CIMB Group ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/53 ซึ่งแสดงกำไรสุทธิ 838 ล้านริงกิต

เสาร์ ๒๒ พฤษภาคม ๒๐๑๐ ๐๘:๒๒
1) สรุปย่อ

CIMB Group Holdings Berhad (“CIMB Group” หรือ “กลุ่มฯ”) ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปีบัญชี 2553 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 838 ล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 จากปีที่ผ่านมา และคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เท่ากับ 23.7 เซ็น (sen) หรือ 11.9 เซ็นหลังการแตกหุ้น (1 ต่อ 1) อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เท่ากับร้อยละ 16.5 ซึ่งสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้เดิมที่ร้อยละ 16 หากเทียบกับไตรมาส 4/52 กำไรสุทธิสูงเพิ่มขี้นร้อยละ 4.4 ทั้งนี้ ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค CIMB Group CEO กล่าวว่า “เราเริ่มต้นปี 2553 ได้อย่างงดงามด้วยผลประกอบการรายไตรมาสที่ดีเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้รับประโยชน์จากผลประกอบการของ CIMB Niaga และภาวะตลาดทุนในภูมิภาค”

ในการประกาศผลประกอบการดังกล่าว CIMB เป็นธนาคารมาเลเซียแห่งแรกที่จัดทำงบการเงินตามหลักเกณฑ์ FRS139 อย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าธนาคารต่างๆในธุรกิจธนาคารของมาเลเซียยังคงอยู่ภายใต้ช่วงเปลี่ยนผ่านโดย Bank Negara Malaysia “การที่เราสามารถทำตามเกณฑ์ FRS139 ได้ครบถ้วนแสดงถึงความพร้อมของเราในการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งเป็นไปตามความมุ่งมั่นที่จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสและตามมาตรฐานสูงสุดของหลักธรรมาภิบาล” ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ กล่าว

2) ผลประกอบการของ CIMB Group เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

รายได้รวมของ CIMB Group สำหรับไตรมาส 1/53 เท่ากับ 2.84 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีกำไรก่อนหักภาษี (PBT) 1.13 พันล้านริงกิต คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 34.6

ในไตรมาส 1/53 PBT จากธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคในมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 9.5 จากไตรมาส 1/52 ซึ่งเป็นไปตามผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของ CIMB Bank ในขณะที่การเรียกคืนหนี้เสียที่ดำเนินการโดยบริษัทบริหารทรัพย์สินของกลุ่มฯ (Bad Bank) ยังอยู่ในระดับต่ำ PBT จากธุรกิจบริหารเงินและการลงทุน เท่ากับ 333 ล้านริงกิต ลดลงร้อยละ 30.0 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากกำไรจากการลงทุนลดต่ำลง ในขณะที่ภาวะตลาดทุนที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้ PBT จากสินเชื่อธุรกิจและวาณิชธนกิจพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 103.4 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาเป็น 236 ล้านริงกิต

PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Niaga ในไตรมาส 1/53 พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 264.7 มาอยู่ที่ 423 ล้านริงกิต จาก 116 ล้านริงกิตในไตรมาส 1/52 อันเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นและกำไรจากการขายหุ้นกู้เผื่อขาย (AFS bonds) สำหรับ PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Thai เท่ากับ 6 ล้านริงกิต เทียบกับผลขาดทุน 18 ล้านริงกิตในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้านบริหารสินทรัพย์และประกันภัย มี PBT 4 ล้านริงกิต ลดลงร้อยละ 87.9 จากผลประกอบการที่ดีขึ้นของบริษัทบริหารจัดการกองทุนซึ่งชดเชยด้วยการตั้งสำรองและค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มกิจการที่เกิดขึ้นสำหรับ CIMB SunLife (อินโดนีเซีย) และ CIMB Aviva (มาเลเซีย)

PBT โดยรวมของกลุ่มฯในไตรมาส 1/53 มาจาก CIMB Niaga ในสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 37 เทียบกับร้อยละ 14 ในไตรมาส 1/52 ส่วนที่มาจากธนาคารเพื่อผู้บริโภคมาเลเซียลดลงเป็นร้อยละ 11 เทียบกับร้อยละ 14 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่สัดส่วนจากธุรกิจบริหารเงินและการลงทุนลดลงเป็นร้อยละ 30 จากร้อยละ 57 ก่อนหน้านี้ สินเชื่อธุรกิจและวาณิชธนกิจสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21 จากร้อยละ 14 และด้านบริหารสินทรัพย์และประกันภัยสัดส่วนหดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 จากร้อยละ 4 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Thai มีสัดส่วนเล็กน้อยคือร้อยละ 1 เทียบกับขาดทุนในไตรมาส 1/52

โดยสรุป PBT จากกิจการที่ไม่ใช่สัญชาติมาเลเซียมีสัดส่วนพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 46 ในไตรมาส 1/53 จากร้อยละ 19 ในไตรมาส 1/52 อันเป็นผลมาจากผลประกอบการของ CIMB Niaga

เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มฯในไตรมาส 1/53 ขยายตัวร้อยละ 12.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากสินเชื่อผู้บริโภคมาเลเซียซึ่งเติบโตร้อยละ 15.6 รวมทั้งการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึงร้อยละ 31.7 (ในสกุลริงกิต) ของสินเชื่อรวมของ CIMB Niaga ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อขนาดย่อมของกลุ่มเติบโตร้อยละ 21.8 ร้อยละ 32.1 และร้อยละ 55.9 ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/52 ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อยังคงเติบโตต่อเนื่องโดยขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่าสินเชื่อธุรกิจยังคงลดลงต่อเนื่องร้อยละ 3.2 และสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ลดลงร้อยละ 3.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เงินฝากรวมของกลุ่มฯในไตรมาส 1/53 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 6.8 จากไตรมาส 1/52 โดยที่เงินฝากรายย่อยของ CIMB Bank มีอัตราเติบโตร้อยละ 16.5 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของการดำเนินงานธุรกิจรายย่อยในสิงคโปร์ หากไม่รวมสิงคโปร์ เงินฝากรายย่อยของ CIMB Bank ในไตรมาส 1/53 จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมของกลุ่มฯ (ตามเกณฑ์ FRS139) เท่ากับ 150 ล้านริงกิตในไตรมาส 1/53 แม้ว่าจะลดลงร้อยละ 44.9 จากไตรมาส 1/52 เมื่อเทียบกับการตั้งสำรองหนี้เสียของกลุ่มฯจำนวน 272 ล้านริงกิตในไตรมาส 1/52 (ตามเกณฑ์ Garis Panduan 3 (GP3)) ตัวเลขดังกล่าวไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้โดยตรงเนื่องจากใช้เกณฑ์บัญชีที่ต่างกัน อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อของกลุ่มฯ (credit charge) ที่คำนวณเป็นสัดส่วนปี (annualized) อยู่ที่ร้อยละ 0.40 ซึ่งต่ำกว่าเป้าทั้งปีที่ร้อยละ 0.60 อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมเท่ากับร้อยละ 7.5 ในไตรมาส 1/53 โดยมีอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญ (impairment allowance coverage) ของกลุ่มฯเท่ากับร้อยละ 80.5 อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55.0 เปรียบเทียบกับร้อยละ 52.8 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

CIMB Bank มีอัตราเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (risk weighted capital ratio) ที่ยังคงปรับตัวดีขึ้นโดยมาอยู่ที่ร้อยละ 15.6 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 (ภายใต้สมมติฐานที่รวมกำไรสุทธิไตรมาส 1/53 แล้ว) เทียบกับร้อยละ 15.1 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 อัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกต่อทุน (double leverage ratio) และ อัตราเร่ง (gearing ratio) ของ CIMB Group เท่ากับร้อยละ 119.8 และร้อยละ 26.9 ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553

3) ผลประกอบการของ CIMB Group เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

รายได้รวมของกลุ่มฯในไตรมาส 1/53 เท่ากับ 2.84 พันล้านริงกิต ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากเดิม 803 ล้านริงกิตในไตรมาส 4/52 มาเป็น 838 ล้านริงกิตในไตรมาส 1/53

4) ผลประกอบการของ CIMB Niaga

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 ธนาคาร CIMB Niaga แถลงผลประกอบการไตรมาส 1/53 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 524 พันล้านรูเปียห์ คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 99.6 จากไตรมาส 1/52 โดยมี ROE สุทธิร้อยละ 18.3 ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นมากเป็นผลจากหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ การขยายตัวของสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยรับสุทธิ(NIM)ที่สูงขึ้น และการตั้งสำรองหนี้เสียที่ลดต่ำลง กำไรจากการขายหุ้นกู้เผื่อขายของ CIMB Niaga จะไม่รับรู้ในงบของธนาคารนี้แต่รับรู้ในงบรวมของกลุ่มฯ กำไรสุทธิในไตรมาส 1/53 เติบโตร้อยละ 26.0 จากไตรมาสที่ผ่านมา อันเป็นผลโดยหลักจากการตั้งค่าเผื่อหนี้เสียต่ำลง

เงินให้สินเชื่อรวมของ CIMB Niaga ในไตรมาส 1/53 ขยายตัวร้อยละ 14.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และรถยนต์ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (Gross NPL) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 จากร้อยละ 2.8 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 อย่างไรก็ตาม CIMB Niaga ยังคงเป็นธนาคารที่มีอัตรา NPL ต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ loan loss coverage เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 115.4 ณ สิ้นงวดไตรมาส 1/53 เปรียบเทียบกับร้อยละ 84.5 ณ สิ้นงวดไตรมาส 1/52

อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 capital ratio) และ สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Risk weighted capital) ของ CIMB Niaga เท่ากับร้อยละ 10.9 และ ร้อยละ 12.8 ตามลำดับ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553

5) ผลประกอบการของธนาคาร CIMB Thai

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 ธนาคาร CIMB Thai แถลงผลประกอบการไตรมาส 1/53 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 348 ล้านบาท อันเป็นการพลิกจากขาดทุน 257 ล้านบาทในไตรมาส 1/52 ซึ่งรวมกำไรจำนวน 290 ล้านบาทจากการขายอาคารสาทร หากไม่รวมรายการนี้ ธนาคาร CIMB Thai จะมีกำไรสุทธิ 58 ล้านบาทในไตรมาส 1/53 สำหรับผลการดำเนินงาน 3 เดือนแรกปี 2553 ธนาคาร CIMB Thai สามารถสร้างรายได้รวม 1.80 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนั้น จากการปรับปรุงบัญชีตามมาตรฐานบัญชีที่รับรองทั่วไป เมื่อพิจารณารายได้รวมของกลุ่มฯในไตรมาส 1/53 ส่วนของธนาคาร CIMB Thai จะเท่ากับ 6 ล้านริงกิต เทียบกับส่วนติดลบ 18 ล้านริงกิตในไตรมาส 1/52

อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 capital ratio) และ สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Risk weighted capital) ของธนาคาร CIMB Thai (วัดตามเกณฑ์ Basel II) เท่ากับร้อยละ 6.1 และ ร้อยละ 12.1 ตามลำดับ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553

“ขณะนี้เรากำลังติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราไม่สามารถเข้าไปทำงานในสำนักงานใหญ่และสาขาบางแห่งที่อยู่ในกรุงเทพฯได้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ยังคงสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างดีโดยใช้สถานที่และระบบสำรองที่เตรียมไว้และยังคงเน้นดำเนินการตามแผน Transformation เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจต่อไป” ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ กล่าว

6) ผลประกอบการของ CIMB Islamic

PBT ของ ธนาคาร CIMB Islamic ในไตรมาส 1/53 พุ่งขึ้นหนึ่งเท่าตัวเป็น 80 ล้านริงกิต อันเป็นผลจากผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดชะรีอะฮฺ (Syariah) ของศาสนาอิสลามเป็นที่ตอบรับของตลาดอย่างต่อเนื่อง เงินให้สินเชื่อรวมของ CIMB Islamic ขยายตัวร้อยละ 127.8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มฯ เงินฝากรวมเติบโตร้อยละ 53.7 มาอยู่ที่ 17.6 พันล้านริงกิต ด้วยสินทรัพย์รวมมูลค่า 27.8 พันล้านริงกิต ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 CIMB Islamic ยังคงรักษาสถานะธนาคารอิสลามใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12

7) ส่วนแบ่งตลาด

CIMB Investment Bank ยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านการค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย รวมทั้งกลับคืนสู่อันดับ 1 ในด้านธุรกิจให้คำปรึกษาดีลการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ตลอดจนรักษาอันดับ 1 ในการออกและเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชน (IPO) และการให้คำปรึกษาในด้านตลาดตราสารทุน (Equity capital market — ECM) ส่วน CIMB Islamic ยังคงรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจวาณิชธนกิจอิสลามทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่ CIMB Bank รักษาตำแหน่งอันดับ 2 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในมาเลเซีย และสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจเงินฝากรายย่อยและบัตรเครดิต สำหรับประเทศสิงคโปร์ CIMB Securities มีส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นอันดับ 4 ในธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์และครองอันดับ 1 ในด้านบริการให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลาง ส่วนในประเทศอินโดนิเซีย CIMB Niaga ยังคงรักษาอันดับ 2 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่ PT CIMB Securities สามารถไต่ขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ในธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนในประเทศไทย CIMB Thai สามารถครองอันดับ 1 ในธุรกิจให้คำปรึกษาดีลการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) สำหรับด้านธุรกิจการบริหารสินทรัพย์นั้น CIMB Principal Asset Management ยังคงครองอันดับ 2 ในประเทศมาเลเซีย

8) แนวโน้มสภาวะธุรกิจในอนาคต

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค กล่าวว่า “กลุ่มฯยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกสำหรับแนวโน้มธุรกิจปี 2553 เพราะเศรษฐกิจและตลาดทุนของประเทศต่างๆในภูมิภาคยังคงสดใส ดีลต่างๆที่กำลังดำเนินการอยู่ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ล้วนมีความคืบหน้าด้วยดี ทั้งนี้เราจะยังคงขยายและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฐานธุรกิจเพื่อผู้บริโภคต่อไป รวมทั้งจะสามารถบรรลุเป้าหมาย KPI ของกลุ่มฯสำหรับปี 2553 ได้”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:

Effendy Shahul Hamid

Head, Group Corporate Communications,

CIMB Group

Tel: 03 - 2087 3030

Fax: 03 - 2093 1008

Email: [email protected]

เอกสารแนบ

ในปี 2552 มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆดังต่อไปนี้

1) การปรับปรุงกระบวนการธุรกิจ (Streamlining of business)

วันที่ 31 มกราคม 2552 CIMB ได้ดำเนินการจำหน่ายสินทรัพย์และหนี้สินบางส่วนรวมทั้งธุรกิจจัดการกองทุนของ Southern Investment Bank Berhad แก่ Hong Leong Investment Bank (เดิมชื่อ HLG Credit)

การควบและรวมกิจการ (M&A)

วันที่ 13 มกราคม 2552 CIMB Bank มีสัดส่วนการถือหุ้นใน CIMB Thai เพิ่มเป็นร้อยละ 92.04 ภายหลังจากการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์จากผู้ถือหุ้นรายย่อยแล้ว ต่อมา จากการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 CIMB Bank มีสัดส่วนการถือหุ้นใน CIMB Thai เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 93.15 โดยมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของ CIMB Bank เท่ากับ 1.54 พันล้านริงกิต

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 CIMB ได้ดำเนินการขายและเช่ากลับ Menara Bumiputra Commerce แก่ Pelaburan Hartanah Bumiputra Berhad โดยมีมูลค่าสิ่งตอบแทนเป็นเงินสดจำนวน 460 ล้านริงกิต

วันที่ 20 เมษายน 2552 CIMB Bank ซื้อหุ้นของ Bank of Yingkou Co. Ltd. ในสัดส่วนร้อยละ 19.99 โดยชำระเป็นเงินสดมูลค่า 348.8 ล้านเรนมินบี (ราว 186 ล้านริงกิต) คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (“P/B”) ที่ 1.29 เท่า ณ วันที่การซื้อขายหุ้นเสร็จสิ้น.

วันที่ 28 กรกฎาคม 2552 CIMB ได้จำหน่ายส่วนร่วมทุนร้อยละ 49 ใน PT CIMB Sun Life ให้แก่ PT Sun Life Indonesia Services เป็นมูลค่า 22.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 84.1 ล้านริงกิต)

วันที่ 7 สิงหาคม 2552 CIMB Investment Bank จองซื้อหุ้นทุนในสัดส่วนร้อยละ 10 ใน Vinashin Shipbuilding Finance Company Securities LLC (“VFC Securities”) ในประเทศเวียดนาม คิดเป็นมูลค่า 6.7 ล้านริงกิต โดยมีออฟชั่นที่จะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 40 ในมูลค่า 39.2 ล้านริงกิตได้ VFC Securities ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จาก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของเวียดนามเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551

วันที่ 20 ตุลาคม 2552 CIMB Thai ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน เพื่อขายตึกสาทรในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ในราคาประมาณ 1 พันล้านบาท (100 ล้านริงกิต)

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 CIMB Bank ได้ดำเนินการขาย NPL บางส่วนแก่สถาบันที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ (special purpose vehicle) คือ Southeast Asia Special Asset Management Bhd (SEASAM).

วันที่ 30 ธันวาคม 2552 CIMB Bank ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายและเช่ากลับทรัพย์สินจำนวน 65 ชิ้น กับ Kumpulan Wang Simpanan Pekerja (KWSP) เป็นเงินสดในราคา 302.45 ล้านริงกิต

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 CIMB Group ได้ลงนามในสัญญาเพื่อซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 32.22 ของ Touch N’ Go Sdn Bhd (“TnG”) ในมูลค่า 53.8 ล้านริงกิต ภายหลังการซื้อหุ้นดังกล่าว CIMB Group จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน TnG เพิ่มจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 52.22

3) การบริหารจัดการเงินทุน

วันที่ 15 เมษายน 2552 CIMB Bank ไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเต็มจำนวน

วันที่ 30 มิถุนายน 2552 CIMB Bank ไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเต็มจำนวน

วันที่ 30 มิถุนายน 2552 CIMB Group อัดฉีดเงินทุนเพิ่มอีก 1 พันล้านริงกิตใน CIMB Bank

วันที่ 10 กรกฎาคม 2552 CIMB Bank ไถ่ถอนตราสาร ICULS มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเต็มจำนวน โดยการออกหุ้นใหม่ CIMB Bank จำนวน 667 ล้านหุ้นแก่ CIMB Group Sdn Bhd

วันที่ 28 ธันวาคม 2552 กลุ่มฯยกเลิกหุ้นคงคลัง (Treasury shares) จำนวน 50.6291 ล้านหุ้น

4) อื่นๆ

วันที่ 17 เมษายน 2552 TPG Capital ลงทุน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน CIMB Group โดยการจองซื้อหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกัน อายุ 2 ปี ของ CIMB Bank (L) Limited เงินลงทุนรวม 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ TPG จะได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของ CIMB Group จำนวน 50.6 ล้านหน่วย ณ ราคาใช้สิทธิที่ 10 ริงกิตต่อหุ้น ระยะเวลาใช้สิทธิ 5 ปี

วันที่ 2 กรกฎาคม 2552 CIMB Strategic Assets Sdn Bhd ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนในสัดส่วน 60:40 กับ Standard Bank Group International Limited เพื่อร่วมกันบริหารกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอิสลาม (Islamic Infrastructure Fund) มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กองทุนตราสารทุนส่วนบุคคลนี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (“ADB”) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งศาสนาอิสลาม (“IDB”) โดยมีเงินทุนแรกเริ่มที่ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ CIMB Bank (L) Limited และ Standard Bank Plc ร่วมกันสมทบเงินทุนเข้าในกองทุนอีก 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

วันที่ 9 กันยายน 2552 ชื่อของกลุ่มฯได้เปลี่ยนจาก Bumiputra-Commerce Holdings Berhad เป็น CIMB Group Holdings Berhad หลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 RAM Ratings ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือตราสารระยะยาวสำหรับ CIMB Bank และ CIMB Investment Bank ขึ้นเป็น AAA/P1 (stable) จาก AA2 ก่อนหน้านี้

วันที่16 พฤศจิกายน 2552 กลุ่มฯได้ประกาศความตั้งใจที่จะนำหลักทรัพย์ของ CIMB Group จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเป็นการจดทะเบียนควบสองตลาด (dual listing) มีจำนวนหุ้นสำหรับการทำ IPO ครั้งนี้ไม่เกิน 35 ล้านหุ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๗ เม.ย. อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud