SCB EIC ระบุ AEC ช่วยเปิดฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในภูมิภาค ธุรกิจควรใช้แก่นความสามารถ (core competency) อย่างเต็มรูปแบบมองโอกาสนอกประเทศมากขึ้น

ศุกร์ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ ๑๕:๒๖
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC (Economic Intelligence Center) ได้ศึกษาผลกระทบจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community (AEC) ในปี 2015 ซึ่ง AEC จะทำให้อาเซียนเป็นที่สนใจและมีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลก แม้อาจจะยังไม่เห็นภาพแบบสหภาพยุโรปที่มุ่งหวังไว้ทันทีในปี 2015 ทั้งนี้ AEC เป็นมากกว่าเพียงเรื่องการจัดทำข้อตกลงลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันซึ่งเสร็จสิ้นและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่ AEC ยังรวมถึงเรื่องการค้าบริการ การลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งยังมีอีกหลายส่วนประกอบที่ต้องทำอีกมาก โดยการศึกษานี้จะให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการที่จะได้รับผลกระทบในระยะอันใกล้ จากการศึกษาพบว่า AEC จะทำให้ธุรกิจร้านค้าปลีกอาหาร บริการบรรจุภัณฑ์ และโรงแรมและรีสอร์ทมีแนวโน้มต้องแข่งขันกับเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาจากการเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นสัดส่วน 70% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่กำหนดสัดส่วนเฉลี่ย 49% และยังอาจส่งผลให้เกิดสมองไหลของแรงงานวิชาชีพไปยังสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่า ในขณะที่ธุรกิจบริการจะมีโอกาสการลงทุนในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียมากขึ้น

ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “AEC จะทำให้อาเซียนเป็นที่สนใจ มีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลกแบบเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) ด้วยตลาดที่มีขนาดประชากรกว่า 580 ล้านคน มากกว่าทั้งยุโรป มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถึงแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับเพียงเกาหลีใต้ แต่เป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันคิดเป็นอันดับสองของโลก อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจริงในปี 2015 อาจจะยังไม่สามารถเทียบเคียงกับรูปแบบและภาพของสหภาพยุโรปที่มุ่งหวังไว้ในทันที เนื่องจากมีปัจจัยความสำเร็จแตกต่างกัน”

ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กล่าวต่อว่า “กลุ่มธุรกิจบริการจะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นจากการเปิดเสรีหลักๆ ใน 2 ส่วน คือ (1) กลุ่มธุรกิจบริการที่มีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นสูงอยู่แล้วในปัจจุบันมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่าจากการเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจร้านค้าปลีกอาหาร บริการบรรจุภัณฑ์ และโรงแรมและรีสอร์ท เพราะหมายความว่าเป็นธุรกิจที่มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนสูงในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะเข้ามามากขึ้นเมื่อมีการขยายเพดาน และ (2) AEC ยังอาจส่งผลให้แรงงานวิชาชีพสำคัญของไทยเลือกไปทำงานในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมากขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนสุทธิที่พิจารณาผลกระทบจากค่าครองชีพที่ไม่เท่ากันด้วยแล้วสูงกว่าทำงานอยู่ในไทยประมาณ 3 เท่า ทั้งนี้ เป็นผลจากการเอื้ออำนวยให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพระหว่างประเทศสมาชิกได้ง่ายขึ้น”

“หากมองในอีกมุมหนึ่งจะพบว่า AEC ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจบริการในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังมีอัตรากำไรของธุรกิจที่สูงกว่าในไทย เช่น ตัวแทนจำหน่ายสินค้า และห้างสรรพสินค้าในสิงคโปร์ บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการด้านซอฟท์แวร์อินเตอร์เน็ตในมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์จากการที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ต้องเปิดเพดานการลงทุนจากนักลงทุนอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริม

นายวิธาน เจริญผล นักวิเคราะห์อาวุโส กล่าวเพิ่มเติมว่า “ธุรกิจโรงพยาบาลซึ่งเป็นอีกจุดแข็งของไทยจะมีโอกาสลงทุนมากขึ้นจากการเปิดเสรี โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ลาวและพม่าซึ่งยังมีความต้องการบริการด้านสุขภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ และการเลือกเจาะบริการความเชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจะเป็นโอกาสที่ดี เพราะเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในอาเซียน ในขณะที่โรงพยาบาลในประเทศมีแนวโน้มไม่ได้รับผลกระทบจากการขยายสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนมากนัก เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลไทยมีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเฉลี่ยเพียง 15% ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดที่อนุญาตในปัจจุบัน”

นางเมธินี จงสฤษดิ์หวัง หัวหน้าฝ่ายวิจัย EIC กล่าวต่อว่า “การใช้แก่นความสามารถ หรือ core compentency อย่างเต็มรูปแบบของธุรกิจไทยจะเป็นอาวุธสำคัญในการขยายและตักตวงโอกาสจากการกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันภายใต้ AEC ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้ทุกธุรกิจสามารถเข้าถึงฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ (critical mass of consumer) ในภูมิภาคได้ และธุรกิจไทยต้องบุกออกไปนอกประเทศมากขึ้น เร่งขยายตลาดในระดับอาเซียนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความพร้อมสำหรับรองรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับใหญ่ขึ้นต่อไป AEC จะก่อให้เกิดกระแสการรวมศูนย์การผลิต การค้าบริการรูปแบบใหม่ๆ (non-tradables to tradables) เช่น บริการจัดงานแต่งงานที่เดิมเน้นเฉพาะลูกค้าในไทยเป็นหลักก็จะมีลูกค้าจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นต้น รวมถึงการกระจายตัวของประชากรอาเซียนซึ่งจะกลายเป็นอีกตลาดในท้องถิ่น (ASEAN expatriate class) ในขณะที่จะมีกระแสตลาดที่น่าจับตามอง ได้แก่ ตลาดจากพฤติกรรมของคนอาเซียน เช่น นิยมท่องเที่ยวภายในภูมิภาค เป็นต้น ตลาดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ และการเติบโตของชนชั้นกลางในกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงตลาดจากการมองหาจุดเด่นของแต่ละประเทศ เช่น จำนวนประชากรมุสลิมในอินโดนีเซียที่มากที่สุดในโลก เป็นต้น”

“การสร้างแบรนด์การบริหารจัดการโรงแรมและการมุ่งเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลเป็นตัวอย่างของการขยายธุรกิจจาก core competency ของไทย โดยใช้จุดเด่นของธุรกิจโรงแรมไทยจับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค และใช้จุดแข็งของธุรกิจผลิตอาหารของไทยที่มีสัดส่วนส่งออกสูงสุดถึง 77% ของอาเซียนจับตลาดมุสลิมขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เป็นต้น” นางเมธินี กล่าวเสริม

“AEC เป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทยทั้งทางด้านตลาดที่ไทยต้องก้าวออกไปนอกประเทศมากขึ้น และด้านการแข่งขันที่จะเป็นกลไกทำให้ธุรกิจปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศที่จะมาตักตวงโอกาสในประเทศได้ แม้ว่าจะเริ่มมีการบังคับใช้อย่างครบถ้วนมากขึ้นในปี 2015 แต่ธุรกิจควรเริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะอย่างไรก็ตาม การมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 ก็เป็นธงที่ตั้งเอาไว้แล้ว” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Insight เรื่อง “ธุรกิจไทยจะก้าวอย่างไรในยุค AEC” สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 Email: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4