FTA กับอุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลสู่ตลาดโลก

อังคาร ๒๒ มีนาคม ๒๐๑๑ ๑๔:๓๙
สศอ.มอบ ทีดีอาร์ไอ ติดตามความตกลงการค้าเสรี (FTA) พบ 6 เดือนแรกภาคส่งออกไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีเป็นมูลค่ากว่า 50,533 ล้านบาท คิดเป็น 3.19% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดส่วนผู้นำเข้าไทยสามารถประหยัดภาษีศุลกากรได้ถึง 26,620 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.72% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากประเทศภาคี FTA

ด้านนายศุรพงศ์ พงศ์เดชขจร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการสัมมนา “FTA กับอุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลสู่ตลาดโลก” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ณ โรงแรม ดิ เอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ว่า จากการที่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้ก่อให้เกิดความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA เพิ่มมากขึ้น ทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี และภูมิภาค นำมาซึ่งโอกาสของตลาดที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นจากการลดกำแพงภาษีระหว่างกัน และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นด้วย การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและไม่สมดุลนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมและมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันและดำรงอยู่ได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

ด้านนางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ติดตามสถานะความคืบหน้า ผลกระทบและการใช้ประโยชน์จาก FTA ต่างๆ ในปัจจุบันที่ประเทศไทยได้ทำร่วมกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้ง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วระยะหนึ่ง ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) 2.ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) 3.ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) 4.ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และ 5.โครงการเก็บเกี่ยวล่วงหน้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) รวมถึงความตกลงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2553 ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และยังได้ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ทำการศึกษากลยุทธ์การจัดทำและพัฒนาสินค้าสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและ ให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาสินค้าสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปัญหามลภาวะ ทั้งทางน้ำ ดิน เสียง อากาศ และภาวะโลกร้อนรวมถึงของเสียจากภาคอุตสาหกรรม โดยการสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค ได้ทราบถึงการใช้ประโยชน์และผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงโอกาสในการปรับตัวเพื่อรองรับกับสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนไปได้อย่างเหมาะสม ทันท่วงที และเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น

นางสุทธินีย์ ยังได้กล่าวถึงผลการศึกษาการใช้ประโยชน์จาก FTA ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 พบว่า ผู้ประกอบการในไทยทั้งภาคส่งออกและภาคนำเข้ายังคงพึ่งพิงการใช้ประโยชน์จาก FTA เดิมเป็นหลัก สำหรับ FTA ใหม่ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายการผลิตหรือใช้วัตถุดิบจากประเทศภาคี มีโอกาสในการใช้ประโยชน์มากขึ้นจากการผ่อนคลายความเข้มงวดของเกณฑ์การพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าพบว่า ยังมีการใช้ประโยชน์ในระดับที่น้อยมาก โดยภาคส่งออกไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA เดิม 5 ฉบับ รวมเป็นมูลค่า 50,533 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.19 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังประเทศภาคี FTA เหล่านี้ โดยประโยชน์ที่ได้รับนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 14,521 ล้านบาท ทั้งนี้ ความตกลงที่ทำให้เกิดการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุดคือ ความตกลง AFTA (34,986 ล้านบาท) ตามมาด้วยความตกลง TAFTA (5,191 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกไทยยังเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้ไม่เต็มที่ 100% กล่าวคือ ผู้ส่งออกยังใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่ 41,391 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละสาขาใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่กว่า 3,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าไทยสามารถประหยัดภาษีศุลกากรได้ 26,620 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.72 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากประเทศภาคี FTA เหล่านี้ โดยประโยชน์ที่ได้รับนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 10,103 ล้านบาท ทั้งนี้ ความตกลงที่ทำให้เกิดการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุดคือ ความตกลง AFTA (14,078 ล้านบาท) ตามมาด้วยความตกลง ACFTA (6,695 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ภาคนำเข้าไทยยังใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่ถึง 15,039 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำเข้าสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละสาขาใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่กว่า 1,000 ล้านบาท

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังออกระเบียบและกฎเกณฑ์มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) เพื่อกีดกันการค้ามากขึ้น โดยประเด็นด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่กล่าวถึงอยู่มาก เช่น การออกระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ซึ่งเริ่มมีตั้งแต่ ปี 2545 ได้แก่ ELV 1 , WEEE 2 , RoHS 3 , Eup4 และ REACH5 รวมถึงการบังคับใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆด้วย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยในฐานะคู่ค้ากับสหภาพยุโรป จะต้องรับทราบข้อมูลและสามารถปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม โดยได้ออกหลักเกณฑ์และเว็บไซต์เพื่อขึ้นทะเบียนรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ได้แก่ ฉลากเขียว (Green Label) , ฉลากคาร์บอน (Carbon Reduction Label) , ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 , ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นต้น ที่ผ่านมา สินค้าไทยได้มีการพัฒนาให้ผ่านกฎเกณฑ์มาตรฐานเพื่อให้ได้รับ Eco Label และสร้างตลาดสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศ และยังวางเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปสู่ Sustainable Industry และขยายวงกว้างการผลิตและบริโภคสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมไปสู่ระดับภูมิภาค ASEAN เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับประโยชน์จาก FTA และก้าวไกลไปสู่ตลาดโลกได้อย่างสูงสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้ภาคเอกชนสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๑ พ.ค. เฮลท์สเคป (Healthscape)' นำร่องส่ง 'MADE BY SILVER' ชวนสัมผัสผลิตภัณฑ์เพื่อไลฟ์สไตล์สำหรับกลุ่มซิลเวอร์เจน 20 พ.ค. - 2 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม
๒๑ พ.ค. HENG เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 2 ชุด อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% และ 5.50% เปิดจองซื้อ 23-24 และ 27 พ.ค. 67 เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจ
๒๑ พ.ค. กลุ่มบริษัทศรีตรัง ลุยติดตั้ง EV Charger ในโรงงานทั่วประเทศ สนับสนุนพนักงานใช้พลังงานสะอาด ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอกย้ำจุดยืน Green Rubber
๒๑ พ.ค. Bitkub Chain และ The Sandbox ร่วมยกระดับวงการ Metaverse ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒๑ พ.ค. AJA โชว์แกร่ง!! งบโค้งแรกพลิกมีกำไรพุ่งเกือบ 452% ชูกลยุทธ์ปี 67 กระจายลงทุนในธุรกิจหลากหลาย-สร้างฐานการเติบโตยั่งยืน
๒๑ พ.ค. KJL โชว์นวัตกรรมในงาน SUBCON Thailand 2024 เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า
๒๑ พ.ค. ITEL อวดกำไร Q1/67 โต 113% กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท ล่าสุด ก.ล.ต. ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่ง บ.ย่อย BLUE เรียบร้อยแล้ว
๒๑ พ.ค. โอยิกะ ผู้นำด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากสิงคโปร์ ชูนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งขยายธุรกิจตู้สลับแบตเตอรี่สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
๒๑ พ.ค. ดื่มด่ำกับรสชาติของเนื้อโกเบจากโอซาก้า ที่ห้องอาหารฮากิ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
๒๑ พ.ค. W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลก เปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษ ภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส