iTAP หนุน “พี.เอม.ฟูด”เพิ่มคุณภาพความปลอดภัย ผลิตภัณฑ์ปลาเส้นทาโร ได้ ISO22000:2005 สำเร็จ

จันทร์ ๒๗ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๕:๓๕
iTAP สนับสนุน บจก.พี.เอม.ฟูด เพิ่มคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ “ปลาเส้นทาโร” เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย เข้าเป็นที่ปรึกษา จนสามารถผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางอาหาร ISO 22000:2005 เพิ่มความมั่นใจต่อผู้บริโภค

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารมีการแข่งขันสูงทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร แม้แต่“ขนมขบเคี้ยว” ผู้ผลิตที่ดีย่อมมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ซึ่งระบบความปลอดภัยทางอาหาร หรือ ISO 22000:2005 เป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ บริษัท พี.เอม.ฟูด จำกัด ผู้ผลิตปลาเส้นตราทาโร ยังให้ความสำคัญและใส่ใจต่อความปลอดภัยทางอาหารดังกล่าว

นายสราวุธ จรจิต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เอม.ฟูด จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 เดิมเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยกับนักลงทุนชาวไต้หวัน มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 7 ล้านบาท ผลิตปลาเส้นเป็นรายแรกของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ทาโร ต่อมากลุ่มบริษัทพรีเมียร์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น 100% จึงได้ขยายกำลังการผลิตจากนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังมาอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี บนพื้นที่ 24 ไร่ในปี 2538 และได้ย้ายฐานการผลิตทั้งหมดมาอยู่ที่กบินทร์บุรีเพียงแห่งเดียวเมื่อเดือนตุลาคม 2543 โดยได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ในกิจการประเภทผลิตอาหารว่างสำเร็จรูป ด้วยทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาท

“ภายใต้วิสัยทัศน์ของบริษัทฯที่จะเป็นผู้นำด้านการผลิตขนมขบเคี้ยวที่อร่อยและมีคุณค่า บริษัทจึงมีความเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการผลิต มีการควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งเรื่องรสชาติ เนื้อสัมผัสจนถึงขนาดของเส้นปลา และบริษัทมีแนวคิดที่ต้องการผลิตขนมขบเคี้ยวที่มีประโยชน์และเพื่อสุขภาพ จึงจัดตั้งทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทาโรมีมากถึง 18 รสชาติ และยังคงพัฒนารสชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ”

จากกระบวนการจัดการที่เป็นเลิศและบุคลากรที่มีคุณภาพภายใต้หลักปฎิบัติ 4 ประการคือ 1.มีจิตสำนึกและตระหนักถึงคุณภาพ 2.คำนึงถึงประสิทธิภาพและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ 3.มีคุณธรรมและจรรยาบรรณ สุดท้ายคือการใส่ใจใฝ่รู้และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ บริษัทฯ ยังมีระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนี้ มาตรฐานการผลิตตามหลัก GMP ในปี 2542 และมาตรฐาน ระบบ HACCP ในปี 2543 จากกรมประมง

นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองระบบการบริหารจัดการ ISO 9001:2000 ในปี 2546 (ISO 9001 : 2008 ในปี 2553) และ ISO 14000:2004 เกี่ยวกับระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2549 ล่าสุด เมื่อต้นปี 2553 ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 22000:2005 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางอาหาร โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

นางจิตราภรณ์ โสวภาส ผู้จัดการแผนกประกันคุณภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่บริษัทได้รู้จักโครงการ iTAP เมื่อปี 2551 ประกอบกับบริษัทเองมีแนวคิดที่จะทำมาตรฐาน ISO 22000:2005อยู่แล้ว เมื่อเห็นว่า iTAP มีโครงการให้การสนับสนุนเรื่องดังกล่าว จึงสนใจเข้าร่วมใน “โครงการการให้คำปรึกษาจัดทำระบบความปลอดภัยทางอาหารตามระบบบริหารการจัดการด้านความปลอดภัยทางอาหาร ISO 22000:2005 ”

โดย iTAP ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FOSTAT) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและให้ทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการร้อยละ 50 โดยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำแนะนำการวางแผนปรับปรุงกระบวนการผลิต การจัดอบรมแก่บุคลากรเพื่อให้มีความรู้ในหลักปฏิบัติงานตามระบบบริหารการจัดการด้านความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่ามาตรฐานอื่นๆที่บริษัทจัดทำมาก่อนหน้านี้

“ โดยเน้นรายละเอียดแหล่งที่มาของวัตถุดิบต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่กระบวนการจับปลาในทะเล การนำมาทำซูริมิ จนถึงขั้นตอนกระบวนการผลิตปลาเส้นในโรงงาน และรายละเอียดของวัสดุที่นำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสินค้าของบริษัทว่ามีความปลอดภัยจริง ซึ่งรายละเอียดแตกต่างจากมาตรฐาน HACCP ที่เน้นเฉพาะกระบวนการผลิตภายในโรงงานว่ามีความปลอดภัยหรือไม่เท่านั้น นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังได้แนะนำวิธีการจัดทำระบบเอกสารให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนในการจัดทำรายงานของแต่ละระบบที่เดิมต้องแยกกันทำ”

ด้านนายวิภาส จิรภาส ผู้จัดการฝ่ายผลิต ยอมรับว่า “ การได้ผู้เชี่ยวชาญจากการสนับสนุนของ iTAP ทำให้บริษัทได้รับการรับรอง ISO 22000:2005 อย่างที่ตั้งใจ ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการผลิตของบริษัท และยังเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย ลูกค้าและผู้บริโภคมั่นใจในผลิตภัณฑ์ทาโรมากยิ่งขึ้น ”

ทั้งนี้ นอกจากการจัดทำระบบดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ยังได้ต่อยอดการจัดทำระบบ TPM และระบบวางแผนและควบคุมการผลิตโดยใช้ซอฟต์แวร์ MRP โดยขอรับการสนับสนุนจาก iTAP ต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มดำเนินโครงการ

บริษัท พี.เอม.ฟูด จำกัด มีพนักงานกว่า 600 คน มีกำลังการผลิต 250 ตันต่อเดือนในกรณีที่เดินเครื่อง 24 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันมีการผลิตอยู่ที่ 220 ตันต่อเดือน โดยใช้เครื่องจักรผลิตปลาเส้นที่นำเข้าจากญี่ปุ่น สำหรับขั้นตอนการผลิตปลาเส้นทาโร เริ่มจากการนำซูริมิ มาผสมกับส่วนผสมอื่นๆ จากนั้นทำการรีดให้เป็นแผ่นเรียบ ปรุงรสชาติ แล้วนำมาย่าง จากนั้นจึงนำไปเข้าเครื่องตัดเป็นเส้น และรอบรรจุถุงต่อไป

ผลิตภัณฑ์ปลาเส้นทาโรมีส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศเป็นอันดับ 1 มากกว่า 70% โดยมีผลประกอบการประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี และมีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มอียู อาทิ เนเธอแลนด์ เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย รวมทั้งไต้หวันและฮ่องกง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP

โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 115,114

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘:๕๑ อายุน้อยก็เสี่ยงนะ! สังเกตสัญญาณโรคหลอดเลือดสมองในหนุ่ม-สาว Stoke in the young
๐๘:๒๕ เกิร์ลกรุ๊ปสาว DE GIFT' (เดอ กิฟท์) ปังเกินเบอร์!!!! เตรียมปล่อยของโชว์ Performance เวที Dalat Best Dance Crew 2024
๐๘:๓๘ ทรีตเมนต์ยกกระชับผิวหน้า
๐๘:๒๑ โค้งสุดท้ายหลักสูตรดับทุกข์ผู้บริหารรุ่นแรก เผยชุด 2 มีบิ๊กเนมสนใจเพียบทั้งอดีต รมต.และ สว.
๐๘:๐๙ DEK SPU โชว์สกิล! คว้ารางวัล SPU TikTok Challenge 2024
๐๘:๑๔ แพ็กเกจห้องประชุม สัมมนาใจกลางกรุงเทพฯ ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ จี
๐๘:๔๖ มารู้จักอาจารย์ของแพทย์ คุณหมอหนุ่ม - อาจารย์นายแพทย์ รัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์
๐๘:๒๖ ร่วมวางพวงมาลาวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๐๘:๓๕ กทม. ประสาน กฟน. เร่งแก้ไขฝาบ่อพักท่อชำรุดเชิงสะพานข้ามแยกเสนานิคม
๐๘:๓๒ ก.แรงงานหนุนจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 67 พร้อมเปิดพื้นที่รับฟังข้อเรียกร้อง ย้ำแรงงานเป็นกำลังผลักดันเศรษฐกิจสังคมไทย