กรมควบคุมโรค ตั้งเป้า!! ปี 2558ลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่พิการให้น้อยลงครึ่งหนึ่งของปี 2553

อังคาร ๒๕ มกราคม ๒๐๑๑ ๑๗:๓๓
ระบุ!!โรคเรื้อนยังเป็นภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม้อัตราผู้ป่วยรายใหม่จะลดลงแต่ความพิการยังเป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องเร่งแก้ไข มอบสถาบันราชประชาสมาสัยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และภาคท้องถิ่นขับเคลื่อนการทำงานผ่านนโยบายอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็ง ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่พิการในปี 2558 ให้น้อยลงเหลือครึ่งหนึ่งของปี 2553

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโรคเรื้อนของประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคเรื้อนในทะเบียนรักษาทั่วประเทศ จำนวน 671 คน ความชุกของโรค คิดเป็น 0.11 คนต่อ 10,000 ประชากร ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2552 — 31 ธันวาคม 2552 มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ที่ค้นพบ รวม 358 คน คิดเป็น 0.56 ต่อ 100,000 ประชากร กระจายอยู่ในภาคต่างๆของประเทศ แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 164 ราย , ภาคใต้ 80 ราย , ภาคเหนือ 70 ราย และภาคกลาง 44 ราย จำแนกเป็นประเภทเชื้อมาก (MB) จำนวน 257 ราย หรือร้อยละ 71.79 , ประเภทเชื้อน้อย (PB) จำนวน 101 ราย หรือร้อยละ 28.21 เป็นเพศชาย 237 ราย และเพศหญิง 121 ราย

ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีความพิการระดับ 2 คือผู้ป่วยที่สามารถมองเห็นความพิการของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งได้ เช่น ตาหลับไม่สนิทหรือม่านตาอักเสบหรือกระจกตาเป็นฝ้าขุ่นสายตามัวมาก (นับนิ้วมือไม่ถูกที่ระยะ 6 เมตร หรือวัดสายตา ได้น้อยกว่า 6/60) , มือมีรูปร่างผิดปกติหรือมีแผลหรือนิ้วงอ ข้อติดแข็ง หรือข้อมือตก ,เท้ารูปร่างผิดปกติ หรือมีแผลหรือนิ้วงอ ข้อติดแข็ง หรือข้อเท้าตก รวมจำนวน 52 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.53 และเป็นผู้ป่วยเด็กที่พิการอายุต่ำกว่า15 ปี จำนวน 9 ราย หรือร้อยละ 2.51ถึงแม้ปัจจุบันจะมีอัตราผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่ลดลงก็ตาม แต่ความพิการก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วย โรคเรื้อน ที่ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและจิตใจ เพราะได้รับการรังเกียจจากสังคมจนไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ตามปกติ ความพิการในผู้ป่วยโรคเรื้อนจึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อไม่ให้มีจำนวนผู้ป่วยที่มีความพิการเพิ่มขึ้น กรมควบคุมโรค โดยสถาบันราชประชาสมาสัยจึงได้รณรงค์ให้มีการค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครบตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อช่วยลดความพิการ เช่น เชื้อน้อยรักษา 6 เดือน เชื้อมากรักษา 2 ปี โดยตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2558 จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่พิการลงให้ได้ร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยในปี 2553

ด้าน นพ.รัชต์ วงศ์ตรังคพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชประชาสมาสัย กล่าวว่า การค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่เป็นสิ่งที่ยังต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองนโยบายหลักของกรมควบคุมโรคที่ต้องเร่งผลักดันงานด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพสู่ภาคท้องถิ่น ตามยุทธศาสตร์ “อำเภอเข้มแข็งด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคแบบยั่งยืน”โดยสถาบันราชประชาสมาสัยได้บูรณาการการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแกนนำชุมชนในพื้นที่เพื่อค้นหาและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเรื้อนในเขตอำเภอที่มีปัญหาความชุกของโรค ที่มีค่าเฉลี่ยผู้ป่วยรายใหม่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ปี 2552 มีจำนวน 8 อำเภอใน 5 จังหวัด)และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างยุ่งยากในการดำเนินการป้องกันควบคุมโรค เนื่องจากปัญหาด้านภาษาในการสื่อสาร การเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างไทย-มาเลเซีย และมีอาณาเขตติดแม่น้ำและทะเลทำให้การควบคุมโรค เป็นไปได้ยาก จึงจำเป็นต้องให้การศึกษาแก่ผู้นำศาสนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและครูในพื้นที่ให้มีความรู้ด้านโรคเรื้อนและแนวท

างการตรวจวินิจฉัยเพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้สถาบันฯได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตพื้นที่ 12 บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อเข้าไปยังพื้นที่ของอำเภอต่างๆในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหา ทั้งนี้คาดว่าภายในปี 2558 จะสามารถขจัดปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อนในพื้นที่เหล่านี้ได้สำเร็จ

นพ.รัชต์ กล่าวต่อว่า ยังมีกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ กลุ่มแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีสุขภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของคนไทยและเป็นกลุ่มที่มีโอกาสนำเชื้อเข้ามาแพร่กระจายในประเทศไทยได้ รวมทั้งกลุ่มชาวไทยภูเขาซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีความลำบากในการเดินทางผู้ป่วยต้องอยู่ประจำแต่ในพื้นที่โอกาสเข้าถึงการรักษาหรือการค้นหาผู้ป่วยจึงทำได้ยาก

สำหรับประชาชนที่สงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดอาจป่วยเป็นโรคเรื้อนสามารถสังเกตได้เช่น มีวงด่าง ขาว ชา หยิกไม่เจ็บ หรือมีผื่นแดงเป็นปื้นหนา ไม่คัน หรือมีความพิการของนิ้วมือ-นิ้วเท้า นิ้วหงิกงอ ชา ข้อมือหรือข้อเท้าตก เป็นแผลที่ฝ่าเท้า ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยเร็ว ที่สำคัญขอให้ตระหนักว่าโรคเรื้อนไม่ใช่โรคที่ติดต่อกันได้ง่ายต้องอาศัยระยะเวลาฟักตัว บางรายอาจนานเป็น 10 ปี โดยเฉลี่ยแล้วโรคเรื้อนจะมีระยะฟักตัว 3-5 ปีจึงจะปรากฏอาการของโรคและการแพร่เชื้อจะเกิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อนประเภทเชื้อมากที่ยังไม่ได้รับการรักษา ถ้าสามารถค้นพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เร็วก็จะรักษาได้ทันเวลาและช่วยลดความเสี่ยงต่อความพิการได้อย่างถาวร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025822965 กรมควบคุมโรค

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๑ พ.ค. เฮลท์สเคป (Healthscape)' นำร่องส่ง 'MADE BY SILVER' ชวนสัมผัสผลิตภัณฑ์เพื่อไลฟ์สไตล์สำหรับกลุ่มซิลเวอร์เจน 20 พ.ค. - 2 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม
๒๑ พ.ค. HENG เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 2 ชุด อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% และ 5.50% เปิดจองซื้อ 23-24 และ 27 พ.ค. 67 เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจ
๒๑ พ.ค. กลุ่มบริษัทศรีตรัง ลุยติดตั้ง EV Charger ในโรงงานทั่วประเทศ สนับสนุนพนักงานใช้พลังงานสะอาด ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอกย้ำจุดยืน Green Rubber
๒๑ พ.ค. Bitkub Chain และ The Sandbox ร่วมยกระดับวงการ Metaverse ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒๑ พ.ค. AJA โชว์แกร่ง!! งบโค้งแรกพลิกมีกำไรพุ่งเกือบ 452% ชูกลยุทธ์ปี 67 กระจายลงทุนในธุรกิจหลากหลาย-สร้างฐานการเติบโตยั่งยืน
๒๑ พ.ค. KJL โชว์นวัตกรรมในงาน SUBCON Thailand 2024 เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า
๒๑ พ.ค. ITEL อวดกำไร Q1/67 โต 113% กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท ล่าสุด ก.ล.ต. ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่ง บ.ย่อย BLUE เรียบร้อยแล้ว
๒๑ พ.ค. โอยิกะ ผู้นำด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากสิงคโปร์ ชูนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งขยายธุรกิจตู้สลับแบตเตอรี่สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
๒๑ พ.ค. ดื่มด่ำกับรสชาติของเนื้อโกเบจากโอซาก้า ที่ห้องอาหารฮากิ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
๒๑ พ.ค. W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลก เปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษ ภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส