ไคโรแพรคติก ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูโครงสร้างกับข้อข้องใจในการรักษา

อังคาร ๐๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๐ ๑๕:๒๒
หลายคนอาจเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับการรักษาด้วย ศาสตร์การแพทย์ทางเลือก “ไคโรแพรคติก” ทั้งที่ศาสตร์ไคโรแพรคติกไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ผู้บริโภคอดเป็นห่วงไม่ได้เกี่ยวกับการรักษาด้วยศาสตร์นี้ เช่น รูปแบบการรักษา ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนความปลอดภัยที่ผู้บริโภค จะได้รับจากการรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติก

ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ โฆษกสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย (Thailand Chiropractic Association : TCA) เปิดเผยถึงการรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติกว่า “ไคโรแพรคติก เป็นศาสตร์ทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานาน สำหรับ ในประเทศไทยนั้นไคโรแพรคติกถือว่าเป็นศาสตร์ทางการแพทย์แขนงใหม่ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มี การจัดการการเรียนการสอนแพทย์ศาสตร์นี้มาก่อน ทั้งที่จริงแล้วศาสตร์ไคโรแพรคติกเข้ามาในประเทศไทยราวๆ 10 — 15 ปีก่อน โดยเริ่มจากไคโรแพรคเตอร์ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทย จนขณะนี้ จากการผลักดันของกลุ่มแพทย์ไคโรแพรคเตอร์ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขออกใบรับรอง ใบประกอบโรคศิลปะแก่ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกไคโรแพรคติก แต่เป็นการออกชั่วคราว ไม่ได้ออกเป็น พระราชกฤษฎีการับรอง ตอนนี้ทั่วประเทศเรามีแพทย์ด้านไคโรแพรคติกที่ได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายราวๆ 30 คน แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้แพทย์สาขาทางเลือกไคโรแพรคเตอร์มีใบอนุญาตและประกอบอาชีพนี้ได้ตามกฎหมายของประเทศไทย จึงถึอเป็นก้าวเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของแพทย์ทางเลือกแขนงนี้”

ไคโรแพรคติกคืออะไร ?

ไคโรแพรคติก เป็นศาสตร์ที่คำนึงถึงความสมดุลของกระดูกสันหลังโดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและระบบของร่างกายที่เชื่อมโยงกัน ไปจนถึงการรักษาฟื้นฟูโครงสร้างที่นำไปสู่สุขภาพที่ดีโดยรวม ตามแนวคิดพื้นฐานที่เชื่อว่าลักษณะโครงสร้างกระดูกสันหลัง หรือการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังนั้นมีผลกระทบต่อระบบการทำงานและความสมดุลในส่วนต่างๆ ของร่างกายหรืออาจพูดง่ายๆว่าหากโครงสร้างร่างกายมีภาวะสมดุล ระบบต่างๆในร่างกายก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสุขภาพร่างกายของเราก็จะอยู่ในสภาพที่ดี

แพทย์ด้านไคโรแพรคติก หรือที่เรียกกันว่า ไคโรแพรคเตอร์ จึงให้ความสำคัญกับกระดูกสันหลังมากเป็นพิเศษ เพราะกระดูกสันหลังนั้นเปรียบเสมือนเกราะป้องกันระบบประสาทที่อยู่ภายใน อีกทั้งยังเป็นแกนกลางในการสร้างสมดุลการเคลื่อนไหวอีกด้วย หากโครงสร้างของกระดูกสันหลังมีความผิดปกติเกิดขึ้น การสั่งงานต่างๆของระบบสมดุลยภาพ จะไม่สมบูรณ์ และสามารถก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมาได้

สำหรับแนวทางการรักษานั้น ไคโรแพรคเตอร์จะนำเทคนิคการจัดกระดูก (Manipulation) และการฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่มีปัญหามาใช้ในการปรับโครงสร้างด้วยวิธีจับ ดัด ปรับ เพื่อทำให้การเรียงตัวของกระดูกสันหลังและข้อต่อต่างๆ กลับมาสมดุลโดยไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการรักษาที่ต้นเหตุ มีความปลอดภัย และสามารถเชื่อถือได้ตามที่ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

นอกจากนี้ ไคโรแพรคเตอร์ ได้นำเอาเทคนิคอันหลากหลายเข้ามาใช้ในการตรวจและรักษาอาการผิดปกติของกระดูกสันหลัง และพัฒนาศักยภาพของร่างกายโดยรวม ซึ่งนอกจากวิธีการจัดกระดูกแล้วยังมีการใช้วิธีการพัฒนาในส่วนของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ เช่น การทำกายภาพบำบัด การนวดเพื่อบำบัด การออกกำลังกายเพื่อการบำบัด และการออกแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลด้วย ตลอดจนช่วยฟื้นฟูกลไกการทำงานของร่างกายให้กลับสู่สภาวะปกติ

อาการที่เหมาะกับการรักษาด้วยไคโรแพรคติก

ไคโรแพรคติกเป็นการบำบัดโครงสร้างที่ผิดปกติ (Postural Disorder) หรือเสียสมดุลของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (Muscuroskelotal) โดยจะเน้นเรื่องของกระดูกสันหลังเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดชาตามแขนและข้อต่างๆ ฯลฯ และสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหว เช่น นั่งผิด เดินผิด ยกของผิดท่า ฯลฯ ก็จะเกิดการสะสมของอาการ ดังนั้นการปรึกษาไคโรแพรคเตอร์จะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินไป เนื่องจากไคโรแพรคเตอร์จะดูแลและปรับให้โครงสร้างร่างกายกลับสู่ความสมดุลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อโครงสร้างร่างกายกลับมาสมดุลการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็จะกลับมาดีขึ้น

ภายหลังจากการบำบัดรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติก อาจสังเกตได้ว่าอาการของโรคต่างๆนั้น ดีขึ้นมาก แต่วิธีนี้ยังไม่ใช่การรักษาโรคต่างๆ โดยตรง เพราะเป็นเพียงผลพลอยได้จากภาวะร่างกายที่สมดุลขึ้น (Homeostasis) หลังจากที่ผ่านกระบวนการรักษาของไคโรแพรคติกเท่านั้น ดังนั้น จึงควรระวังคำโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงและคำกล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง

มาตรฐานและความปลอดภัย

จากการวิจัยทั้งในระดับสากลขององค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขของไทย พบว่าการบำบัดด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติกมีความปลอดภัยสูงและเชื่อถือได้ เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์มานาน แต่ต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไคโรแพรคติกจริงๆ เท่านั้น เพราะเทคนิคการปรับกระดูกจะสามารถรักษาผู้ป่วยได้จริงก็ต่อเมื่อแพทย์มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากผู้ทำการรักษาไม่มีความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางอย่างเพียงพอ ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยพิการได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยในต่างประเทศที่รับรองถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติก อาทิ

ผลงานวิจัย : การปวดขั้นรุนแรงและเรื้อรัง

คนไข้ที่ปวดหลังช่วงล่างแบบเรื้อรัง เมื่อได้รับการบำบัดโดยไคโรแพรดเตอร์ ภายในระยะเวลา 1 เดือนจะมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับและได้รับความพึงพอใจมากกว่าคนไข้ที่รักษากับแพทย์ที่ไม่ใช่ ไคโรแพรคเตอร์ 56% ของคนไข้ที่บำบัดด้วยไคโรแพรคติก กล่าวว่าอาการปวดหลังช่วงล่างดีขึ้นมาก ในขณะที่ 33% ของคนไข้ที่รักษาด้วยวิธีอื่น กล่าวว่าอาการปวดหลังช่วงล่างแย่ลงหรือเป็นหนักกว่าเดิมหลังบำบัด (Nyiendo et al (2000), Journal of Manipulative and Physiological Therapeutics)

คนไข้ 183 คนที่มีอาการปวดคอ (จากการสุ่มตัวอย่างและติดตามผล) ได้ถูกจัดให้รักษาแบบต่างๆ ได้แก่ การนวดด้วยมือ (เน้นที่กระดูกสันหลัง), กายภาพบำบัด (เน้น การออกกำลังกาย), และ การรักษาแบบทั่วไป (ปรึกษา ให้ความรู้ และใช้ยารักษา) การรักษาทั้ง 3 แบบใช้เวลา 52 สัปดาห์ และจากการเฝ้าดูอาการพบว่า การบำบัดแบบนวดด้วยมือทำให้คนไข้มีอาการดีขึ้นเร็วกว่าการทำกายภาพและการรักษาแบบทั่วไป และยิ่งไปกว่านั้นคือ การบำบัดแบบนวดด้วยมือเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพียง 1 ใน 3 เมื่อเปรียบเทียบกับ การทำกายภาพและการรักษาแบบทั่วไป (Korthals-de Bos et al (2003), British Medical Journal)

ผลงานวิจัยเกี่ยวกับ : การเปรียบเทียบกับการบำบัดรักษาด้วยวิธีอื่น

ผู้ป่วยขั้นรุนแรงและเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดด้วยไคโรแพรคติค เปิดเผยว่าอาการเจ็บปวดและความผิดปกติต่างๆทุเลาลงและรู้สึกพึงพอใจมาก (Haas et al (2005), Journal of Manipulative and Physiological Therapeutics)

จากเอกสารอ้างอิง ซึ่งได้เปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษา 3 แบบ การนวดด้วยมือ กายภาพบำบัด และการรักษาแบบทั่วไป กับคนไข้ที่มีอาการปวดคอ หลังการบำบัดผ่านไป 7 สัปดาห์พบว่าอัตราความพึงพอใจของคนไข้ที่ได้รับการบำบัดแบบการนวดด้วยมือเป็น 2 เท่าของการรักษาแบบทั่วไป ในขณะที่ การนวดด้วยมือก็ได้คะแนนดีกว่ากายภาพบำบัดในทุกด้านเช่นกัน นอกจากนี้คนไข้ที่ได้รับการบำบัดแบบการนวดด้วยมือจะเข้ารับการบำบัดสม่ำเสมอกว่าคนไข้ที่รักษาแบบกายภาพบำบัด และการรักษาแบบทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า คนไข้ที่ได้รับการบำบัดแบบการนวดด้วยมือและกายภาพบำบัดจะใช้ยาบรรเทาปวดน้อยกว่าคนไข้ที่รักษาแบบทั่วไป (Hoving et al (2002), Annals of Internal Medicine)

ผลงานวิจัย : อาการปวดศีรษะ

การจัดกระดูกคอช่วยลดอาการปวดศีรษะลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลการวิจัยนี้เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอาการปวดคอ กระดูกคอเสื่อมและอาการปวดศีรษะ (Duke Evidence Report, McCroy, Penzlen, Hasselblad, Gray (2001)

รายงานการวิจัยแสดงว่าการบำบัดด้วยจัดกระดูกสันหลังส่งผลให้อาการปวดศีรษะลดลง หลังจากนั้น 4 สัปดาห์ คนไข้ที่ได้รับการการบำบัดด้วยจัดกระดูกสันหลังอย่างต่อเนื่อง มีอาการดีขึ้นกว่าคนไข้ที่รักษาโดยให้ยาแก้ปวดหรือยาลดความเครียด ซึ่งคนไข้ประเภทหลังนี้บางรายกลับไปสู่อาการปวดศีรษะตอนเริ่มต้นรักษา (Journal of Manipulative and Physiological Therapeutics, Boline et al (1995)

นอกจากนี้ ดร.มนต์ทณัฐ โฆษกสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกฯ ยังแสดงความเป็นห่วงต่อผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการแพทย์ทางเลือกอย่างไคโรแพรคติกว่า “เมื่อผู้บริโภคได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติกอย่างชัดเจนแล้ว สิ่งสำคัญอยู่ที่การเลือกผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ด้านไคโรแพรคติกที่ได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายราวๆ 30 คน แต่เมื่อตัวเลขของผู้ให้บริการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายมีไม่มาก ปัญหาที่ตามมาคือ การรักษา โดยไคโรแพรคเตอร์เถื่อนซึ่งไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถแยกออกเป็น 3 ประเภทคือ ประเภทที่ 1 ชาวต่างประเทศหรือคนไทยที่จบการศึกษาแขนงไคโรแพรคติกมาจากต่างประเทศไทยได้ใบประกอบโรคศิลปะจากต่างประเทศ แต่ประกอบอาชีพไคโรแพรคเตอร์ในเมืองไทยแบบไม่มี ใบประกอบโรคศิลปะ ด้วยปัญหาของแพทย์ต่างประเทศที่เรากำหนดให้อยู่เมืองไทย 3 ปีก่อนจึงมีสิทธิ์สอบใบประกอบโรคศิลปะ เพราะเราเชื่อว่าการสื่อสารที่ถูกต้องกับคนไข้เป็นสิ่งสำคัญ ประเภทที่ 2 ผู้ที่อ้างว่า จัดกระดูกด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติกแต่ความจริงไม่มีความรู้ในศาสตร์นี้ แต่อาจมีความรู้ในศาสตร์อื่น เช่น กายภาพบำบัด ซึ่งหลักการจัดกระดูกมีหลายแบบตามศาสตร์การแพทย์ทางเลือก อย่างของไทยมีการนวดแผนไทย กายภาพเองก็มีศาสตร์การจัดกระดูกแบบกายภาพ แต่ปัญหาที่พบคือ โฆษณาว่าจัดกระดูกแบบไคโรแพรคติกแต่ในทางการรักษาไม่ใช่ แบบนี้ไม่ถูกต้อง และประเภทที่ 3 แอบอ้างว่ามีความสามารถในการจัดกระดูกแบบไคโรแพรคติก อาศัยจากที่เคยเห็นแล้วนำไปทดลองทำ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”

โฆษกสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกฯ ได้ฝากทิ้งท้ายว่า “เพื่อความปลอดภัยและผลประโยชน์ของคนไข้ หากจะเลือกใช้บริการการแพทย์ทางเลือกไคโรแพรคติก ต้องศึกษาว่าแพทย์จบมาจากที่ใด มีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ไคโรแพรคติกมากน้อยเพียงใดและได้รับใบประกอบโรคศิลปะในประเทศไทย ซึ่งออกโดยกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ ซึ่งตามสถานประกอบการต้องแสดงข้อมูลให้ผู้ใช้บริการได้ทราบเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคเอง”

ทางที่ดี ผู้บริโภค ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลการรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติก ไม่เช่นนั้น “คุณ” ก็อาจตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้ และอาจพลาดพลั้งตกหลุมพรางไปรักษากับ ไคโรแพรคเตอร์เถื่อนได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

โทร 0 2682 9880

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง