สท. ยูนิเซฟ ผนึกองค์กรภาคีและนักวิชาการ ผลักดันกฏหมายบังคับให้เกลือผสมไอโอดีนเพื่อป้องกันเด็กไทยขาดไอโอดีนอย่างยั่งยืน

พุธ ๑๕ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๘:๒๔
ยกกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาอย่าง บูรณาการ พร้อมเรียกร้องให้แก้กฏหมายให้ชัดเจนขึ้น และให้บังคับใช้อย่างเคร่งครัด

สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ (สท.) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย องค์กรภาคี ภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพในการเร่งส่งเสริมการบริโภคไอโอดีนอย่างเพียงพอในเด็กและสตรีโดยเฉพาะที่มีครรภ์ เพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อระดับการพัฒนาสติปัญญา (IQ) และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเอ๋อและพัฒนาการที่ผิดปกติของสมอง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการในคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลของการขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์มีผลต่อเด็กตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เพราะในช่วง 12 สัปดาห์แรก ทารกไม่สามารถสร้างไธรอยด์ฮอร์โมนได้เองต้องรับจากแม่ หากแม่ขาดไอโอดีนอย่างรุนแรงตั้งแต่ปฏิสนธิ ทารกก็จะพร่องไธรอยด์ ฮอร์โมน และหากขาดไธรอยด์ฮอร์โมนอย่างรุนแรงใน 12 สัปดาห์แรก เด็กจะแท้งและเสียชีวิต แต่หากรอดชีวิตก็จะมีโอกาสเป็นโรคเอ๋อ ไอคิวต่ำถึงระดับ 30-40 ได้ และอาจหูหนวก เป็นใบ้ บางคนถึงกับเดินไม่ได้ พิการอย่างถาวร

“ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นจะต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก โดยเสนอ 4 มาตรการ คือ 1.นโยบายการเมืองต้องให้ความสนใจกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง 2.ต้องติดตามผลเป็นระยะ เพื่อประเมินประสิทธิภาพ 3.ต้องเสริมไอโอดีนในพาหะที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ และ 4.ต้องให้ความรู้กับประชาชน ปรับทัศนคติใหม่ เน้นสร้างความเข้าใจว่า ปัญหาการขาดสารไอโอดีนมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของสมอง” ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ กล่าว

แพทย์หญิงแสงโสม สีนะวัฒน์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านโภชนาการ) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การรณรงค์ให้ประชาชนได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพออย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ การออกกฏหมายบังคับให้เกลือผสมไอโอดีนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต่อเนื่องได้ แต่การบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังก็สำคัญเช่นกัน อีกทั้งยังต้องส่งเสริมและสนับสนุนเครื่องมือในการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก การควบคุมคุณภาพในโรงงาน เพราะมีปัญหามาตลอด เนื่องจากโรงงานผลิตเกลือมีหลายขนาดและส่วนใหญ่เป็นรายย่อย อีกประเด็นที่สำคัญคือความร่วมมือของชุมชนที่จะต้องร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหานี้ และต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันโฆษณาประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวังและส่งเสริมให้บริโภคเกลือผสมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง”

นางสาวนฤมล ฉัตรสง่า นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจนและจริงจัง ที่จะขจัดปัญหานี้ให้หมดไปจากคนไทย ซึ่ง อย.ได้ระดมสรรพกำลังเพื่อสนองนโยบายในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 153 (พ.ศ.2537) เรื่องเกลือบริโภค ให้มีความครอบคลุม เข้มงวดขึ้น โดยกำหนดให้เกลือทุกชนิดทั้งที่บริโภคและที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารจะต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีน โดยให้มีปริมาณไอโอดีนที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และการผลิตต้องมีระบบประกันคุณภาพ ฉลากต้องมีข้อความว่า “เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน” เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตและผู้นำเข้าเกลือบริโภคต้องขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าและจดทะเบียนอาหาร

อย.ได้ประชุมหารือกับชมรม สมาคม และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร และได้ข้อสรุปว่า อุตสาหกรรมอาหารทุกชนิดที่ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมทั้งผลิตและนำเข้า โดยเฉพาะน้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว เครื่องปรุงรส อาหารกึ่งสำเร็จรูป และขนบกรุบกรอบ ต้องใช้เกลือเสริมไอโอดีนเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทั้งนี้ เมื่อออกกฎหมายรวมทั้งมาตรการดังกล่าว จะให้ความมั่นใจได้ว่าคนไทย 65 ล้านคนมีโอกาสได้รับสารไอโอดีนได้อย่างพอเพียง

ด้านนายสมโภชน์ ธนพิรุณพร ประธานชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน ภาคกลาง กล่าวเห็นด้วยกับมาตรการข้างต้น ที่มีการเรียกร้องให้มีกฏหมายบังคับให้มีการผสมไอโอดีนในเกลือ เพราะจะทำให้ผู้ผลิตเพิ่มมาตรฐานในการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้อยากเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในด้านต้นทุนและเครื่องมือในการผลิต และสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หากไม่ได้รับความช่วยเหลือก็อาจจะถูกรายใหญ่ที่มีทุนมากกว่าผูกขาดตลาดได้

นางสายสุรี จุติกุล อนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กตามมาตรฐานรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กล่าวในตอนท้ายว่า ทางคณะอนุกรรมการฯ จะมีการจัดทำรายงานสรุปการเสวนารายงานต่อนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพในการรณรงค์แก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เฝ้าติดตาม ประเมินผล และทบทวนผลการดำเนินงานเป็นระยะ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์

ชลธิชา อึงคนึงเดชา / ปาณิสรา ปาลาศ โทร. 0-2610-2380, 0-2610-2370

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๔๒ เฮลท์สเคป (Healthscape)' นำร่องส่ง 'MADE BY SILVER' ชวนสัมผัสผลิตภัณฑ์เพื่อไลฟ์สไตล์สำหรับกลุ่มซิลเวอร์เจน 20 พ.ค. - 2 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม
๑๔:๐๗ HENG เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 2 ชุด อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% และ 5.50% เปิดจองซื้อ 23-24 และ 27 พ.ค. 67 เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจ
๑๓:๑๕ กลุ่มบริษัทศรีตรัง ลุยติดตั้ง EV Charger ในโรงงานทั่วประเทศ สนับสนุนพนักงานใช้พลังงานสะอาด ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอกย้ำจุดยืน Green Rubber
๑๓:๒๔ Bitkub Chain และ The Sandbox ร่วมยกระดับวงการ Metaverse ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๑๓:๔๗ AJA โชว์แกร่ง!! งบโค้งแรกพลิกมีกำไรพุ่งเกือบ 452% ชูกลยุทธ์ปี 67 กระจายลงทุนในธุรกิจหลากหลาย-สร้างฐานการเติบโตยั่งยืน
๑๓:๕๙ KJL โชว์นวัตกรรมในงาน SUBCON Thailand 2024 เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า
๑๓:๐๑ ITEL อวดกำไร Q1/67 โต 113% กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท ล่าสุด ก.ล.ต. ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่ง บ.ย่อย BLUE เรียบร้อยแล้ว
๑๓:๒๓ โอยิกะ ผู้นำด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากสิงคโปร์ ชูนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งขยายธุรกิจตู้สลับแบตเตอรี่สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
๑๓:๔๗ ดื่มด่ำกับรสชาติของเนื้อโกเบจากโอซาก้า ที่ห้องอาหารฮากิ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
๑๓:๕๒ W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลก เปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษ ภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส