นักวิชาการผังเมืองระดมสมองแก้ปัญหาพื้นที่ "มาบตาพุด"

จันทร์ ๐๗ มิถุนายน ๒๐๑๐ ๑๕:๓๓
คณะกรรมการ 4 ฝ่าย เล็งปิดงานสิ้นเดือน มิ.ย. “บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” เผยเตรียมส่งไม้ต่อให้พื้นที่ รับโจทย์ต่อไป ฉายภาพมาบตาพุดวันนี้ มีตั้งแต่เขตควบคุมมลพิษ การต่อสู้ฟ้องร้อง เชื่อหากไม่มีกรณีมาบตาพุด ม. 67 วรรคสอง อาจถูกฉีกทิ้งไปแล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายสถาบันทางปัญญา ประชุมปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย ครั้งที่ 34 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุม 1 สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดี กรุงเทพมหานคร โดยมีการนำเสนอเรื่อง “การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและปัญหาที่มาบตาพุด” จากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึง โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 2524 และถูกบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 5 เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยมองว่า หากเดินหน้าโดยใช้ฐานทางเกษตรกรรม การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจจะไม่เทียบเท่านานาชาติ จึงมีการพัฒนาขนานใหญ่ เพื่อการนำไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ พัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ซึ่งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่โดนท้วงติงมาตลอด จนมาปรากฎปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวอีกว่า ปัญหาของมาบตาพุดได้สะท้อนให้เห็นใน 3 ประเด็นปัญหาหลัก คือ 1.อยากให้มีแนวทางการพัฒนาแบบโครงการพัฒนาพื้นที่ชายทะเลตะวันออกต่อไปหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นหลายส่วนในชายฝั่งทะเลตะวันตก และชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่นำมาสู่อุตสาหกรรมหนัก และก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง 2. การกอบกู้ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และความรับผิดชอบของภาคเอกชนสำคัญอย่างยิ่ง คือ ยังมีชาวบ้านขัดขวาง เกิดเป็นความขัดแย้ง ต่อต้านทุกพื้นที่ หากปล่อยไว้จะไม่แตกต่างจากวิกฤตเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง หรือวิกฤตทางการเมือง ซึ่งจะมองไม่เห็นทางออก และ 3. การปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม แม้จะมีกฎหมายค่อนข้างดี แต่ยังขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ หนึ่งในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กล่าวว่า มาบตาพุดวันนี้ มีภาพตั้งแต่เขตควบคุมมลพิษ การต่อสู้ฟ้องร้อง และอาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีกรณีมาบตาพุด มาตรา 67 วรรคสอง อาจถูกฉีกทิ้งไปแล้ว ซึ่งเมื่อมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น มาตรานี้จึงฟื้นคืนชีพขึ้นมา จนเกิดคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยคำสั่งแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี คาดว่าสิ้นเดือนนี้ คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะยุติการทำงาน

“กระบวนการนโยบายสาธารณะของประเทศที่มีปัญหาอยู่ มาตรา67 วรรคสอง สะท้อนถึงกระบวนการนโยบายสาธารณะในหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องของกติกา การมีส่วนร่วม เรื่ององค์กรที่ต้องไปถ่วงดุลกับการตัดสินใจของภาครัฐ เห็นมิติในเรื่องของเครื่องมือในการตัดสินใจ เช่น HIA เฉพาะแค่มาตราเดียวได้เปลี่ยนและพลิกกระบวนการนโยบายสาธารณะของประเทศไทย”

นายบัณฑูร กล่าวถึงโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ ว่า มีความพยายามตั้งแต่ปี 2551 จะหาคำตอบเรื่องนี้ ซึ่งหลังจากคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ ที่มี ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เป็นประธาน มีกำหนดประชุมครั้งสุดท้าย เพื่อร่างรายการประเภทโครงการ/กิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง คาดว่าจะมีประมาณ 19 + 3/4 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการ 4 ฝ่าย วันจันทร์ที่ 7 มิ.ย. นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อไปที่นายกรัฐมนตรีว่าจะมีการประกาศออกมาเป็นจำนวนเท่า ไหร่

สำหรับการจัดทำผังเมืองและพื้นที่กันชน นายบัณฑูร กล่าวว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ทำเสร็จและส่งให้นายกรัฐมนตรีไปแล้ว หนึ่งเรื่องคือเขตกันชน ส่วนเรื่องอื่นๆ ได้มีสรุป แต่ยังไม่ได้ส่งไปที่นายกรัฐมนตรี รวมทั้งยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหา การปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะปิดงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดภายในเดือนนี้

"วันนี้คงค้องมองข้ามภารกิจคณะกรรมการ 4 ฝ่ายไปแล้ว กลไกสำคัญ คือ ในพื้นที่ที่จะรับโจทย์ต่อไป ข้อเสนอที่ภาคีที่เกี่ยวข้องคุยกันไว้ คืองานที่จะทำขับเคลื่อนคู่ขนานกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และรับมือหลังสิ้นเดือนนี้ ทั้งงานเสริมสร้างความรู้เรื่องผังเมือง การปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ซึ่งได้รับอนุมัติไปแล้ว ส่วนเรื่องศึกษาศักยภาพของพื้นที่เดิมเป็นโจทย์เรื่องมลพิษทางอากาศ ปัจจุบันมีเรื่องทรัพยากรน้ำ การแบ่งสรรน้ำ และการจัดการกากของเสีย สิ่งปล่อยมาจากโรงงานอุตสาหกรรม"

ส่วนนางภารนี สวัสดิรัตน์ นักวิชาการอิสระ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อพิจารณาการใช้ที่ดินเพื่อเป็นพื้นที่กันชน และปรับแก้ไขการใช้ที่ดิน กรณีมาบตาพุดว่า ขณะนี้ ผังเมืองในจังหวัดระยองมีการเปลี่ยนไป พื้นที่มลพิษมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่สีเขียวลดลง เหตุผลการขอเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมในการวางผังเมืองที่ผ่านมา คือพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการลงทุน โดยไม่รู้ว่า ไม่เพียงพอนั้นมีโรงงานกี่โรง เป็นอุตสาหกรรมประเภทไหนบ้าง

“ผังมาบตาพุดกำลังปรับใหม่ ได้มีการคุยกับผู้วางผังและกรมโยธาธิการ ควรจะขอกระชับและคืนพื้นที่ โดยดูพื้นที่ที่ขายจริงและใช้ไปเท่าไหร่ ซึ่งน่าจะมีการใช้กลไกช่วยเรื่องนี้ได้ เพราะ HIA ไม่สามารถจะหยุดโครงการได้ แต่ต้องหยุดด้วยการประเมินยุทธศาสตร์ พื้นที่ตรงนี้ยังเหมาะรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตอีกหรือไม่ พื้นที่ว่างยังไม่ถูกใช้เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่กันชน หรืออาจใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น”

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง