SCB EIC แนะจะแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมอย่างยั่งยืน ต้องสร้างโอกาสให้คนสามารถไต่บันไดเพื่อเพิ่มรายได้ มากกว่าเพียงแค่กระจายรายได้ผ่านเงินอุดหนุน

อังคาร ๓๑ สิงหาคม ๒๐๑๐ ๑๖:๒๔
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุปัญหาความไม่เท่าเทียมในไทยที่อยู่กับเรามานาน สะท้อนให้เห็นว่าหากยังแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น เพื่อช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น เราจึงได้ทำการวิเคราะห์เชิงลึกว่าแท้จริงแล้วสภาวะความไม่เท่าเทียมกันมีลักษณะอย่างไร โดยพบว่ากลุ่มคนรายได้น้อยสามารถไต่บันไดเพื่อเพิ่มรายได้ได้ในระดับหนึ่งด้วยการเปลี่ยนอาชีพหรือย้ายถิ่นฐาน เช่น รายได้ของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าหากสามารถมาทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามพบว่าการเปลี่ยนอาชีพหรือการย้ายถิ่น ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถไต่บันไดรายได้ให้ไปอยู่ในระดับสูงได้ เช่นไต่บันไดให้มีฐานะเท่ากับผู้มีอาชีพเฉพาะทางในกรุงเทพฯ ซึ่งมีรายได้สูงกว่าเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ถึง 9 และ 4 เท่า ตามลำดับ เนื่องจากจำเป็นต้องมีการศึกษา ทักษะ หรือ เงินทุน ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะกลุ่มรายได้น้อยเหล่านี้โดยเฉลี่ยยังมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับค่าเล่าเรียนในระดับสูง เช่นระดับอนุปริญญาหรืออุดมศึกษาอีกด้วย ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะและการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง มากกว่าการกระจายรายได้ผ่านเงินอุดหนุน

การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ช่วยให้ปัญหาความยากจนในไทยปรับตัวดีขึ้น โดยถ้าเรากำหนดให้เส้นระดับความยากจน (poverty line) อยู่ที่ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน จะพบว่าอัตราส่วนความยากจนในไทยได้ปรับลดลงจาก 26% ในปี 1992 เหลือเพียง 12% ในปี 2004 แต่ถ้าเราขยับเส้นความยากจนดังกล่าวขึ้นเป็น 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน จะพบว่า อัตราส่วนความยากจนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นถึง 29% ซึ่งสะท้อนว่ายังคงมีคนไทยอีกจำนวนมากที่อยู่ในกลุ่ม “เฉียดจน”

“ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยของคนในแต่ละภูมิภาค จากการวิเคราะห์ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่าเกษตรกรรายย่อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอ. เฉียงเหนือ) มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่ำที่สุด ในขณะที่ผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ มีรายได้สูงที่สุดโดยมีรายได้มากกว่ากลุ่มเรกถึงเกือบ 12 เท่า นอกจากนั้นเมื่อพิจารณารายได้เฉลี่ยในแต่ละอาชีพยังพบว่าโดยเฉลี่ยผู้มีอาชีพเกษตรกรรายย่อยมีรายได้เฉลี่ยต่ำที่สุด ตามมาด้วยคนงานก่อสร้าง คนงานในโรงงาน และพนักงานบริการ โดยการเติบโตของรายได้ของคนกลุ่มดังกล่าวไม่มีแนวโน้มที่จะโตไล่ทันรายได้ของผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง และผู้ประกอบการซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่ากลุ่มแรกอย่างชัดเจน นอกเสียจากว่าจะมีการศึกษา ทักษะ หรือเงินทุน เพียงพอสำหรับไต่บันไดรายได้สู่ขั้นสูงขึ้น ทั้งนี้โอกาสในการเข้าถึงปัจจัยดังกล่าวยังมีไม่ทั่วถึง” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าว

ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริมว่า “การไล่ไม่ทันของรายได้ดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพรวมในระยะยาวสำหรับช่วงปี 1990-2007 ซึ่งไม่แสดงถึงสัญญาณใดๆ ว่าสาขาอาชีพและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะสามารถมีรายได้เท่ากับกลุ่มที่มีรายได้มากได้ ขณะที่ครัวเรือนรายได้น้อย (เช่น เกษตรกรรายย่อยในภาคตอ.เฉียงเหนือ) มีอัตราการเติบโตของรายได้มากขึ้น แต่ช่องว่างของรายได้ที่ห่างกันมากในตอนต้น ทำให้มีโอกาสไม่มากนักที่ระดับรายได้จะไล่ตามกันทัน โดยในบางกรณี ช่องว่างของรายได้นี้กลับยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย โดยในปี 1990 นั้น ผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ มีรายได้มากกว่า 2 เท่าของคนงานในโรงงานในกรุงเทพฯ และมากกว่า 10 เท่าของเกษตรกรรายย่อยในตอ.เฉียงเหนือ แต่ในปี 2007 ช่องว่างเหล่านี้กลับยิ่งห่างออกไปเป็น 3 เท่าและ 12 เท่าตามลำดับ”

การไต่บันไดรายได้ในขั้นแรกๆ สามารถทำได้ง่ายด้วยการเปลี่ยนอาชีพหรือย้ายถิ่นฐาน เช่นเปลี่ยนจากเกษตรกรรายย่อยในภาคตอ. เฉียงเหนือมาเป็นคนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามหากต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเช่นในกรณีของกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะทางและผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ ซึ่งมีรายได้มากกว่ากลุ่มแรกถึง 9 และ 12 เท่า ตามลำดับ จำเป็นต้องมีการศึกษา ทักษะที่สูงขึ้น หรือสามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเราพบว่าการไต่บันไดรายได้สู่ขั้นสูงนี้มีโอกาสค่อนข้างน้อยเนื่องจากขาดปัจจัยดังกล่าว นอกจากนั้น โอกาสของบุตรหลานของผู้มีรายได้น้อยก็มีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากเงินออมยังไม่เพียงพอสำหรับค่าเล่าเรียนระดับสูง

ตัวอย่างเช่น ผู้มีอาชีพอิสระรับจ้างทั่วไปในภาคตอ. เฉียงเหนือมีเงินออมเฉลี่ยต่อปีเพียง 12,000 บาท ในขณะที่ค่าเล่าเรียนต่อคนต่อปีของการศึกษาระดับอนุปริญญา และอุดมศึกษาสูงถึง 15,000 และ 35,000 บาทตามลำดับ

ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย “ปัญหาความไม่เท่าเทียมของรายได้ในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาที่อยู่กับเรามานาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหากยังแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น และด้วยจากสภาวะความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นจริงๆ ในไทย รัฐควรให้ความสำคัญอย่างชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านโอกาสเพื่อการไต่บันไดรายได้มากกว่าเพียงแค่กระจายรายได้ผ่านเงินอุดหนุน เพราะการกระจายรายได้เป็นนโยบายที่ผลรวมเป็นศูนย์ หรือหากมีใครได้มากขึ้นอีกคนหนึ่งต้องได้น้อยลง (zero-sum game) โดยรัฐควรมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขและการศึกษาอย่างทั่วถึง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องเพิ่มความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยแนวทางดังกล่าวนี้ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ”

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้จะถูกหยิบยกขึ้นนำเสนอในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปีครั้งที่ 2 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB Annual Conference on the Economy ภายใต้การบรรยายในหัวข้อเรื่อง “Thailand: Tougher Challenges, Bigger Opportunities” ร่วมกับการเสวนาในหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดเงินในปี 2554 รวมทั้งการเสวนาในเรื่องโอกาสของประเทศไทยในระยะยาวและบทบาทของภาคเอกชน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้จะจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ในวันศุกร์ที่ 3 กันยายนนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงานสัมมนาได้ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Insight เรื่อง “การเติบโต ความเหลื่อมล้ำ และโอกาสในประเทศไทย" สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 อีเมล์ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้