ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงทำให้แนวโน้มการบริโภคและการดำเนินชีวิตแตกต่างจากเดิม สร้างโอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ

อังคาร ๒๐ เมษายน ๒๐๑๐ ๐๘:๑๕
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Economic Intelligence Center: SCB EIC) ได้วิเคราะห์เชิงลึกถึงปัจจัยทางโครงสร้างประชากรที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการบริโภคของคนไทย เพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจในการตอบสนองแนวโน้มความต้องการในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างประชากรทั้งทางด้านอายุ สถานภาพสมรส ระดับรายได้ และพฤติกรรมการดำเนินชีวิต

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว “การบริโภคของเราขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นใคร เช่น คนหนุ่มสาวในเมืองรายได้น้อยจะมีพฤติกรรมการบริโภคต่างออกไปจากครอบครัวฐานะปานกลางในชนบทที่มีบุตรอยู่ด้วย ซึ่งสถานะของเรานั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยผลักดันมาจากความสูงวัย รายได้ที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ความสูงวัยของประชากรเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด โดยภายในปี 2020 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยมากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากร นอกจากนี้ ระดับรายได้ยังเพิ่มสูงขึ้นโดยสัดส่วนของครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของประชากรทั้งหมด พฤติกรรมของประชากรก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จะมีการแต่งงานช้าลง การหย่าร้างมากขึ้น และบุตรจะย้ายออกจากบ้านคุณพ่อคุณแม่และพึ่งพิงตนเองมากขึ้น”

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯ นำเอาแนวโน้มต่าง ๆ มาประมาณการโครงสร้างของประชากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้พิจารณาในทั้ง 5 มิติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อายุ เพศ รายได้ พื้นที่ที่อยู่อาศัย (กรุงเทพฯ และปริมณฑล หัวเมืองในเขตภูมิภาค และชนบท) และโครงสร้างครัวเรือน (เช่น อยู่คนเดียว สมรสแต่ไม่มีบุตร เป็นต้น) ซึ่งพบว่า มีครัวเรือนจำนวนมากขึ้นที่อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางแต่ไม่ใช่ครัวเรือนในลักษณะดั้งเดิม อีกทั้ง ยังพบว่ามีผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ความต้องการอาจยังไม่ได้ถูกตอบสนองได้เต็มที่เกิดขึ้นมา เช่น สตรีที่เป็นโสด คู่สมรสที่ไม่มีบุตร และคู่สมรสที่อยู่กับบุตรหลาน

“เราสร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเตรียมความพร้อมและคว้าโอกาสจากรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยสามารถจัดประเภทของผู้บริโภคได้มากกว่า 4,000 แบบ หลากหลายตาม 5 มิติที่เกี่ยวข้อง และเพราะเราสามารถจัดประเภทของผู้บริโภคได้หลายแบบนี้เอง จึงสามารถจัดกลุ่มข้อมูลให้เหมาะสมต่อกลุ่มธุรกิจหนึ่งๆ ได้” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริม

จากการวิเคราะห์พบว่าไทยไม่มี “จังหวะน้ำขึ้น” ที่ต้องรีบตักอย่างเด่นชัด เหมือนกับรูปแบบของคนเมืองชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับโอกาสที่เกิดขึ้นในตลาดครัวเรือนแบบใหม่ๆ ที่แม้จะไม่ใช่กลุ่มตลาดที่ใหญ่มาก แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยเราคาดว่าครัวเรือนแบบ “คลาสสิค” หรือครอบครัวพ่อแม่ลูก มีสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ โดยลดลงจากประมาณ 44% ของประชากรในปี 1994 เหลือเพียง 32% ในปี 2007 และจะตกลงมาอยู่ที่ราว 21% ในปี 2020 ในทางตรงกันข้าม คนที่อยู่คนเดียวและคู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรจะเพิ่มขึ้นมาก คาดว่าในปี 2020 จะมีสัดส่วน 6% และ 14% ของประชากรตามลำดับ นอกจากนั้น ครอบครัวที่ไม่ใช่ครัวเรือนเดี่ยวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่จะเป็นการเพิ่มขึ้นจากคู่สามีภรรยาที่อยู่แต่กับหลาน (เช่น หลานอยู่กับคุณปู่คุณย่า) และคนโสดที่อยู่กับญาติ มากกว่าครอบครัวขยายแบบดั้งเดิม

“ยกตัวอย่างเช่น คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรเป็นลักษณะครัวเรือนที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมมากที่สุด โดยในปี 2007 มีสัดส่วนกว่า 35% แซงหน้าครัวเรือนประเภทที่อยู่คนเดียวที่เคยมีสัดส่วนสูงสุด อีกทั้ง ยังเป็นลักษณะครัวเรือนที่ย้ายมาอยู่คอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมราว 15% ต่อปี ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การตัดสินใจระหว่างเลือกสร้างบ้านเดี่ยวขายหรือคอนโดมิเนียมอาจไม่พออีกต่อไป แต่ต้องสินใจต่อด้วยว่าจะสร้างประเภทไหน ถึงจะถูกใจผู้ซื้อและขายได้ดี เช่น แทนที่จะมุ่งเน้นห้องพักประเภท studio มีพื้นที่ใช่สอยไม่มาก ตั้งอยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้า มาเป็นจัดให้มีห้องพักประเภท 1 — 2 ห้องนอน มีพื้นที่ใช้สอยพอสมควร อาจมีครัวย่อมๆ มีที่จอดรถเพียงพอ” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

“เรื่องหลายเรื่องในโลกเป็นเรื่องที่ไม่เที่ยง ภาวะเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องไม่แน่นอน มีขึ้นมีลง ไม่สามารถควบคุมได้ แต่เรื่องที่ค่อนข้างแน่นอนและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ดังนั้น ภาครัฐ กลุ่มธุรกิจ และผู้ประกอบการ ไม่เพียงต้องปรับตัวเพื่อพร้อมรับมือ แต่ควรปรับตัวเพื่อฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงนี้” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน SCB Insight เรื่อง “โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง ทำให้การบริโภคของไทยเปลี่ยนอย่างไร?” สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 อีเมล [email protected]

Wattanee Somchit (A)

Manager, Press Relationship,

Corporate Communications Office

Siam Commercial Bank PCL.

Tel : (0) 2544-4502 / (0)2544-4501-3

Fax : (0) 2937-7454

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest