ากำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 8) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อผู้บริโภคมาเลเซียร้อยละ 13.2 สินเชื่อที่อยู่อาศัย เครดิตการ์ดและสินเชื่อขนาดย่อมโดยเติบโตร้อยละ 20.1 ร้อยละ 13.7 และร้อยละ 83.2 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สินเชื่อเช่าซื้อเริ่มมีสัญญาณเติบโตอีกครั้งโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจยังคงลดลงต่อเนื่องร้อยละ 6.5 โดยที่สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สินเชื่อของ CIMB Niaga เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 (ในสกุลริงกิต)

เงินฝากรวมของกลุ่มฯเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 21.8 แต่หากไม่รวม CIMB Thai จะเท่ากับเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 สินเชื่อรายย่อยของ CIMB Bank มีอัตราเติบโตร้อยละ 18.3 เทียบกับปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากความสำเร็จของการดำเนินงานธุรกิจรายย่อยใหม่ในสิงคโปร์ หากไม่รวมสิงคโปร์ เงินฝากรายย่อยปี 2552 จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

การตั้งสำรองหนี้เสียของกลุ่มฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 เทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็น 1.023 พันล้านริงกิต เนื่องจากมีการรวมส่วนของ CIMB Thai และการเพิ่มการตั้งสำรองให้กับพอร์ตสินเชื่อต่างประเทศและ CIMB Niaga อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อของกลุ่มฯ (credit charge) ในปี2552 อยู่ที่ร้อยละ 0.69 ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ร้อยละ 0.8-0.9 อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สุทธิ เท่ากับร้อยละ 2.0 ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เทียบกับร้อยละ 2.2 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 นับจากที่มีการแปรสภาพ SEASAM ทำให้ CIMB Bank มี NPL สุทธิลดลงเป็นร้อยละ 1.2 อัตราส่วนความสามารถชำระค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญ (Loan loss coverage) ของกลุ่มฯปรับปรุงดีขึ้นเป็นร้อยละ 90.8 จากเดิมร้อยละ 86.7 ณ สิ้นไตรมาส 3/2552 อัตราต้นทุนต่อรายได้ค่อนข้างคงที่ที่ร้อยละ 53.6 ใกล้เคียงกับร้อยละ 53.2 ในปีที่ผ่านมา

CIMB Bank มีอัตราเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (risk weighted capital ratio) ที่ยังคงปรับตัวดีขึ้นโดยมาอยู่ที่ร้อยละ 15.1 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 เทียบกับร้อยละ 14.0 ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 อัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกต่อทุน (double leverage ratio) และ อัตราเร่ง (gearing ratio) ของ CIMB Group เท่ากับร้อยละ 119.4 และร้อยละ 27.0 ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2552

3) ผลประกอบการของ CIMB Group เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

รายได้รวมของกลุ่มฯในไตรมาส 4/2552 เท่ากับ 2.780 พันล้านริงกิต ซึ่งค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่กำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10.5 คิดเป็นกำไรสุทธิรวม 803 ล้านริงกิต จากเดิม 727 ล้านริงกิตในไตรมาส 3/2552 เนื่องจากการตั้งสำรองหนี้เสียลดต่ำลงมากถึงร้อยละ 17.5

4) ผลประกอบการของ CIMB Niaga

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ธนาคาร CIMB Niaga แถลงผลประกอบการปี 2552 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,568 พันล้านรูเปียห์ คิดเป็นอัตราเติบโตถึงร้อยละ 131.2 จากปีที่ผ่านมา โดยมี ROE สุทธิร้อยละ 15.0% ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นมากเป็นผลจากหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ การขยายตัวของสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยรับสุทธิ (NIM) และรายได้จากการบริหารเงินเพิ่มสูงขึ้น กำไรสุทธิในไตรมาส 4/2552 เท่ากับ 416 ล้านรูเปียห์ ซึ่งต่ำกว่าไตรมาส 3/2552 ร้อยละ 8.7 เนื่องจากการตั้งค่าเผื่อหนี้เสียสูงขึ้น

เงินให้สินเชื่อของ CIMB Niaga ในปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และรถยนต์ NPL เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.0 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 จากร้อยละ 2.5 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 NPL สุทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.8 เปรียบเทียบกับร้อยละ 1.4 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม CIMB Niaga ยังคงเป็นธนาคารที่มีอัตรา NPL ต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ของอินโดนีเซีย ในขณะที่ loan loss coverage เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 108.1 ณ สิ้นปี 2552 เปรียบเทียบกับร้อยละ 87.6 ณ สิ้นปี 2551

อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 capital ratio) และ สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Risk weighted capital) ของ CIMB Niaga เท่ากับร้อยละ 11.3 และ ร้อยละ 13.6 ตามลำดับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552

5) ผลประกอบการของ CIMB Thai

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 ธนาคาร CIMB Thai แถลงผลประกอบการไตรมาส 4/2552 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 42 ล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิปี 2552 เท่ากับ 1.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายจุดคุ้มทุนของกลุ่มฯในปี 2552 สำหรับผลการดำเนินงาน 12 เดือนปี 2552 CIMB Thai สามารถสร้างรายได้รวม 6.898 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากปีที่ผ่านมา ดังนั้น จากการปรับปรุงบัญชีตามมาตรฐานบัญชีที่รับรองทั่วไป เมื่อพิจารณารายได้รวมของกลุ่มฯในปี 2552 ส่วนของ CIMB Thai จะเท่ากับ 47 ล้านริงกิต เทียบกับ 41 ล้านริงกิตในปี 2551

อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 capital ratio) และ สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Risk weighted capital) ของ CIMB Thai (วัดตามเกณฑ์ Basel II) เท่ากับร้อยละ 6.0 และ ร้อยละ 12.0 ตามลำดับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552

6) ผลประกอบการของ CIMB Islamic

กำไรก่อนหักภาษี (PBT) ของ ธนาคาร CIMB Islamic เท่ากับ 171 ล้านริงกิต เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 74.5 จากการที่กลุ่มฯยังคงมีการขยายตัวอย่างมากในผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดชะรีอะฮฺ (Syariah) ของศาสนาอิสลาม เงินให้สินเชื่อของ CIMB Islamic ขยายตัวร้อยละ 166.4 จากปีที่ผ่านมาและในปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 11 ของเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มฯ เงินฝากเติบโตร้อยละ 28.1 มาอยู่ที่ 17.5 พันล้านริงกิต ด้วยสินทรัพย์รวมมูลค่า 27.7 พันล้านริงกิต ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 CIMB Islamic ได้ก้าวขึ้นเป็นธนาคารอิสลามใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 5 ปี โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12

7) ส่วนแบ่งตลาด

ในปี 2552 CIMB Investment Bank ยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านการค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซียไว้ได้ รวมทั้งขึ้นสู่อันดับ 1 ในตลาดพันธบัตรออกใหม่ พันธบัตรสกุลเงินในประเทศ และการออกและเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชน (IPO) รวมทั้งการให้คำปรึกษาในด้านตลาดตราสารทุน (Equity capital market — ECM) นอกจากนี้ CIMB Investment Bank ยังคงครองอันดับ 2 ในธุรกิจการให้คำปรึกษาการควบรวมกิจการ (M&A) ส่วน CIMB Islamic ได้ก้าวขึ้นสู่ผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจวาณิชธนกิจอิสลามทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่ CIMB Bank สามารถรักษาตำแหน่งอันดับ 2 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในมาเลเซีย และสามารถขยายส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจเงินฝากรายย่อยและบัตรเครดิต สำหรับประเทศสิงคโปร์ CIMB-GK ครองอันดับ 5 ในตลาดค้าหลักทรัพย์ และเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้านการ ให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางต่างๆ ส่วนในประเทศอินโดนิเซีย CIMB Niaga ครองอันดับ 2 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในขณะเดียวกัน PT CIMB Securities สามารถไต่ขึ้นไปอยู่อันดับ 4 ในธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วน CIMB Securities Thailand แม้ยังมีส่วนแบ่งตลาดรายได้โบรกเกอร์ในการค้าหลักทรัพย์น้อย แต่ก็สามารถก้าวขึ้นสู่อันดับ 2 ในธุรกิจ ECM ในขณะที่ CIMB Principal Asset Management ยังคงครองอันดับ 2 ในธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ในมาเลเซีย

8) การให้สิทธิในการจองซื้อหุ้นออกใหม่

CIMB Group จะให้สิทธิในการจองซื้อหุ้นออกใหม่แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 1 ต่อ 1 ซึ่งจะทำให้จำนวนหุ้นทั้งหมดที่ออกและจำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 3,531.76 ล้านหุ้น เป็น 7,063.53 ล้านหุ้น การออกหุ้นใหม่และให้สิทธิในการจองซื้อหุ้นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นของ CIMB Group และทำให้ราคาหุ้นที่ซื้อขายสอดคล้องกับกฎระเบียบการกำหนดราคาหุ้นที่จะมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทย อันเป็นการเตรียมความพร้อมของกลุ่มฯที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยต่อไปภายในปีนี้

9) สภาวะธุรกิจในอนาคต

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค กล่าวว่า “ปี 2552 เป็นปีที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่งสำหรับเรา ทั้งในด้านการเงินและการวางรากฐานที่มั่นคงเพื่อการขยายเครือข่ายทั่วภูมิภาค แต่รูปแบบธุรกิจของเรายังคงเป็นไปในลักษณะของ “’งานที่ยังคงต้องสานต่อไปไม่สิ้นสุด” และเราจะได้ตระหนักถึงศักยภาพอันเต็มเปี่ยมของเราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ในปี 2553 เรายังคงต้องฝ่าฟันความท้าทายที่หลากหลายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหดตัวของส่วนต่างต้นทุนกับรายรับอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นกว่าเดิม วงจรอัตราดอกเบี้ย และกฎระเบียบใหม่ๆจากการปฏิรูปวงการธนาคารทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจะทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการธนาคารและตลาดทุนเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจของลูกค้าจะเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่หนี้ผิดนัดชำระจะลดลง เราจึงมีทัศนะในทางบวกว่า เราจะสามารถดำเนินธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายต่างๆที่ตั้งไว้ได้”

CIMB Group ได้กำหนดเป้าหมาย KPI สำหรับปี 2553 ที่สำคัญๆได้แก่ ROE ร้อยละ 16 การขยายตัวของสินเชื่อร้อยละ 12 และการขยายตัวของเงินฝากบุคคลร้อยละ 17

สำนักสื่อสารองค์กร

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)

นางกานต์พิชชา ธนจินดาเลิศ

นางสาวมรกต จิรนิธิรัตน์

โทรศัพท์: 0-2638-8000 ต่อ 8249, 8259

โทรสาร: 0-2633-9053

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๗ เม.ย. อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud