กลุ่มซีไอเอ็มบีประกาศผลประกอบการครึ่งปี 2553 แสดงกำไรสุทธิ 1.727 พันล้านริงกิต

ศุกร์ ๒๗ สิงหาคม ๒๐๑๐ ๑๐:๓๐
CIMB Group Holdings Berhad (“CIMB Group” หรือ “กลุ่มฯ”) ประกาศผลประกอบการครึ่งปีบัญชี 2553 (ครึ่งปี 1/53) ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1.727 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 จากปีที่ผ่านมา และคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เท่ากับ 24.5 เซ็น (sen) อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ร้อยละ 17 สูงกว่าเป้าทั้งปีที่ร้อยละ 16 กลุ่มฯประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 4.625 เซ็น (single tier) คิดเป็นจำนวนเงินปันผลสุทธิทั้งสิ้น 339 ล้านริงกิต ในไตรมาส 2/53 กลุ่มฯมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 889 ล้านริงกิต สูงกว่ากำไรสุทธิไตรมาส 1/53 ร้อยละ 6.1 และสูงกว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2/52 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 663 ล้านริงกิตร้อยละ 34.1

ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าว “กลุ่มฯสามารถสร้างผลกำไรรอบ 3 เดือนและรอบ 6 เดือนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หัวใจสำคัญมาจากการผลประกอบการที่แข็งแกร่งขึ้นของสายบรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจ ส่วนเพิ่มสำคัญจากผลประกอบการของ CIMB Niaga และการกันเงินสำรองที่ลดลง”

ผลประกอบการของ CIMB Group เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

รายได้รวมของ CIMB Group สำหรับครึ่งปี 1/53 เท่ากับ 5.861 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรก่อนหักภาษี (PBT) 2.314 พันล้านริงกิต คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 34.8

ในครึ่งปี 1/53 PBT จากธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคในมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 23.5 จากครึ่งปี 1/52 ซึ่งเป็นผลจากผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของธุรกิจรายย่อยและธุรกิจบัตรเครดิต ตลอดจนการฟื้นตัวของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (Group Special Assets Management — “GSAM”) ในขณะที่ PBT จากธุรกิจบริหารเงินและการลงทุน เท่ากับ 605 ล้านริงกิต ลดลงร้อยละ 25.3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม PBT จากบรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 72.9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาเป็น 498 ล้านริงกิต อันเป็นผลจากการที่ภาวะตลาดทุนในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับครึ่งปี 1/52

PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Niaga ในครึ่งปี 1/53 พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 171.1 มาอยู่ที่ 828 ล้านริงกิต จาก 305 ล้านริงกิตในครึ่งปี 1/52 จากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับ PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Thai เท่ากับ 26 ล้านริงกิต เทียบกับผลขาดทุน 29 ล้านริงกิตในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้านบริหารสินทรัพย์และประกันภัย มี PBT 36 ล้านริงกิต ลดลงร้อยละ 55.4 อันเป็นผลจากการที่ไม่มีรายการกำไรจากรายการปรับปรุงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีสำหรับ CIMB Aviva ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา

PBT โดยรวมของกลุ่มฯในครึ่งปี 1/53 ยังคงมาจาก CIMB Niaga ในสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 36 เทียบกับร้อยละ 18 ในครึ่งปี 1/52 ส่วนที่มาจากธนาคารเพื่อผู้บริโภคมาเลเซียลดลงเล็กน้อยเป็นร้อยละ 14 เทียบกับร้อยละ 15 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่สัดส่วนจากธุรกิจบริหารเงินและการลงทุนลดลงเป็นร้อยละ 26 สินเชื่อธุรกิจและวาณิชธนกิจสัดส่วนปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21 จากร้อยละ 17 ก่อนหน้านี้ และด้านบริหารสินทรัพย์และประกันภัยมีสัดส่วนหดลงเป็นร้อยละ 2 จากร้อยละ 5 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Thai มีสัดส่วนเล็กน้อยคือร้อยละ 1 ในขณะที่เมื่อครึ่งปี 1/52 มีตัวเลขขาดทุน

โดยสรุป PBT จากกิจการที่ไม่ใช่สัญชาติมาเลเซียมีสัดส่วนพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 44 ในครึ่งปี 1/53 จากร้อยละ 20 ในครึ่งปี 1/52 อันเป็นผลมาจากผลประกอบการของธุรกิจในอินโดนีเซีย และการที่ธุรกิจทั้งในประเทศไทยและสิงคโปร์กลับคืนสู่สภาวะทำกำไรได้อีกครั้งหนึ่ง

เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มฯในครึ่งปี 1/53 ขยายตัวร้อยละ 16.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการขยายตัวถึงร้อยละ 30.7 (ในสกุลริงกิต) ของสินเชื่อรวมของ CIMB Niaga และการเติบโตของสินเชื่อผู้บริโภคมาเลเซียร้อยละ 15.2 ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อขนาดย่อมของกลุ่มฯเติบโตร้อยละ 22.9 ร้อยละ 38.3 และร้อยละ 38.7 ตามลำดับเมื่อเทียบกับครึ่งปี 1/52 ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อยังคงเติบโตต่อเนื่องโดยขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่าสินเชื่อธุรกิจยังคงลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.5 สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา NIM ของกลุ่มฯยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เงินฝากรวมของกลุ่มฯในครึ่งปี 1/53 มีอัตราเติบโตร้อยละ 18.1 จากครึ่งปี 1/52 โดยเงินฝากกระแสรายวันลูกค้ารายย่อยของ CIMB Bank เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20.5 เนื่องจากธุรกิจรายย่อยในสิงคโปร์เริ่มต้นได้อย่างงดงามในการระดมเงินฝาก ในขณะที่ CIMB Bank ก็สามารถสร้างสถิติการเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ต่อเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมของกลุ่มฯ (ตามเกณฑ์ FRS139) เท่ากับ 272 ล้านริงกิตในครึ่งปี 1/53 แม้ว่าจะเป็นการลดลงร้อยละ 52.6 เมื่อเทียบกับการตั้งสำรองหนี้เสียของกลุ่มฯจำนวน 574 ล้านริงกิตในครึ่งปี 1/52 (ตามเกณฑ์ Garis Panduan 3 (GP3)) ตัวเลขดังกล่าวไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้โดยตรงเนื่องจากใช้เกณฑ์บัญชีที่ต่างกัน อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อของกลุ่มฯ (credit charge) ที่คำนวณเป็นสัดส่วนปี (annualized) อยู่ที่ร้อยละ 0.30 ซึ่งต่ำกว่าเป้าทั้งปีที่ร้อยละ 0.60 อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมเท่ากับร้อยละ 7.2 ในครึ่งปี 1/53 ลดลงจากร้อยละ 7.5 เมื่อสามเดือนที่แล้ว โดยมีอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญ (impairment allowance coverage) ของกลุ่มฯเท่ากับร้อยละ 78.4 อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ของกลุ่มฯเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 54.6 เปรียบเทียบกับร้อยละ 53.7 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

CIMB Bank มีอัตราเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (risk weighted capital ratio) เท่ากับร้อยละ 15.0 ในขณะที่มีอัตรา double leverage ratio และ อัตรา gearing ratio เท่ากับร้อยละ 118.3 และร้อยละ 25.3 ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553

ผลประกอบการของ CIMB Group เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

รายได้รวมของกลุ่มฯในไตรมาส 2/53 เท่ากับ 3.019 พันล้านริงกิต ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 มาเป็น 889 ล้านริงกิตในไตรมาส 2/53

PBT ของกลุ่มฯในส่วนที่เป็นธนาคารเพื่อผู้บริโภคมาเลเซียปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 52.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อันเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (GSAM) หากไม่รวมสินทรัพย์เหล่านี้ซึ่งเป็นปัญหาคั่งค้างมาจากในอดีต กำไรจากธุรกิจเพื่อผู้บริโภคส่วนที่เป็น good bank จะสูงขึ้นร้อยละ 5.9 ส่วนบรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจขยายตัวร้อยละ 14.7 ตามแรงขับเคลื่อนของตลาดทุนซึ่งเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ส่วนของธุรกิจบริหารเงินและการลงทุนลดลงร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Niaga มีสัดส่วนลดลงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากในไตรมาสก่อนมีกำไรที่สูงกว่าอันเป็นผลจากการขายหุ้นกู้ของ Lippo Bank เดิม ในขณะที่ PBT ที่มาจากด้านบริหารสินทรัพย์และประกันภัยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 262.5 เป็น 28 ล้านริงกิต สำหรับ CIMB Thai สัดส่วน PBT พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 233.3 จาก 6 ล้านริงกิตในไตรมาส 1/53 เป็น 20 ล้านริงกิตในไตรมาส 2/53

ผลประกอบการของ CIMB Niaga

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ธนาคาร CIMB Niaga แถลงผลประกอบการครึ่งปี 1/53 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,129 พันล้านรูเปียห์ คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 62.2 จากครึ่งปี 1/52 โดยมี ROE สุทธิร้อยละ 19.2 ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นมากเป็นผลจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งด้านสินเชื่อและอัตราส่วน NPL ที่ลดลง กำไรจากการขายหุ้นกู้เผื่อขายของ CIMB Niaga จะไม่รับรู้ในงบของธนาคารนี้แต่รับรู้ในงบรวมของกลุ่มฯ กำไรสุทธิในไตรมาส 2/53 เติบโตร้อยละ 15.5 จากไตรมาสที่ผ่านมา อันเป็นผลโดยหลักจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดต่ำลง

เงินให้สินเชื่อรวมของ CIMB Niaga ในครึ่งปี 1/53 ขยายตัวร้อยละ 25.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยมีสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และรถยนต์เป็นตัวขับเคลื่อน สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (Gross NPL) ลดลงเป็นร้อยละ 2.7 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 จากร้อยละ 3.1 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 และไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 CIMB Niaga ยังคงเป็นธนาคารที่มีอัตรา NPL ต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ loan loss coverage เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 140.0 ณ สิ้นงวดครึ่งปี 1/53 เปรียบเทียบกับร้อยละ 96.3 ณ สิ้นงวดครึ่งปี 1/52

อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 capital ratio) และ สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Risk weighted capital) ของ CIMB Niaga เท่ากับร้อยละ 10.5 และ ร้อยละ 12.1 ตามลำดับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2553

ผลประกอบการของธนาคาร CIMB Thai

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 ธนาคาร CIMB Thai แถลงผลประกอบการครึ่งปี 1/53 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 714 ล้านบาท เปรียบเทียบกับขาดทุนสุทธิ 502 ล้านบาทในครึ่งปี 1/52 ทั้งนี้ได้รวมกำไรจำนวน 508 ล้านบาทจากการขายอาคารสาทรและ บลจ. บีที หากไม่รวมรายการดังกล่าว ธนาคาร CIMB Thai จะมีกำไรสุทธิ 206 ล้านบาทในครึ่งปี 1/53 สำหรับผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกปี 2553 ธนาคาร CIMB Thai สามารถสร้างรายได้รวม 3.607 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนั้น จากการปรับปรุงบัญชีตามมาตรฐานบัญชีที่รับรองทั่วไป หากเทียบกับเงินได้รวมของกลุ่มฯ ส่วนของธนาคาร CIMB Thai จะเท่ากับ 26 ล้านริงกิต เปรียบเทียบกับครึ่งปี 1/52 ซึ่งมีเงินได้ติดลบ 29 ล้านริงกิต

อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 capital ratio) และ สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Risk weighted capital) ของธนาคาร CIMB Thai (วัดตามเกณฑ์ Basel II) เท่ากับร้อยละ 6.3 และ ร้อยละ 12.4 ตามลำดับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2553

ผลประกอบการของ CIMB Islamic

PBT ของ ธนาคาร CIMB Islamic ในครึ่งปี 1/53 พุ่งขึ้นร้อยละ 144.6 เป็น 159 ล้านริงกิต อันเป็นผลจากผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดชะรีอะฮฺ (Syariah) ของศาสนาอิสลามเป็นที่ตอบรับของตลาดอย่างต่อเนื่อง เงินให้สินเชื่อรวมของ CIMB Islamic ขยายตัวร้อยละ 141.4 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.3 ของเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มฯ เงินฝากรวมเติบโตร้อยละ 71.9 จากครึ่งปี 1/52 มาอยู่ที่ 20.3 พันล้านริงกิต

ส่วนแบ่งตลาด

ส่วนแบ่งตลาดของกลุ่มฯในธุรกิจด้านที่สำคัญๆยังคงแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปี 1/53

CIMB Investment Bank เป็นผู้นำด้านการค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย รวมทั้งอยู่ในอันดับ 1 ด้านธุรกิจให้คำปรึกษาดีลการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ของมาเลเซีย ธุรกรรมตลาดตราสารหนี้ การออกและเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชน (IPO) และการให้เงินกู้ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นๆ (Loan Syndications)

CIMB Islamic จัดเป็นธนาคารอิสลามขนาดใหญ่อันดับ 2 ของมาเลเซียด้วยขนาดสินทรัพย์รวม 27.8 พันล้านริงกิต ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12 และยังเป็นธนาคารอิสลามใหญ่อันดับ 2 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16.5 CIMB Islamic ยังคงรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ของประเทศมาเลเซียและอันดับ 2 ของโลกในธุรกิจตราสารหนี้อิสลาม (sukuks)

CIMB Bank รักษาตำแหน่งอันดับ 2 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในมาเลเซีย และอันดับ 3 ในธุรกิจที่สำคัญอื่นๆ เช่น เงินฝากรายย่อย บัตรเครดิต และสินเชื่อ SME ตลอดจนอยู่ในตำแหน่งอันดับ 4 ในธุรกิจเช่าซื้อ

สำหรับประเทศสิงคโปร์ CIMB Securities มีส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นอันดับ 3 ในธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์และอยู่ในอันดับ 3 ในด้านบริการให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลาง

ส่วนในประเทศอินโดนิเซีย CIMB Niaga ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 5 ของประเทศ ยังคงรักษาอันดับ 2 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่ PT CIMB Securities อยู่อันดับ 3 ในธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศ

สำหรับด้านธุรกิจการบริหารสินทรัพย์นั้น CIMB Principal Asset Management ยังคงครองอันดับ 2 ในประเทศมาเลเซีย

Southeast Asia Special Asset Management Berhad (“SEASAM”)

SEASAM เป็นธุรกิจที่กลุ่มถือหุ้นทั้งหมดเพื่อดำเนินการบริหารหนี้ NPL ที่คั่งค้างมาแต่เดิม เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 SEASAM ได้เข้าซื้อ NPL portfolio จาก CIMB Bank โดยมีมูลค่าหนี้ 8.4 พันล้านริงกิตและมีมูลค่าตามบัญชีสุทธิ (NBV) 925 ล้านริงกิต NBV ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2553 เท่ากับ 714.6 ล้านริงกิต

ก่อนหน้านี้ กลุ่มฯได้ทำการศึกษาแผนการจำหน่ายส่วนร่วมทุนใน SEASAM ในสัดส่วนที่จะมีอำนาจควบคุมกิจการได้ แต่ในที่สุดได้ตัดสินใจไม่จำหน่ายส่วนร่วมทุนดังกล่าว หลังจากที่ข้อกำหนดเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ Basel II มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ภายใต้กรอบของหลักเกณฑ์ดังกล่าว มูลค่าประเมินportfolio ของ SEASAM จะมีส่วนสูญเสียน้อยกว่าจำนวนเงินตั้งสำรองที่คาดไว้ตามเกณฑ์ FRS139 ดังนั้น การจำหน่ายส่วนร่วมทุนใน SEASAM จะให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า

แนวโน้มสภาวะธุรกิจในอนาคต

“ในครึ่งปีแรกของปี 2553 นอกจากกลุ่มฯจะสามารถแสดงผลประกอบการที่ดีแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่มีการรวมและประสานการดำเนินงานและพนักงานข้ามประเทศระหว่างธุรกิจต่างๆของกลุ่มฯในภูมิภาคนี้ ธุรกิจต่างๆของเรากำลังพัฒนาสู่ความเป็นเครือข่ายที่เป็นหนึ่งเดียวและเริ่มได้รับผลพวงจากการผสานจุดแข็งระหว่างกันภายในกลุ่มฯเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ในระดับภูมิภาคแก่ลูกค้าของเรา” ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค กล่าว

“มองในระยะสั้น ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีอัตราการเติบโตที่ดีในปีนี้ หากพิจารณาจากพลังขับเคลื่อนของกลุ่มฯในครึ่งปีแรกของปี คาดว่า ROE ทั้งปีของกลุ่มฯจะเท่ากับร้อยละ 16.5 ซึ่งไม่รวมผลจากการซื้อหุ้น CIMB Niaga เพิ่มจำนวนร้อยละ 20 เมื่อเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มฯจะยังคงใช้หลักความระมัดระวังในเรื่องฐานเงินทุนเพราะเรากำลังอยู่ระหว่างการปรับสู่การใช้ Basel II อีกทั้งกระบวนการปฏิรูปการธนาคารระหว่างประเทศยังไม่สามารถปรับใช้ในรายละเอียดที่สำคัญๆบางประการได้”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๕๙ อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud