ศ.ศ.ป. เผยโฉม 4 ดีไซเนอร์เลือดใหม่ ออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติร่วมสมัยชุดลำลอง และ ชุดทำงาน ทั้งชายและหญิง

จันทร์ ๒๗ ธันวาคม ๒๐๑๐ ๑๑:๒๒
ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ 100 ชีวิต ร่วมประชันไอเดียให้ออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติ ในการประกวด “ออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติร่วมสมัย” รอบตัดสิน ภายใต้แนวคิด สะท้อนความเป็นไทยร่วมสมัยนิยม สวมใส่ได้สบายในชีวิตประจำวัน จัดโดย นายกุญญพันธ์ แรงขำ ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย สุรภีร์ โรจนวงศ์ ประธานสภาหัตถกรรมโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เป็นประธานกรรมการตัดสินการประกวดฯ ร่วมด้วยกรรมการทรงคุณวุฒิอีกกว่า 20 ท่าน อาทิ มล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก, ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานคณะกรรมการ นักธุรกิจสตรีหอการค้าไทย, เอกกมล อรรถกมล แฟชั่นสไตลิสชื่อดัง และ กฤษณราช จินดาวงศ์ นักวิจารณ์แฟชั่น จนได้ 4 ผู้ชนะเลิศของการประกวดในแต่ละประเภท ได้แก่ ชุดลำลองสำหรับสุภาพสตรี โดย มณีรัตน์ นพศรี, ชุดลำลองสำหรับสุภาพบุรุษ โดย เกรียงศักดิ์ ลือเกียรติอนันต์, ชุดทำงานสำหรับสุภาพสตรี โดย อภิรักษ์ ทองปิยะภูมิ และ ชุดทำงานสำหรับสุภาพบุรุษ โดย ภาณุพงษ์ อินทะมน ซึ่งได้ประกาศผลไปแล้วเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา ณ สตูดิโอ 1 อสมท พระราม 9

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “การประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติไทยร่วมสมัย เกิดขึ้นจากการที่ได้มอบนโยบายขับเคลื่อนธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรมของไทย ผ่านการดำเนินงานของ ศ.ศ.ป. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการส่งเสริมผ้าไทย ซึ่งเป็นฝีมือและภูมิปัญญาของคนไทย ให้มีมูลค่าเพิ่ม ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์” ให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้านศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อผลักดันให้สามารถแข่งขันในระดับนานาประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการปลุกกระแสความเป็นชาตินิยม สะท้อนเอกลักษณ์ประจำชาติผ่านเครื่องแต่งกาย และยังปลุกจิตสำนึกค่านิยมให้แก่คนรุ่นใหม่ ให้หันมานิยมแต่งกายด้วยชุดประจำชาติที่มีความร่วมสมัย ซึ่งเครื่องแต่งกายเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องมีการยกระดับ เพราะจะสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ และนับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นไทยที่จะออกสู่ตลาดโลก”

บรรยากาศภายในงานเริ่มขึ้นด้วยแฟชั่นโชว์ถึง 100 ชุดที่เข้าสู่รอบสุดท้าย จากที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้นกว่า 600 ผลงานภาพสเกตช์ เริ่มด้วยชุดลำลองสำหรับสุภาพสตรี 25 ชุด และ สุภาพบุรุษ อีก 25 ชุด จากนั้นตามมาด้วยชุดทำงานสำหรับสุภาพสตรี 25 ชุด และ สุภาพบุรุษ 25 ชุดเช่นกัน จนกระทั่งคัดเลือกเหลือเพียง 10 ชุดในแต่ละประเภท ซึ่งผลปรากฏว่า ผู้ชนะเลิศประเภทชุดลำลองสำหรับสุภาพสตรี ได้แก่ มณีรัตน์ นพศรี นักศึกษาปี 1 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขางานออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี เจ้าของผลงาน “ตีนจก” เผยว่า “ชุดนี้เป็นการนำผ้าฝ้าย กับผ้าลายตีนจกมาผสมกัน ส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบชุดแซก เพราะสามารถใส่ได้ง่าย ใส่ได้ทุกวัน และเป็นการนำสีมาเบรกกัน ระหว่างสีดำ และสีแดง ทำให้เกิดความลงตัวของสี ที่สามารถไปด้วยกันได้ สำหรับผ้าตีนจกผ้าของแถบอีสานเป็นภูมิปัญญาของ คนไทย โดยเลือกนำมาใช้บริเวณของชายกระโปรง คอ และแขนเสื้อ เป็นการเพิ่มลูกเล่นให้กับชุด เน้นการโชว์ลายผ้าตีนจก และการต่อเชิงผ้าลายจก อยากเห็นคนไทยใส่ชุดนี้ ซึ่งชุดนี้สามารถ ใส่ได้จริง ทุกคน ทุกวัยก็ใส่ได้

สามารถใส่ได้ทุกโอกาส เวลาไปทำงานก็อาจจะหาเสื้อมาใส่ทับ พอตอนเย็นก็สามารถถอดเสื้อออกเหลือแค่ชุดแซก และเพิ่มเติมด้วยเครื่องประดับ เพื่อไปงานปาร์ตี้ก็ได้เหมือนกัน นอกจากนี้แล้วยังอยากให้คนต่างชาติที่เขาเห็นคนไทยใส่ชุดนี้ เห็นลายของผ้าตีนจกแล้วรู้เลยว่า ชุดนี้เป็นชุดของไทย เป็นชุดของคนไทย เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย” ในขณะที่ ผู้ชนะเลิศประเภทชุดลำลองสำหรับผู้ชาย ได้แก่ เกรียงศักดิ์ ลือเกียรติอนันต์ กับผลงาน “รัตนโกสินทร์” แม้จะจบจากคณะมัฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่มีใจรักการออกแบบดีไซน์ จนมีร้านเสื้อถึง 3 ที่สยามสแควร์, วังหลัง และสวนจตุจักร เผยว่า “อยากหาประสบการณ์จากการเวทีการประกวดออกแบบดีไซน์ ซึ่งเวทีนี้เป็นอีกหนึ่งเวทีที่มีความท้าทาย เพราะต้องออกแบบชุดแต่งกายประจำชาติร่วมสมัย ซึ่งต้องสะท้อนความเป็นไทย ดังนั้นชุดที่ได้รางวัลในครั้งนี้ ได้แรงบันดาลใจมากจากเมืองหลวงของเรา กรุงเทพมหานคร และเมื่อนึกถึงประเทศไทย นึกถึงกรุงเทพฯ จะต้องนึกถึงวัดพระแก้ว ซึ่งวัดพระแก้วนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งบอกเล่าความเป็นชาติไทยได้อย่างชัดเจน จึงได้นำภาพวัดพระแก้วมาพริ้นต์สกรีน ลงบนชายเสื้อด้านหลังที่ตัดเย็บจากผ้าฝ้าย ในขณะที่ด้านหน้าตัวเสื้อ และบริเวณช่วงไหล่ด้านหลังจะตีเกร็ดผ้าให้เป็นริ้วลาย ส่วนตัวกางเกงจะเป็นการปรับเปลี่ยนโดยมีพื้นฐานมาจากโจงกระเบน โดยยังคงเลือกใช้ผ้าฝ้ายในการตัดเย็บเช่นกัน มาสร้างแพทเทิร์นใหม่ให้มีความทันสมัย ความเท่ พร้อมตกแต่งติดกระดุม ซึ่งคิดว่าหลายๆ คนน่าจะชอบชุดของผมที่ออกแบบ ถ้ามีโอกาสก็อยากให้เด็กไทย คนรุ่นใหม่ หันมาแต่งกายให้มีความเป็นไทย หรือมีกลิ่นอายที่สะท้อนความเป็นไทย ส่งเสริมการใช้ผ้าไทย เราจะได้ภาคภูมิใจในความเป็นไทยของเราครับ”

ทางด้านการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติร่วมสมัย ประเภทชุดทำงานสำหรับสุภาพสตรี ผู้ชนะคือ นักศึกษาปี 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร อภิรักษ์ ทองปิยะภูมิ เจ้าของผลงาน “Abiding Faith ศรัทธาที่ไม่เสื่อมคลาย” เผยว่า “จะเห็นได้ว่าชุดที่ออกแบบนั้นตัวเสื้อจะสะท้อนความเป็นไทย คือ สไบนาง ที่ได้ออกแบบตัดเย็บอยู่บนตัวเสื้อ โดยพริ้นต์สกรีนเป็นลายช้าง ซึ่งลวดลายจะคล้ายภาพประติมากรรมฝาผนังตามวัด ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปินไทยท่านหนึ่ง ซึ่งจะวาดภาพแนวคอนเทมโพรารี่ อาร์ต ในเชิงพุทธศิลป์ จึงได้นำแรงบันดาลใจนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของออกแบบตัดเย็บชุดในครั้งนี้ โดยทั้งชุดจะเลือกใช้ผ้าไหมสีเทาเงิน โดยคาดหวังว่าหากตัดเย็บขึ้นมาจริง ผู้สวมใส่จะต้องสวมใส่ได้ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นสาววัยทำงาน จนกระทั่งสูงอายุ จึงออกแบบมาให้ชุดมีความเป็นโมเดิร์น แต่เรียบง่าย” และ ผู้คว้ารางวัลการแต่งกายประจำชาติร่วมสมัย ประเภทชุดทำงานสุภาพบุรุษ ภาณุพงษ์ อินทะมน นักศึกษาปี 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร กับชุดผลงาน “ศิลป์สยาม” กล่าวว่า “แรงบันดาลใจในการตัดชุดทำงานสุภาพบุรุษ ในรูปแบบของชุดสูท บของสูท เป็นการเป็นการย้อนกลับสู่ศิลปะของไทย เส้นสายลายไทย โดยนำโครงชุดราชประแตนผสมกับผ้าลายนกคาบ และใช้ลูกเล่นของโจงกระเบนบริเวณข้างตัวเสื้อ และขอบกางเกง โดยอิงมาจากการแต่งกายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการผสมผสานให้เกิดความทันสมัยใส่ง่าย และใส่ได้จริงในปัจจุบัน เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองไทย เป็นการนำความเป็นไทยก้าวสู่สากล สร้างภูมิใจในความเป็นไทยให้กับคนไทย และอยากเห็นคนไทยได้ใส่ชุดนี้เป็นชุดประจำชาติ”

ผู้ชนะเลิศทั้ง 4 ประเภทของการประกวด ได้รับรางวัลเป็นเงินสด 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ ชุดที่ชนะเลิศในแต่ละประเภท จะนำไปผลิตในโอกาสต่อไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นชาตินิยม

หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด

โทร.0-2434-8300 สุจินดา, แสงนภา, ภัควลัญชญ์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๐ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ตอกย้ำปณิธาน สร้างชีวิต มอบเครื่องเล่นสนาม อุปกรณ์ครุภัณฑ์ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กนักเรียนในส่วนภูมิภาค ณ โรงเรียนวัดนาร่อง อ.เมือง
๑๖:๑๔ เฮงลิสซิ่ง จับมือ วิริยะประกันภัย เสนอ ประกันภัยอุ่นใจ ทางเลือกใหม่สำหรับประกันภัยคุ้มครองบ้าน
๑๖:๕๘ ม.วลัยลักษณ์-สมาคมกีฬาตะกร้ออาวุโส-สมาคมกีฬา จ.นครศรีฯ เอ็มโอยูเตรียมระเบิดศึกตะกร้อเยาวชนฮอนด้า ยูเนี่ยน
๑๖:๓๕ หลักสูตรการประยุกต์ใช้ NODE-RED ในงานอุตสาหกรรม เชื่อมต่อ CLOUD PLATFORM NEXIIOT
๑๖:๓๘ ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลระดับโลก 3G Award 2024
๑๖:๓๖ YouTrip เปิดอินไซต์ช่วงหยุดยาวคนไทยแห่เที่ยว ญี่ปุ่น-จีน ยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 150%
๑๖:๕๗ คณะการท่องเที่ยวฯ DPU ให้ความสำคัญต่องานบริการ จัด HT Makeup Competition 2024 เพิ่มทักษะแต่งหน้าให้กับ นศ.
๑๖:๔๒ กิจกรรมดี ๆ สำหรับเยาวชนหญิงที่หลงใหลศิลปะการทำอาหาร ในโครงการ Women for Women (WFM) Internship Program ร่วมฝึกงานในร้านอาหารโพทง
๑๕:๒๒ ผู้ถือหุ้น CIVIL โหวตอนุมัติ จ่ายปันผล 0.012 บาท/หุ้น ทิศทางธุรกิจปี 67 เติบโตต่อเนื่อง
๑๕:๐๖ PRM จัดประชุม E-AGM ปี 67 อนุมัติจ่ายปันผล 0.26บ./หุ้น